ไทยพบพม่า : ผู้หญิง (อื่นๆ) ในโลกการเมืองแบบพม่า (ตอนจบ) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนกล่าวถึงนักเขียนสตรีพม่าหลายต่อหลายคน โดยเน้นว่าสถานะของผู้หญิงในสังคมพม่าตั้งแต่อดีตมาจวบจนปัจจุบันมีความพิเศษ หากแต่เป็นความพิเศษที่ยอกย้อน เพราะพวกเธอมิได้เรียกร้องสิทธิใดๆ ให้กับผู้หญิง มีเพียงเสรีภาพของชาติหรือการเรียกร้องเพื่อเอกราชจากพันธนาการของเผด็จการเท่านั้นเป็นสิ่งที่ทั้งบุรุษและสตรีพม่าปรารถนามาหลายสิบปี

อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันมีสตรีพม่าหลายคนที่เข้าไปมีบทบาทในการเมืองระดับชาติ นอกจาก ด่อ ออง ซาน ซูจี ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ และเป็นวีรสตรีที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสายตาคนพม่า ยังมีสตรีอีกหลายคนที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังการเมืองพม่าในยุค “ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน” นี้ ในตอนนี้จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับหญิงแกร่งอีก 2 คน ที่ฉีกออกจากบทบาทการเป็น “เมีย” และ “แม่” ตามขนบแบบพม่า คนแรกคือ ด่อ ซุ ซุ ลวิน (Daw Su Su Lwin) ภริยาของประธานาธิบดี ถิ่น จอ และเป็นสตรีหมายเลข 1 ของพม่าในปัจจุบัน และ ด่อ ตัน ตัน นุ (Daw Than Than Nu) เลขาธิการของพรรค Democratic Party ซึ่งเป็นบุตรสาวคนสุดท้องของอู นุ อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ

ด่อ ตัน ตัน นุ (ภาพจากเฟซบุ๊ก U Nu Daw Mya Yi Foundation)
ด่อ ตัน ตัน นุ
(ภาพจากเฟซบุ๊ก U Nu Daw Mya Yi Foundation)

ก่อนการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี ถิ่น จอ ด่อ ซุ ซุ ลวิน เป็นที่รู้จักในฐานะบุตรสาวของ อู ลวิน หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดี และเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของนายพลเน วิน แต่เกิดผิดใจกับฝ่ายหลังจนต้องถูกบังคับให้เกษียณอายุตัวเอง นอกจากบทบาทของการเป็นบุตรสาวของอู ลวิน แล้ว ด่อ ซุ ซุ ลวิน ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แม้ในความเป็นจริงเธอจะเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งที่ครบเครื่อง ตั้งแต่เรียนจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา (ด้านการศึกษา) คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษาพม่ามายาวนาน และเป็นประธานคณะกรรมการด้านการศึกษาของพรรคเอ็นแอลดี นอกจากนี้ ก่อนสามีของเธอรับตำแหน่งประธานาธิบดี เธอยังเป็นประธานคณะกรรมการด้านกิจการระหว่างประเทศของสภาล่างด้วย

ความ “ครบเครื่อง” ของด่อ ซุ ซุ ลวิน ทำให้เธอมีพื้นที่ในพรรคเอ็นแอลดี และนำมาสู่เรื่องซุบซิบในแวดวงการเมืองว่าเธอไม่ลงรอยกับด่อ ออง ซาน ซูจี เนื่องจากฝ่ายหลัง (ที่หลายคนเรียกว่า “ซุ ซุ จี” เพื่อให้พ้องกับ “ซุ ซุ ลวิน”) เริ่มตาร้อนผ่าวเพราะไม่พอใจบทบาทของด่อ ซุ ซุ ลวิน ที่เจิดจรัสแสงมากขึ้นในพรรคและในการเมืองระดับชาติ เรื่องซุบซิบนี้ยังสอดคล้องกับข่าวลือจากเนย์ปยีด่อว่าพรรคเอ็นแอลดีแตกออกเป็นหลายก๊กหลายเหล่าในปัจจุบัน ก๊กหนึ่งคือฝ่ายของ “ซุ ซุ จี” ที่มีผู้สนับสนุนหลักคือ อู วิน เถ่ง (U Win Htein) โฆษกของพรรค และเป็นผู้ที่ใกล้ชิดด่อซุมากกว่าใครๆ ในพรรค และอีกก๊กหนึ่ง คือประธานาธิบดี ถิ่น จอ และสตรีหมายเลขหนึ่ง แน่นอนว่าเสียงเชียร์ก๊กแรกกึกก้อง และย่อมผลักก๊กที่สอง (และก๊กอื่นๆ ในพรรค) ให้เป็นบุคคลชายขอบในทันที เมื่อมีงานมงคลสมรสของบุตรีของอู วิน เถ่ง ก็ไม่ปรากฏแม้เงาของประธานาธิบดีและสตรีหมายเลขหนึ่งแต่ประการใด เราคงต้องเฝ้าดูการเมืองพม่าไปอีกยาว ๆ ว่าแรงกระเพื่อมภายในพรรคนี้จะส่งผลต่อการเมืองระดับชาติและกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง

