ผ้าเหลืองกับการเมืองและสังคมไทย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องระหว่างศาสนากับการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองไทย และในแง่ของงานทางรัฐศาสตร์ไทยแล้วในอดีตนั้นเรื่องราวของการศึกษาเรื่องพุทธศาสนากับการเมืองนั้นก็เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากมาก่อน

อย่างเมื่อสักยี่สิบกว่าปีที่แล้ว งานของศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ ก็ถือเป็นงานมาตรฐานที่เณรน้อยทางรัฐศาสตร์อย่างพวกเราต้องเคยผ่านตามาบ้าง หรือถ้าจะตามติดให้ลึกกว่านั้นก็คงจะต้องอ่านงานมานุษยวิทยาของ แสตนลี่ย์ ทัมบายย่าห์ และชาร์ล เอฟ คาย ที่ศึกษาอิทธิพลของศาสนาพุทธกับสังคมไทย หรืออาจจะสัมผัสงานจากนักประวัติศาสตร์สายญี่ปุ่นอย่างอาจารย์โยนิโอะ อิชิอิ ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับวัดในสังคมอดีต เป็นต้น

จะว่าไปแล้วกลิ่นอายของงานในยุคคลาสสิกเช่นนี้ก็มีความเชื่อมโยงไม่มากก็น้อยกับงานรุ่นใหม่ๆ เช่นงานประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองในตอนต้นรัตนโกสินทร์ของศาสตราจารย์ ดร.สายชล สัตยานุรักษ์ หรือหนังสือที่ถูกห้ามจำหน่ายในบ้านเราเล่มหนึ่งที่เขียนโดยพอล แฮนลี่ย์ เป็นต้น โดยเฉพาะในมิติเรื่องบทบาทของศาสนาพุทธกับการสร้างความชอบธรรมในการปกครองของผู้ปกครอง

ในฐานะที่ผมไม่ได้ลึกซึ้งอะไรกับเรื่องนี้มากนัก แต่คิดว่าอาจจะมีหลายเรื่องที่ควรพิจารณา ก็เลยอยากจะขอไล่เรียงประเด็นที่คิดว่าควรบันทึกเอาไว้ในช่วงนี้ดังนี้

Advertisement

1.ห้วงขณะแรกที่ผมสัมผัสกับความขัดแย้งของคณะสงฆ์กับหลายภาคส่วน ซึ่งอธิบายได้ยาก เพราะมีความขัดแย้งกันเอง มีความขัดแย้งกับฆราวาส และมีความตึงเครียดกับทหารที่ทำหน้าที่ผู้ปกครองบ้านเมือง ก็ทำให้ผมคิดว่าความขัดแย้งที่เห็นชัดที่สุด ที่พุทธมณฑล ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันมาฆบูชานั้น จะนำไปสู่อะไรได้บ้าง

ตัวแบบหนึ่งที่ทำให้นึกถึงก็คือประเด็นของบทบาทของสงฆ์ในการเปลี่ยนผ่านสังคม โดยเฉพาะในแง่ของการเรียกร้องประชาธิปไตยที่พม่า ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนจะพบว่าพระสงฆ์ได้เป็นแกนนำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า แต่ในท้ายที่สุดแม้ว่าจะส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อการเมืองในพม่าในชั่วขณะหนึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่งเหตุการณ์ในวันนั้นเมื่อมองในระยะสั้นๆ ก็เต็มไปด้วยความสูญเสียในหมู่สงฆ์เอง

และถ้าขยายความในส่วนนี้อีกสักหน่อย สิ่งที่คนในบ้านเราไม่ค่อยพูดถึงกันในเรื่องของพม่าก็คือ เรื่องของบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ “การตีความศาสนา” และบทบาทของสถาบันทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันสงฆ์ และการตีความพุทธศาสนาที่ไปสอดคล้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการจัดการต่อชนกลุ่มน้อยอย่างโรฮีนจา ซึ่งถูกมองทั้งในแง่ไม่ใช่คนของรัฐพม่า ไม่ใช่ชาวพม่า (แม้แต่ในระดับชนกลุ่มน้อยที่เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางวัฒนธรรม) และไม่ใช่ชาวพุทธพม่า กล่าวคือ ประเด็นเรื่องการเมืองของพม่าเองนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของเผด็จการทหารและการเรียกร้องประชาธิปไตย หรือปัญหาชนกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่เรื่องของการที่ศาสนาถูกนำมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะศาสนานั้นเป็นทั้งภาพลักษณ์ของความสงบ และเป็นทั้งลมใต้ปีกของความรุนแรงในหลายกรณี

