ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
---|
ภาพนักมวยหญิงมุมน้ำเงินคุกเข่าร่ำไห้บนพื้นสังเวียน นักมวยฝ่ายแดงผู้ชนะนั่งยิ้มชูกำปั้นบนเก้าอี้หน้าตาคล้ายชายฉกรรจ์ ประกอบรายละเอียดของข่าวในเบื้องแรก คือ นักชกหญิงมุมน้ำเงินชาวอิตาลี แองเจลา คารินี นั้นขอยอมแพ้หลังจากที่ชกยกแรกผ่านไปเพียง 46 วินาที เนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่จมูกจากกำปั้นของ อิมาเน เคลิฟ จากแอลจีเรีย นักชกที่ไม่ผ่านการตรวจเพศ
ภาพและเนื้อหาของข่าวเร้าอารมณ์กระตุ้นความรู้สึกของผู้คนทั่วโลกให้รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมบนสังเวียนการแข่งขันชกมวยในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ประกอบกับเรื่องราวปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมาเกี่ยวกับวิวาทะเรื่องการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาของนักกีฬาข้ามเพศ ชวนให้คนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของนักกีฬาข้ามเพศที่มีเพศกำเนิดเป็น “ชาย” ขึ้นมาชกกับนักมวยที่มีเพศกำเนิดเป็น “หญิง” และเอาชนะไปได้ด้วยความได้เปรียบของสรีระโดยธรรมชาติ
เจ.เค. โรวลิ่ง นักประพันธ์ชื่อดังผู้เขียนนวนิยายเยาวชนซีรีส์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ผู้มีจุดยืนในการไม่ยอมรับเรื่องการ “ข้ามเพศ” (Transgender) ได้ออกมาทวีตข้อความทันทีว่า
“นักมวยหญิงมีทุกอย่างที่นักกีฬามี เธอฝึกซ้อมมา เพราะคุณยอมให้ผู้ชายขึ้นเวทีกับเธอเพื่อแย่งชิงชัยชนะไป คุณช่างน่าอับอาย ‘การปกป้อง’ ของคุณเป็นเรื่องตลก และ #Paris24 จะต้องแปดเปื้อนไปตลอดกาลจากความอยุติธรรมอันโหดร้ายที่ทำกับคารินี”
อย่างไรก็ตาม เรื่องมันก็ซับซ้อนกว่านั้น อย่างแรก เรื่องของการ “ไม่ผ่านตรวจเพศ” ของนักมวยมุมแดงจากแอลจีเรียนั้น คือการ “ไม่ผ่านตรวจเพศ” ในรายการที่จัดโดยสมาคมมวยสากลนานาชาติ (IBA) แต่การแข่งขันคราวนี้จัดขึ้นโดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ซึ่งริบสิทธิการจัดแข่งขันมวยสากลในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกไปจาก IBA เนื่องจากปัญหาความไม่โปร่งใสหลายอย่าง (เรื่องนี้ถ้าคนไทยยังไม่ลืมกัน นักมวยชาวไทย แก้ว พงษ์ประยูร เคยแพ้นักมวยชาวจีนไปแบบค้านสายตาชาวโลกในกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอนในการแข่งขันที่จัดโดย IBA -อันนี้บอกเผื่อไว้สำหรับใครที่คิดว่า IBA จะมีความยุติธรรมโปร่งใสกว่า IOC)
โดย IOC อ้างว่า การตรวจพิสูจน์เพศนักมวยชาวอัลจีเรียของ IBA นั้นไม่มีมาตรฐานและไม่มีความเป็นธรรม และนักมวยหญิงคนดังกล่าวก็เคยลงแข่งในฐานะนักมวยหญิงมาตลอด เคยลงแข่งโอลิมปิกและเคยแพ้ให้นักมวยหญิงคนอื่นๆ มาด้วย นอกจากนักมวยหญิงชาวอัลจีเรียที่เป็นปัญหาแล้ว ก็ยังมีนักมวยหญิงชาวไต้หวันอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีข้อกังขาในลักษณะเดียวกัน
