การเมืองขาลง : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

 

ข่าวที่สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่งสำหรับประชาชนอย่างพวกเราก็คือ ข่าวเรื่องประชาชนในจังหวัดภาคใต้เดินทางมาล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการที่รัฐบาลจะสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินจากอินโดนีเซียเป็นเชื้อเพลิง

ที่ประหลาดใจก็คือ ผู้ชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินจากอินโดนีเซียเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่แล้วโดยการเรียกร้องราคายางพารา หลายคนสามารถจำหน้าได้ เพราะเป็นกลุ่มที่สร้างบรรยากาศความวุ่นวาย โดยกองทัพใส่เกียร์ว่างประกาศวางตัวเป็น
กลางระหว่างกองทัพกับรัฐบาล ครั้งนี้ก็คงเหมือนกัน กองทัพวางตัวเป็นกลางระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาล พร้อมๆ กันนั้นรัฐบาลก็ตัดสินใจเลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินจากอินโดนีเซีย แต่เพื่อรักษาหน้าของรัฐบาล รัฐบาลจึงประกาศว่ายังไม่เลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ทั้งที่รัฐบาลได้ประกาศว่าถ่านหินจากอินโดนีเซียจะเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุด สามารถควบคุมไม่ให้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตั้งมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงานจากถ่านหินในเรื่องต่างๆ ได้อีกหลายๆ สาขา หรือที่นักวิชาการทางด้านพลังงานเรียกว่าเหตุผล 4E อันได้แก่ Economy Environment Emission Standard และ Engineering

ประเทศไทยไม่ใช่ไม่เคยมีโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน นอกจากโรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่แม่เมาะแล้ว ยังมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินจากอินโดนีเซียที่มาบตาพุด สปป.ลาวมีโรงไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ 3 โรงที่เหมืองลิกไนต์ เมืองหงสา ห่างจากจังหวัดน่านประมาณ 150 กม. ห่างจากหลวงพระบางประมาณ 60 กม. และไม่มีปัญหามลภาวะแต่อย่างใด

Advertisement

การชุมนุมประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่ จึงเป็นที่น่าสงสัยจากผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนว่าเป็นสัญญาณ “การเมืองขาลง” ของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ แต่เมื่อรัฐบาลยอมยกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ ก็คงอนุมานว่ายังเป็นพวกเดียวกันอยู่ ยังไม่ใช่คนละพวก

ต่อมาก็เกิดกรณีวัดพระธรรมกาย ซึ่งก็คงจะเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองอีกเช่นกัน เพราะไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปกติ เป็นเรื่องของวัดกับรัฐบาลซึ่งไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลต้องทำ สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับลูกศิษย์ลูกหาของวัดพระธรรมกายทั่วประเทศและทั่วโลกรวมทั้งผู้คนที่ศรัทธาเลื่อมใสในวัดแห่งนี้ มิฉะนั้นคงจะไม่ได้รับเงินบริจาคมากมายขนาดนี้ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เคยกวาดล้างปราบปรามขบวนการฝ่าหลุนกง ซึ่งเป็นขบวนการที่ใช้ศาสนานำ เพราะกลัวอำนาจรัฐจะสั่นคลอน หรือไม่ก็ไม่ปรารถนาจะเห็นขบวนการเช่นว่านี้เติบใหญ่ แข่งกับขบวนการของฝ่าย “รัฐ”

แต่อย่างไรก็ตาม ที่น่าประหลาดใจก็คือตำรวจจำนวนมากพร้อมอาวุธกว่า 13 กองร้อย เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ อากาศยานไร้คนขับ รวมทั้งมีทหารปิดล้อมอยู่รอบด้านและประกาศให้พื้นที่วัดเป็นเขตปฏิบัติการพิเศษ ห้ามประชาชนเข้าออก แต่เมื่อตำรวจเข้าค้นวัดอย่างละเอียดก็ไม่สามารถจับกุมตัวหลวงพ่ออดีตเจ้าอาวาสวัดได้ แต่รัฐบาลทหารก็ถูกประณามจากชาวพุทธทั่วโลก ภาพตำรวจทหารบุกโจมตีวัดพุทธศาสนาแพร่กระจายไปทั่วโลกจนเป็นที่แปลกใจกับผู้คนที่ไม่ได้ติดตามข่าว

ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เป็นการทำลายความเชื่อมั่น เป็นการทำลายความขลังของคณะรัฐประหารหรือ คสช.เป็นอย่างมาก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย

วงจรความชั่วร้ายทางการเมืองที่นักวิชาการทางรัฐศาสตร์และทางประวัติศาสตร์ ขนานนามเอาไว้ว่าเป็นวงจรอุบาทว์ของสังคมไทยหรือ “vicious circle” คือ ปฏิวัติ>ร่างรัฐธรรมนูญ>เลือกตั้ง>รัฐบาลจากการเลือกตั้ง>ปฏิวัติ วนเวียนกันเป็นวงจรอุบาทว์อยู่อย่างนั้น ประเทศไทยไม่สามารถออกจากวงจรนี้ได้เลย อายุของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะสั้นกว่ารัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร แต่เมื่อเกิดการชุมนุมจากกลุ่มผู้ชุมนุมชุดเดียวกันกับที่เคยชุมนุมต่อต้านรัฐบาลก่อน เพื่อปูทางไปสู่การทำรัฐประหาร

การที่รัฐบาลทหารยอมแพ้และถอยจากสิ่งที่ผ่าน ครม.มาแล้วและได้ดำเนินการมาอย่างถูกต้องโดยง่าย เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดสำหรับรัฐบาลเผด็จการทหารในการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่น่าเป็นเรื่องแปลก

เหตุการณ์ทั้ง 2 เหตุการณ์ บัดนี้ได้สร้างบรรยากาศที่กลับไปเหมือนบรรยากาศเมื่อก่อนการทำรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง กล่าวคือบรรยากาศที่รัฐบาลอ่อนแอ คนทั่วไปไม่เกรงกลัว ทหารใส่เกียร์ว่าง แม้ว่ายังไม่มีเสียงมาจากทหารว่ายังอยู่หรือไม่อยู่กับรัฐบาล

มีข้อสังเกตอีกอันหนึ่งก็คือ รัฐบาลเผด็จการทหารที่มาจากการทำปฏิวัติรัฐประหาร หัวหน้ารัฐบาลต้องเป็น ผบ.ทบ.ที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ แม้เกษียณอายุราชการไปแล้วก็ต้องพยายามแก้กฎหมายให้สามารถต่ออายุราชการได้ แม้จะมีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์ ดร.ถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยอมให้ พ.ร.บ.ต่ออายุราชการของ ผบ.ทบ.ได้ก็ต่อเมื่อมี “ข้อมูลใหม่” เท่านั้น เมื่อหัวหน้ารัฐบาลเกษียณอายุจากกองทัพแล้วไม่อาจจะอยู่ในตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลได้นาน จะต้องหาทางลงโดยจัดให้มีรัฐธรรมนูญถาวรและจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ครั้งนี้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่รัฐบาลทหารชุดนี้ จะดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยที่พรรคเพื่อไทยไม่ชนะการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่แม้จะทำได้แต่ก็เป็นการเสี่ยง เพราะถ้าเลือกตั้งแล้วพรรคเพื่อไทยชนะ หรือพรรคเพื่อไทยในชื่ออื่นยังชนะการเลือกตั้งอีก ก็ถือว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นการกระทำที่ “เสียของ” อีก เหมือนกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำเมื่อปี 2547 ซึ่งกองทัพคงยอมไม่ได้หากมีการเลือกตั้งแล้วพรรคประชาธิปัตย์ยังแพ้เลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยอีก ลึกๆ แล้วพรรคประชาธิปัตย์คงไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง กลายเป็นพรรคหนีการเลือกตั้ง อยากเข้าร่วมกับรัฐบาลแต่งตั้งมากกว่า เพราะบัดนี้กลายเป็นพรรคที่ปฏิเสธประชาธิปไตยที่เคย “คว่ำบาตร” การเลือกตั้งมาแล้ว ครั้งนี้ก็ยังไม่แน่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเอาอย่างไร จะเอากับทหารหรือจะเอากับฝ่ายประชาธิปไตย