สำหรับในกรณีของประเทศไทยนั้น ผมยังไม่คิดว่าเรื่องราวจะบานปลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะแต่ละฝ่ายของความขัดแย้งนั้นน่าจะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ที่พูดเช่นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อไม่มีความขัดแย้งรุนแรงทางกายภาพเกิดขึ้นอีก จะหมายถึงความตึงเครียดนั้นได้หมดลงไปด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง ความเชื่อที่ว่าจะสามารถรักษาสถานการณ์ไม่ให้เกิดการปะทะและปะทุขึ้นมานั้นอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกับการไม่มีความขัดแย้งแตกทางสังคมก็อาจเป็นได้ แต่ความขัดแย้งอาจจะคุกรุ่น และรอวันปะทุที่รุนแรงขึ้นก็อาจเป็นได้

2.ประเด็นที่น่าจะโยงกับประเด็นที่หนึ่งก็คือ สิ่งที่ผมคิดว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้นั้นอาจจะเป็นความขัดแย้งที่มีลักษณะที่ซับซ้อนและแตกต่างไปจากที่เกิดขึ้นกับพม่าอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็คือเรื่องราวของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหมู่ของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพระที่ออกมา โดยเฉพาะในมิติของความรุนแรงทางความคิดที่แสดงออกทางภาษาของคนหลายๆ คนที่เคยร่วมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามของ “คนดี”

ผมไม่อยากจะคิดอยู่ในกรอบของคนดี หรือความดี แต่คำถามที่ทำให้ผมย้อนกลับไปคิดเชื่อมโยงกับเรื่องพม่าก็คือในกรณีที่ความรุนแรงทางกายภาพที่เกิดขึ้นในบ้านเราไม่ได้มีขนาดและความรุนแรงในแบบเดียวกับพม่า หากนับทางกายภาพ แต่ต้องถามว่าในช่วงที่มีความขัดแย้งในพม่า รวมทั้งการล้อมปราบพระสงฆ์นั้น ในพม่าเองได้มีขบวนการสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงทางกายภาพของรัฐต่อพระสงฆ์เหล่านั้นในแบบเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราไหม

หรือถ้าจะคิดอีกอย่างก็คือ เราจะมีท่าทีต่อความรุนแรงทางวาจา หรือทางความคิดที่แฝงไปด้วยความเกลียดชัง ที่ฝ่ายที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงทางกายภาพนั้นมีต่อฝ่ายที่ถูกมองว่าไม่ถูกต้องอย่างไรนั่นแหละครับ

คำถามที่มีมากมายก็คือ ถ้าคนที่ออกมาแสดงความเกลียดชังและความรุนแรงทางวาจาและความคิดเหล่านั้นเขาเรียกตัวเองว่าคนดี คนที่ถูกต้อง ก็คงต้องถามว่า เอ เขารู้อะไรมากกว่าที่เราไม่รู้จริงๆ หรือไม่ สิ่งที่เขารู้และเชื่อ และยึดมั่นถือมั่นมันคือข้อมูลหรือการตีความ และเขามีสิทธิที่จะทำเช่นนั้นได้จริงๆ เหรอ?

เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องแค่ความขัดแย้งทางศาสนาหรอกครับ ในสังคมไทยมีหลายเรื่องที่ขัดแย้งกันมาแล้ว และรอที่จะขัดแย้งกันอีกในหลายเรื่องในอนาคตอันไม่ไกลอีกแหละครับ

ถ้ามองให้กลายเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤต ผมกลับคิดว่าสังคมอาจจะต้องร่วมกันคิดที่จะฝ่าวิกฤตในช่วงนี้ไปด้วยกันมากกว่าเรื่องของแค่ทำตาม หรือไม่ยอมทำกับกระแสทั้งสองฝ่าย แต่พยายามคิดหาหนทางที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และเกิดการถกแถลงอย่างจริงๆ จังๆ เพราะน่าจะนำไปสู่ความเข้าใจของกันและกันมากขึ้น

คือผมคงไม่คิดว่าทุกเรื่องนั้นจะต้องจบลงในแง่ของการเห็นตรงกันในสาระสำคัญ แต่อยากให้สังคมสามารถพัฒนาไปสู่เรื่องของการ “ยอมรับว่าเห็นไม่ตรงกันได้” (agree to disagree) หรือก้าวสู่สิ่งที่เรียกว่า “แตกต่างแต่ไม่แตกแยก” ได้

ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่ท้าทายในหลายๆ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่สุดท้ายน่าจะตั้งคำถามที่ว่ากติกาถูกต้อง และเราต้องรักษากติกาเอาไว้ รวมทั้งกติกาหรือมาตรฐานใดที่เราอ้างถึงนั้นมันจะต้องใช้ตรวจสอบกับฝ่ายของตัวเองได้ด้วย ไม่ใช่ใช้แต่กับฝ่ายที่เราไปโจมตีเขา

3.เรื่องราวที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางศาสนาที่เกิดขึ้นทำให้ต้องมานั่งคิดว่าศาสนากับการเมืองนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งถ้าจะอธิบายเรื่องนี้ได้คงจะต้องเกี่ยวสัมพันธ์ไปกับเรื่องของศาสนากับสังคมเสียด้วย

กล่าวคือ ทุกวันนี้ศาสนานั้นมีผลกับสังคมอย่างไร ซึ่งถ้าเราคิดในกรอบง่ายๆ เหมือนที่เคยคิดกันเมื่อหลายสิบก่อน เราก็อาจจะมองว่า ศาสนาเป็นเรื่องของสังคมเก่า และเมื่อสังคมก้าวเข้าสู่สังคมใหม่แล้ว อิทธิพลของศาสนานั้นก็จะลดลงตามลำดับ และถูกแทนที่ด้วยความคิดในทางโลก

เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยสิ่งที่เราพบนั้นอาจมีลักษณะของการที่ว่าในโลกสมัยใหม่นี้ศาสนาอาจจะมีอิทธิพลอยู่มาก หรือในอีกด้านหนึ่ง ศาสนานั้นอาจจะได้รับอิทธิพลของโลกสมัยใหม่เข้าไปมากขึ้นเช่นกัน อาทิ เรื่องของการทำให้ศาสนากลายเป็นสินค้าหรือการพาณิชย์อะไรทำนองนี้

สิ่งที่สำคัญก็คือถ้าเรามองว่าศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวเราไว้ คำถามก็คือถ้าในโลกปัจจุบันนั้นยังยึดเหนี่ยวเราด้วยศาสนาไว้ได้ ก็คงต้องหาคำตอบเอาว่า อะไรที่ดึงเราออกไปหรือทำให้เราเกิดสภาวะที่เคว้งคว้างและยึดเราไว้ไม่ได้ และทำให้เราต้องยึดเหนี่ยวกับศาสนาเอาไว้

ในอีกด้านหนึ่งเราก็คงต้องถามด้วยว่า สิ่งที่เรายึดไว้ที่เรียกว่าศาสนานั้นมีหน้าตาความหมายและคุณลักษณะใดๆ ที่ทำให้เราคว้าเอาไว้ยึดเอาไว้

วิธีการมองเช่นนี้น่าจะทำให้เราพ้นไปจากการมองอะไรง่ายๆ ว่าอะไรแท้ไม่แท้ มาสู่การถามคำถามที่เป็นจริงและเข้าอกเข้าใจความแตกต่างที่เรามีกับคนอื่นได้มากขึ้น ว่าทำไมแต่ละคนถึงยึดติดกับเรื่องที่ต่างกัน (รวมทั้งคนที่ยึดติดกับความไม่ยึดติดด้วยนั่นแหละครับ)

หรือในกรณีพุทธศาสนาในบ้านเรานั้น ผมกลับรู้สึกว่ายังไงคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ก็เป็นชาวพุทธ ในแง่วิถีชีวิตและวัฒนธรรม เพียงแต่ว่าในแต่ละกลุ่มนั้นอาจจะมีท่าทีต่อการตีความและการเข้าถึงพุทธศาสนาที่แตกต่างกัน รวมทั้งคนที่เป็นพุทธทั้งหลายนี้ก็อาจจะมีความไม่เป็นพุทธในตัวได้พอๆ กัน หรือแตกต่างกันในกาลเทศะหนึ่งๆ ด้วย เรื่องเหล่านี้ต้องดูกันในแต่ละกรณีไป อาทิ บางเรื่องคนคิดว่าตนไม่เชื่อเรื่องบุญกรรม แต่ไม่เสมอไปที่แปลว่าเขามีเหตุผล เพราะการไม่เชื่อเรื่องบุญกรรมในเรื่องนั้นๆ อาจมาจากการที่เขารู้ว่าเขาเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นได้ด้วยความสามารถและทรัพยากรที่เขามี

แต่ถ้าเขาดันไม่มีความสามารถและทรัพยากรในบางเรื่องเขาก็อาจจะกลับมาคิดเรื่องบุญเรื่องกรรมได้