มีความพยายามอธิบายว่านักมวยหญิงชาวอัลจีเรียและไต้หวันนั้น เกิดมาโดยมีอวัยวะเพศหญิง และถูกบันทึกทะเบียนราษฎร เมื่อแรกเกิดว่าเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่ต้น แต่เพราะสภาวะเพศกำกวม (Intersex) ของพวกเธอเป็นเพราะมีปริมาณฮอร์โมนเพศชายสูงเกินไปจนมีโครโมโซมในรูปแบบ YXX ทำให้มีรูปร่างและกล้ามเนื้อเหมือนผู้ชาย แต่ไม่ใช่กรณีของคนข้ามเพศโดยสมัครใจ หรือ Transgender
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงนี้ก็ไม่ได้รับการยืนยันเป็นทางการ เพราะทาง IBA ก็ไม่ได้เปิดเผยว่าได้ตรวจสอบเพศของนักมวยทั้งสองคนอย่างไร รวมถึง IOC เองก็ไม่ได้ให้รายละเอียดที่กล่าวหาว่าวิธีการของ IBA ขาดธรรมาภิบาลและไม่เป็นธรรมนั้นเนื่องจากใช้วิธีการใด ทั้งนี้ น่าจะเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในทางเพศอันเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของนักมวยทั้งสองคน
สำคัญที่สุดเราต้องไม่ลืมว่า เรื่องนี้เป็น “การเมือง” ระหว่างองค์กรกีฬาทั้งสององค์กร ยิ่งเมื่อ IBA ประกาศมอบ “เงินรางวัลปลอบขวัญ” ให้คารินี อันแสดงให้เห็นความชัดเจนถึงเจตนาในการเล่นการเมืองระหว่างองค์กร
เมื่อเรื่องพลิกออกมาแบบนี้ ฝ่ายที่มองว่านักมวยอัลจีเรีย “โกง” ก็ยังไม่กลับคำวินิจฉัย หรือเปลี่ยนความรู้สึกแต่อย่างใด ดูจาก เจ.เค. โรวลิ่ง ที่ทวีตหลังจากข้อเท็จจริงประการหลังปรากฏออกมาก็ได้
“คนที่มีสภาวะ DSD (ความผิดปกติของพัฒนาการระบบอวัยวะเพศ) ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่พวกเขาสามารถเลือกที่จะไม่โกงได้ พวกเขาสามารถเลือกที่จะไม่รับเหรียญจากผู้หญิงได้ พวกเขาสามารถเลือกที่จะไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้”
เช่นเดียวกับความเห็นที่มองว่า ถึงอย่างไรนักมวยหญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงจนมีกล้ามเนื้อในระดับเดียวกับผู้ชายนั้นมีความได้เปรียบนักมวยหญิงที่มีเพศกำเนิดและมีฮอร์โมนเพศหญิงในระดับปกติมากเกินไป และความแตกต่างนั้นอยู่ในระดับที่แทบสู้กันไม่ได้เลย ในบางกรณีก็เป็นอันตรายถึงขนาดทำให้บาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิตด้วยซ้ำ การที่ผู้หญิงที่มีความผิดปกติในเชิงได้เปรียบลักษณะนี้เลือกที่จะมาชกมวย (หรือสมาคมมวยของประเทศนั้นเลือกให้มาแข่งระดับโลก) ก็ไม่ต่างจากการ “ตั้งใจที่จะโกง” ด้วยความผิดปกติของฮอร์โมนเหมือนได้ฉีดสารกระตุ้นตามธรรมชาติให้ดีๆ นี่เอง
ในทางหนึ่งก็เข้าใจได้เช่นกันว่า สำหรับผู้ที่ต้องแข่งขันต่อสู้กับผู้ที่มีความได้เปรียบเช่นนั้นจะรู้สึกว่าสิ้นหวังขนาดไหน เพราะมันไม่ใช่ว่าตัวเองจะเตรียมตัวฝึกซ้อมร่างกาย หรือทักษะมาไม่เพียงพอ แต่มันเป็นระดับที่ไม่ว่าจะซ้อมมาดี หรือเตรียมตัวมาอย่างไรก็ไม่สามารถเอาชนะขีดจำกัดตามธรรมชาตินั้นได้ ความสิ้นหวังที่ไม่อาจเอาชนะกำแพงธรรมชาตินั้นได้แต่ต้องมาต่อสู้ด้วย จะรู้สึกว่านี่คือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมก็เข้าใจได้