Advertisement
ด่อ ซุ ซุ ลวิน กับประธานาธิบดี ถิ่น จอ ถ่ายระหว่างไปเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ, สิงหาคม 2016
ด่อ ซุ ซุ ลวิน กับประธานาธิบดี ถิ่น จอ ถ่ายระหว่างไปเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ, สิงหาคม 2016

แม้พรรคเอ็นแอลดีจะเป็นพรรคใหญ่ และกุมเสียงส่วนใหญ่ไว้ แต่พรรคก็มีแรงกดดันมาจากหลายส่วน ประชาชนทั้งประเทศตั้งความหวังกับพรรคไว้สูง หรือเรียกได้ว่าฝากหัวใจใส่กล่องให้กับเอ็นแอลดีไปแล้วก็ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน ในพม่าก็ยังมีพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ ทั้งที่เป็นพรรคของชนชั้นกลางพม่าเอง หรือพรรคของชนกลุ่มน้อย ในกรณีของพรรคกลุ่มหลัง มีฐานเสียงและมีอิทธิพลในพื้นที่ของตนเองอย่างเด่นชัด ยกตัวอย่างเช่น พรรคเอสเอ็นแอลดี หรือพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาวฉาน (Shan Nationalities League for Democracy) แต่ในการเลือกตั้งครั้งหลังสุดในปลายปี 2015 ก็จะเห็นได้ว่าพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเอสเอ็นแอลดีลดบทบาทลงไป กลุ่มชาติพันธุ์หันไปเทคะแนนให้กับพรรคเอ็นแอลดีเพิ่มขึ้น นอกจากพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ยังมีพรรคเล็กๆ อื่นๆ ที่จะขอนำมากล่าวถึงในวันนี้คือพรรค Democratic Party (Myanmar) ที่มีอู ตุ้ เวย (U Thu Wai) เป็นหัวหน้าพรรค และมีด่อ ตัน ตัน นุ เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก และมีเลขาธิการพรรคอีก 2 คน ซึ่งเป็นสตรีทั้งหมด ได้แก่ ด่อ โช โช จ่อ เญง (Daw Cho Cho Kyaw Nyein) และ ด่อ เน ยี บา ส่วย (Daw Nay Yee Ba Swe)

เมื่อเห็นรายนามของเลขาธิการทั้ง 3 คน คนที่เคยอ่านประวัติศาสตร์พม่ายุคหลังเอกราชคงจะร้องอ๋อ เพราะทั้ง อู นุ, อู จ่อ เญง และ อู บา ส่วย บิดาของสตรีทั้ง 3 ท่านนี้ล้วนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพรรค AFPFL ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมและพรรครัฐบาลของพม่าภายหลังนายพลออง ซาน ถึงแก่อสัญกรรม