ที่พูดแบบนี้ต้องการจะชี้ว่า เราอาจมองไม่ได้ง่ายๆ ว่าพุทธศาสนาเสื่อมถอยลงหรือไม่ หรือการมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้นจำเป็นหรือไม่ เพระคนหลายคนที่ไม่ได้ออกมาสนับสนุนเรื่องพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอาจจะเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดก็ได้ เพียงแต่ว่าเขาอาจไม่ได้มองว่าการผลักดันพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะเดียวกันคนที่จะหาประโยชน์จากการที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็อาจมีได้เช่นกัน สิ่งที่น่าสนใจคือจะประคองความหลากหลายทางศาสนาและการไม่นับถือศาสนา รวมทั้งความหลากหลายภายในพุทธศาสนาเองให้ดำรงอยู่ได้อย่างไร?

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่สำคัญเหนือไปกว่าข้อกล่าวหาทางคดีความที่มีอยู่ในวันนี้ในเรื่องของสงฆ์นั้นก็คือเรื่องที่เป็นบทเรียนของสังคมไทยเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือเราจะจัดการกับความแตกต่างอย่างไร และจะอยู่ร่วมกับความแตกต่างได้อย่างไร

ทีนี้มาถึงเรื่องของการเมืองกับศาสนาบ้าง ในอดีตนั้นเราเชื่อว่าศาสนานั้นมีผลสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ปกครอง เพราะศาสนาเป็นเสมือนอุดมการณ์ หรือภาษาบางอย่างที่ทำให้คนในชุมชนการเมืองเดียวกันพูดกันรู้เรื่อง และทำหน้าที่รองรับและสร้างความชอบธรรมให้กับการปกครอง และผู้ปกครอง

ในอีกด้านหนึ่งเราก็พบว่า การพยายามจัดระเบียบศาสนาจากผู้ปกครอง ในรูปแบบการปกครองสงฆ์ที่เชื่อมกับโครงสร้างและงบประมาณของกฎหมายบ้านเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องทั้งหมดที่ศาสนาสัมพันธ์กับการเมือง เพราะยังมีเรื่องของขบวนการทางศาสนาเองที่มีแนวโน้มเอนเอียงไปกับการเมืองในบางรูปแบบ รวมทั้งการท้าทายอำนาจของรัฐได้ด้วย

แต่เอาเข้าจริงเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในความหมายที่ว่าขบวนการศาสนาหนึ่งจะเป็นโอกาส หรือความท้าทายในการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง และในทางตรงข้าม การไปตั้งคำถามกลับสร้างผลกระทบที่มีต่อขบวนการศาสนาบางศาสนาอาจจะกลายเป็นชนวนที่ปลุกให้ชนวนเหล่านั้นตื่นขึ้น หรือกลายไปเป็นขบวนการทางการเมืองเสียเอง ในแง่นี้เราจึงต้องมีความระมัดระวังยิ่ง ว่าอย่าไปมองทุกเรื่องเป็นเรื่องทางการเมือง เพราะมันจะเป็นการสร้างการเมืองขึ้นมาเสียเอง ไม่ใช่การเมืองมันอยู่ตรงนั้นมาก่อน

ศาสนานั้นมีอิทธิพลกับชีวิตคน และเมื่อผู้คนมีความหลากหลาย คำถามคือจะใช้ศาสนาหลอมรวมผู้คนเข้าด้วยกัน หรือจะทำให้ปริมณฑลทางศาสนาเป็นอิสระและปลอดภัยของทุกๆ คน เพื่อรักษาความหลากหลายเหล่านั้นเอาไว้ให้ได้

เรื่องเหล่านี้คงไม่จบลงง่ายๆ และเป็นเรื่องที่มากไปกว่าการถกเถียงเรื่องคุณสมบัติของพระรูปใดรูปหนึ่ง

แต่น่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดท่าทีที่มีต่อสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย และการกำหนดท่าที่ของการที่เราต้องอยู่ร่วมกันอย่างเคารพศักดิ์ศรีและความคิดของคนอื่นๆ ด้วย

และอาจเป็นไปได้ว่า ในปัจจุบันศาสนานั้นอาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักในการเมือง แต่ไปๆ มาๆ การจัดการศาสนาบางแบบ หรือการสร้างผลกระทบให้เกิดกับศาสนาในบางรูปลักษณะนั่นแหละครับที่ไปสร้าง หรือกระตุ้นความเป็นการเมืองของศาสนาขึ้นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image