บรรยากาศการเมืองที่เปลี่ยนไปจากการที่เคยกลัวปากกระบอกปืน กลัวการเยือนของรถถังมาที่บ้าน กลัวการอุ้มและการถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเสียแล้ว

ความผิดหวังของคนชั้นกลาง เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่เคยต่อต้านขบวนการ “ทักษิณ” ภาวะทางเศรษฐกิจเลวลง ธุรกิจส่งออกล้มหายตายจากไปทุกเดือน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำมันปาล์ม อ้อยและน้ำตาล หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น ไม่ได้กระทบแต่คน “รากหญ้า” เสื้อแดงเท่านั้น แต่กระทบต่อคนชั้นสูงและคนชั้นกลาง เสื้อเหลืองรวมทั้งพวกสลิ่มด้วย

สถานการณ์เศรษฐกิจที่เลวลงตามวัฏจักร กำลังลามจากภาคเศรษฐกิจบันเทิงสื่อสารไปสู่ภาคส่งออก จากภาคส่งออกก็ลามไปธุรกิจเกษตรกรรม อันได้แก่ กสิกรรมและการประมง ทั้งในทะเลและชายฝั่ง เพราะยุโรปและอเมริกาหาเรื่องจะกีดกันสินค้าจากประเทศที่มิได้มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ออกวีซ่าให้ผู้นำระดับสูงเดินทางไปเจรจาทวิภาคีได้ ไปได้แต่การประชุมขององค์การระหว่างประเทศเท่านั้น เศรษฐกิจจึงเป็นเศรษฐกิจขาลง การปลดคนงานและการลดคนงานของธุรกิจต่างๆ คงจะเริ่มในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานคนไทยที่มีการศึกษาหรือที่เรียกว่าแรงงานมีฝีมือ skilled workers หรือแรงงานที่มีการศึกษา ส่วนแรงงานที่ไม่มีฝีมือหรือ unskilled workers ที่อยู่ในมือของแรงงานต่างชาติก็คงเป็นงานที่คนต่างชาติทำต่อไป เพราะเป็นงานที่คนไทยไม่ยอมทำแล้วแม้ตนจะว่างงานก็ตาม

คนว่างงานของคนไทยในเมืองสมัยก่อนไม่เป็นปัญหา เพราะสามารถกลับไปบ้านเพื่อทำการเกษตรกับบิดามารดาที่บ้านได้ แต่เดี๋ยวนี้แรงงานที่ออกจากภาคเกษตรมาทำงานในเมืองนั้น ได้ตัดขาดจากครอบครัวในภาคเกษตรเสียแล้ว เพราะเป็นคนละรุ่น พ่อแม่ที่อยู่ในภาคเกษตรได้ล้มหายตายจากไปแล้ว ภาคเกษตรก็ใช้เครื่องจักรเกือบหมดแล้ว ตั้งแต่การไถ หว่าน ปักดำ เกี่ยว สี ทั้งหมดทำด้วยเครื่องจักรทั้งสิ้น เพราะราคาถูกกว่าการใช้แรงงาน แม้จะเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม ชาวนาที่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอย่างเมื่อ 30-50 ปีก่อนไม่มีให้เห็นอย่างที่สื่อมวลชนรุ่นใหม่จินตนาการแล้ว

แต่ถ้าทางการออกไปสำรวจก็จะได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อที่ถือครอง ผลผลิตต่อไร่ ราคาและอื่นๆ ยิ่งถ้าเป็นรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือข้าราชการก็จะยิ่งไม่ตรงความจริงหนักขึ้นอีก เพราะทุกอย่างต้องการงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งนั้น และถ้าไม่ได้ก็จะเป็นตัวเร่งให้การเมืองเป็นขาลงเร็วยิ่งขึ้น

บรรยากาศการชุมนุมประท้วงต่อไปนี้จะมีบ่อยขึ้น ข่าวทหารเกียร์ว่าง ตำรวจเกียร์ว่าง ทหารขอเป็น
กลาง จะเป็นเรื่องที่ได้ยินบ่อยขึ้น ตามวัฏจักรอุบาทว์ของการเมืองไทย เผด็จการไม่มีปืนก็จบกันเท่านั้น

คราวนี้วงจรอาจจะสั้นกว่าเก่าก็ได้

 

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image