ผู้เขียนมีโอกาสได้พบปะกับ “อ้านตี้ ตัน ตัน” หรือ ด่อ ตัน ตัน นุ เมื่อต้นเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด่อ ตัน ตัน นุ หัวเราะออกมาเบาๆ เมื่อผู้เขียนถามว่าพรรคของเธอคือการฟื้นคืนชีพของพรรคชาตินิยม AFPFL ใช่หรือไม่ เธอตอบด้วยน้ำเสียงเรียบง่ายว่า “ไม่ใช่” เพราะปรัชญาของพรรค Democratic Party ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การปะทะระหว่างนักศึกษาและรัฐบาลในปี 1988 ของเธอคือการนำเสนอทางเลือกให้กับคนพม่า ผู้ที่รักประชาธิปไตยในพม่าไม่จำเป็นต้องศรัทธาในพรรคเอ็นแอลดีและหัวหน้าพรรคอย่างด่อ ซุ ก็ได้ เธอกล่าว นอกจากนี้ เธอยังมองว่าพรรคขนาดใหญ่และมีเสียงสนับสนุนล้นหลามอย่างเอ็นแอลดียังทำงานลำบาก เพราะมีอุปสรรคหลายด้าน ต่อข้อสงสัยของผู้เขียนว่าพรรคของด่อ ตัน ตัน นุ จะประสบความสำเร็จในเวทีการเมืองระดับชาติได้อย่างไร ในเมื่อผู้บริหารพรรคทั้งหมดเป็น “ผู้อาวุโส” ที่อายุอานามก็เกือบ 70 ถึง 80 กว่าเข้าไปแล้ว เธอตอบด้วยเสียงเรียบง่ายเช่นเคยว่าพรรคของเธอไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมา เพียงแต่ขอให้ได้ทำให้สิ่งที่เธอและบิดาของเธอได้วางรากฐานไว้ให้พม่า คือการสร้างประชาธิปไตย ความโปร่งใส และการสนับสนุนความเท่าเทียมกันของผู้คนทุกกลุ่มในพม่า ก็เพียงพอแล้วสำหรับเธอ

Advertisement

ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคของด่อ ตัน ตัน นุ ได้รับที่นั่งในสภาเพียง 1 ที่นั่ง จากผู้สมัครทั้งสิ้น 52 คนที่พรรคส่งไป แต่การมีผู้แทนของตนเพียง 1 คนในสภาผู้แทนที่เนย์ปวีด่อไม่ใช่ปัญหาสำหรับด่อ ตัน ตัน นุ เพราะสำหรับเธอ การแสดงเจตจำนงทางประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็นกว่า ในการเข้าพบด่อ ตัน ตัน นุ ทั้ง 2 ครั้ง เธอเน้นย้ำกับผู้เขียนว่าเธอต้องการรักษาสปิริตทางการเมืองแบบที่บิดาของเธอเคยทำ และเธอจะทำทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการในทุกรูปแบบ เพราะทั้งบิดาของเธอ ตัวเธอ คนในครอบครัวของเธอ และชาวพม่าทั้งหมดทั้งผองต้องทนทุรนทุรายกับระบอบเผด็จการทหารมาหลายสิบปี ตัวเธอนั้นหลังตามบิดาเพื่อมาลี้ภัยในประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ.1969-1974 (พ.ศ.2512-2517) ก็ระหกระเหินอยู่ที่อินเดีย (เริ่มจากกัลกัตตา โบพาล และนิวเดลี) อู นุ และภริยา ด่อ มยะ ยี เดินทางกลับพม่าในปี 1980 เมื่อทางการ SLORC อนุญาตให้กลับได้ ส่วนด่อ ตัน ตัน นุ และสามี ที่ลงหลักปักฐานที่นิวเดลีมาตั้งแต่ปี 1980 เดินทางกลับพม่าในปี 2003 เมื่อรัฐบาลพม่าประกาศแผนการ 7 ขั้นตอนเพื่อนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย เธอกล่าวว่าเธอตั้งใจเดินทางกลับพม่าเมื่อมีโอกาส เพราะเป้าหมายของเธอในช่วงบั้นปลายคือการทำงานสาธารณกุศลเพื่ออุทิศให้กับบิดาของเธอ และเพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับชาวพม่าอีกจำนวนมากที่ยังยากจนและขาดแคลนปัจจัยในการดำเนินชีวิต

บทบาทของผู้หญิงในการเมืองพม่ามีหลากหลาย มีสีสันตั้งแต่สีสันสดใสไปจนถึงสีเทาๆ ในถ่ายหนึ่งผู้หญิงพม่ามีเสรีภาพทางความคิด และไม่ได้มีสถานะที่ด้อยต่ำกว่าผู้ชาย แต่ในอีกถ่ายหนึ่งสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงพม่าที่มีอยู่กลับถูกกดทับไว้ด้วยระบอบเผด็จการที่ฝังรากลึกในโลกการเมืองแบบพม่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่านับแต่นี้เป็นต้นไปทั้งผู้หญิงและผู้ชายพม่าจะไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมของใครหรือรูปแบบใดอีก

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image