หากในอีกแง่หนึ่ง ถ้ามองว่า การใช้ความได้เปรียบทางฮอร์โมนเพศนี้เป็นการ “โกง” แล้ว กรณีความได้เปรียบทางกายภาพจากพันธุกรรมในรูปแบบอื่นจะถือว่าโกงด้วยหรือไม่ ? การถูกลอตเตอรี่ทาง DNA อื่นๆ เช่น บางคนเกิดมามีกล้ามเนื้อแข็งแกร่ง หรือบางคนเกิดมาสูงแบบผ่าเหล่าเกิน 2 เมตร กรณีของมนุษย์ที่ได้เปรียบทางพันธุกรรมเช่นนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งข้อได้เปรียบทางกายภาพเหล่านี้มนุษย์ที่มีพันธุกรรมปกติที่ฝึกซ้อมมาระดับเดียวกันก็แทบสิ้นหวังในการเอาชนะ หรือแม้แต่เทียบเคียงตีเสมอได้เหมือนกัน แบบนี้ถือเป็นการโกง หรือพวกเขาไม่สมควรเล่นกีฬาแข่งกับมนุษย์ปกติธรรมดาหรือไม่
แม้แต่กรณีนักมวยหญิงเคลิฟเองก็ปรากฏว่ามีนักมวยหญิงที่เคยชกกับเธอ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ออกมากล่าวให้สัมภาษณ์ในทางปกป้องเธอเช่นกันว่า แม้เธอจะแข็งแกร่งผิดกว่าผู้หญิงทั่วไป แต่ก็ไม่ถึงกับสิ้นหวัง หรือไม่มีทางเอาชนะได้เลยเสียเมื่อไร เพราะเคลิฟเองก็เคยแพ้ให้แก่ตัวเธอผู้ให้สัมภาษณ์ หรือถึงรายที่แพ้ก็ยอมรับว่าชัยชนะของเธอเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
แม้แต่นักมวยสาวชาวไทย จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง ที่จะมีโปรแกรมต้องชิงเหรียญเงินกับเคลิฟในวันนี้ (7 สิงหาคม 2567 เวลาตีสาม ป่านนี้น่าจะทราบผลกันแล้ว) ก็ไม่คิดว่าเธอจะแพ้เช่นกัน
น่าสนใจว่า ทำไมเรื่องของนักมวยหญิงที่มีปัญหาความกำกวมทางเพศนี้ถึงเป็นดราม่าในระดับโลก และผู้คนจำนวนหนึ่งเกินครึ่งถึงมองว่าเป็นความไม่เป็นธรรม หรือเป็นเรื่องของ “การโกง” ทั้งๆ ที่มีมุมให้พอจะ “เห็นใจ” หรืออย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่น่าจะ “เข้าใจได้” อยู่พอสมควร ถ้ามองว่า นี่เป็นความได้เปรียบทางพันธุกรรมที่ไม่ใช่เรื่องที่เธอจงใจสร้างขึ้นเพื่อเอาเปรียบคู่แข่ง
เรื่องนี้ ถ้าเราย้อนกลับไปสู่วัตถุประสงค์ของการจำกัด “รุ่น” และ “เพศ” ของกีฬาหลายประเภทนั้น เพราะการแข่งขันกีฬา สิ่งที่เราต้องการวัด คือ ทักษะความสามารถ ไหวพริบ สภาพร่างกาย และการฝึกซ้อมเตรียมตัว หรือการรวมกันเป็นทีมของนักกีฬา แต่การวัดนั้นจะไม่สามารถเป็นไปได้เลย หากสภาวะทางกายภาพของนักกีฬานั้นส่งผลอย่างมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อผลการแข่งขัน
โดยสภาวะทางกายภาพที่สำคัญที่สุด คือ “เพศกำเนิด” ของบุคคลซึ่งควบคุมด้วยโครโมโซม X และ Y ที่จะส่งผลต่อการพัฒนากระดูกและกล้ามเนื้อที่ต่างกัน โดย “ในทางวิทยาศาสตร์” ร่างกายของผู้มีกำเนิดเป็นชายนั้นมีกล้ามเนื้อและกระดูกที่แข็งแกร่งกว่าผู้มีกำเนิดเป็นหญิงอย่างมาก ถ้าผู้ที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกัน แรงปะทะของผู้มีกำเนิดเป็นชายจะสูงกว่าผู้มีกำเนิดเป็นหญิงได้ตั้งแต่ 2 ถึง 3 เท่า ทำให้กีฬาที่วัดกันด้วยแรงและความเร็วจึงต้องมีการจำกัด “เพศ” เพราะหาไม่แล้ว ก็แทบไม่จำเป็นต้องแข่งอะไร ความได้เปรียบทางเพศเพราะความแตกต่างทางสรีระ ซึ่งเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ จะมากลบทับจนแทบไม่อาจชี้วัดทักษะความสามารถ ไหวพริบ ความมุมานะฝึกซ้อมเตรียมตัว ฯลฯ ใดๆ ได้เลย
ปัญหาเป็นเพราะในระยะหลัง ในยุคที่มีการยอมรับเรื่องสิทธิของบุคคลข้ามเพศที่พยายามขยายขอบเขตเข้ามาในทุกวงการแม้แต่ในวงการกีฬา ก็มีการเรียกร้องสิทธิให้นักกีฬาข้ามเพศลงแข่งขันกับนักกีฬาที่มีเพศกำเนิดเดิมได้ เช่น กรณีของลีอา โธมัส นักว่ายน้ำข้ามเพศชายเป็นหญิง ลงแข่งกับนักว่ายน้ำที่กำเนิดเป็นหญิงและชนะได้ในการแข่งขันกีฬาวิทยาลัยระดับชาติของสหรัฐ ซึ่งต่อมากลายเป็นกรณีจุดชนวนให้สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (FINA) ต้องลงมติห้ามนักกีฬาข้ามเพศลงแข่งขันในรายการหญิงระดับสูง รวมถึงกำหนดเกณฑ์ว่า การ “ข้ามเพศ” ในระดับใดที่จะอนุญาตให้เข้าร่วมรายการแข่งขันว่ายน้ำบางรายการได้
นอกจากนี้ ก็มีปัญหาความไม่ชอบมาพากลในวงการกีฬาที่จำกัดเพศอีกหลายกรณี ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องของนักกีฬาข้ามเพศโดยตรง แต่เล็งเห็นได้ว่าน่าจะเป็นการอาศัยข้อแตกต่างด้านสรีระทางเพศมาเอาเปรียบกันในเชิงกีฬาโดยอาศัยความคลุมเครือในการตรวจพิสูจน์ทางเพศ เช่น กรณีของนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงชาวเวียดนามผู้หนึ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะเป็นเพศชายโดยกำเนิด แต่อาศัยว่ามีหลักฐานทางทะเบียนเป็นเพศหญิงเท่านั้น ซึ่ง “เธอ” หรือ “เขา” ไม่เคยเข้าร่วมลงแข่งขันในการรายการที่มีกติกากำหนดว่าจะต้องมีการตรวจเพศไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่งเลย
ข้อสังเกตที่น่าคิดเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาเรื่องการ “ข้ามเพศ” หรือ “เพศกำกวม” ในทางกีฬา อาจจะพูดได้ว่าพบเฉพาะกับกรณีของปัญหาของผู้มีเพศกำเนิดเป็นชายข้ามเพศเป็นหญิง หรือมีกรณีหญิงเพศกำกวมเป็นชาย คือพูดง่ายๆ คือมีลักษณะทางกายภาพอย่าง “ชาย” แต่มาแข่งกีฬากับผู้มี “เพศกำเนิด” มีกายภาพเป็น “หญิง” ทั้งสิ้น แทบไม่ปรากฏ (หรืออย่างน้อยก็ยังนึกไม่ออก) ว่ามีกรณีไหนหรือไม่ ที่คน “เพศกำเนิดเป็นหญิง” ข้ามเพศเป็น “ชาย” จะขอเข้าร่วมแข่งขันกับผู้มีเพศกำเนิดเป็นชายเลย คือถ้ามีกรณีคนข้ามเพศหญิงเป็นชายเป็นนักกรีฑา แต่ก็ยังได้เข้าร่วมในฐานะของนักกีฬาหญิง ซึ่งก็ถูกตัดสิทธิเนื่องจากปริมาณฮอร์โมนเพศชายสูงเกินไป แต่กรณีดังกล่าวก็เป็นกรณีที่จงใจเทกฮอร์โมน แตกต่างจากกรณีนักมวยหญิงอัลจีเรีย เคลิฟ ที่เป็นกรณีความผิดปกติโดยกำเนิด
“กีฬา” ไม่ว่าจะระดับอาชีพหรือสมัครเล่นในโลกยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นการเมืองระหว่างองค์กรไปจนถึงระดับประเทศชาติไปยันทวีป การมองอะไรเฉพาะมุมเรื่อง “สิทธิความเท่าเทียมทางเพศสภาพ” “ความท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์” หรือ “ศักดิ์ศรีของนักกีฬา” เพียงสองหรือสามมิตินั้นคงเป็นมุมมองที่ไม่สู้จะรอบคอบรอบด้านเท่าใดนัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : แม่ค้าทองออนไลน์ ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางความรู้เท่าทัน (ซึ่งทำให้เราต้องขอบคุณที่ประเทศนี้ยังมี‘พี่หน่วง’)
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ความทะเยอทะยาน ความหวัง ของ ‘ตาคลี เจเนซิส’
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : การ ‘ตื่นรู้’ และ ‘ความหลากหลาย’ ที่ล้มเหลว
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เรายอมรับการถูกโบยตีโดยสมัครใจเพื่อชัยชนะหรือความสำเร็จได้แค่ไหน?