วัดใจ กรธ. โดย นฤตย์ เสกธีระ

รู้สึกเห็นใจ กรธ.จริงๆ

เห็นใจเพราะข้อเสนอที่แต่ละองค์กรเสนอให้ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญนั้น

ทั้งสวนทางกัน ทั้งหนักหนาสาหัส

ในจำนวนนี้มีทั้งข้อเสนอจากคณะรัฐมนตรี ข้อเสนอจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้อเสนอจากสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ

Advertisement

ข้อเสนอจากศาล ข้อเสนอจากอัยการ ข้อเสนอจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน ข้อเสนอจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

รวมไปถึงข้อเสนอจากพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย

ข้อเสนอที่ให้ปรับปรุงนอกจากจะมีเนื้อความขัดกับเนื้อหาของ กรธ.บางส่วนแล้ว

Advertisement

ข้อเสนอแต่ละองค์กรที่ให้ความเห็นมายังขัดแย้งกันและกันอีกต่างหาก

อาทิ ข้อเสนอของ ครม.ที่กำลังเป็นข่าว เรื่องการแบ่งช่วงเวลาบังคับใช้เป็น 2 ขยัก

ช่วงสั้น สามารถยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตราได้

ช่วงต่อไป เป็นการใช้รัฐธรรมนูญได้เต็มใบ

ข้อเสนอนี้ บรรดานักวิชาการและพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย

พรรคประชาธิปัตย์แม้จะขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทยทางการเมือง แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ครม.

ขณะที่ความเห็นจาก กปปส.กลับมองกว้างๆ ว่า ถ้ารัฐธรรมนูญมีการการันตีเรื่องปฏิรูปและมีกลไกแก้วิกฤต ก็โอเค

ตีความได้ว่า กปปส.มีความโน้มเอียงไปเห็นด้วยกับข้อเสนอของ ครม.

นี่ยังไม่รวมความเห็นขัดแย้งกับร่างที่ กรธ.ยกขึ้นมา 270 มาตรา ที่บางกลุ่มเห็นว่าขาดสิทธิเสรีภาพกว่าเก่า

บางพรรคเห็นว่ายังมุ่งกีดกันทางการเมือง

ขณะที่ กรธ.มีกำหนดเวลาการพิจารณาปรับปรุงร่างไปถึงเดือนมีนาคม แล้วเสนอให้ ครม.โดยไม่มีการแก้ไข

จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนประชามติ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม

ดังนั้น นับจากเวลานี้ไปจนถึงวันที่ปรับปรุงร่างเสร็จ เหลือเวลาอีกแค่เดือนเดียว

แล้ว กรธ.จะยึดแนวไหนในการปรับปรุง

ถือว่าช่วงเวลาเพียงเดือนเดียวต่อไปนี้เป็นทางสองแพร่งของ กรธ.ก็ว่าได้

หาก กรธ.ก้าวย่างถูกทิศ ร่างรัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับ ประชาชนทุกฝ่ายเห็นพ้องกันให้ใช้

กรธ.ก็เฮ

แต่ถ้า กรธ.เลือกย่างก้าวผิดทาง ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับ

กรธ.ก็แย่หน่อย

แต่เชื่อว่า กรธ.คงมีสติ รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร

และเชื่อว่าท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ท่ามกลางข้อมูลอันล้นทะลัก หาก กรธ.คิดจะขจัดความขัดแย้งก็คงเลือกสรรเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

ทั้งนี้อาจถือว่า ข้อเสนอของทุกกลุ่มที่ยื่นให้เป็นความต้องการส่วนตัวส่วนกลุ่ม

ทุกองค์กรทุกกลุ่มมีสิทธิจะเรียกร้องสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าดีที่สุดได้

ในความต้องการส่วนตัวของคนนี้ ย่อมไม่ตรงกับความต้องการส่วนตัวของคนนั้น

น่าปวดหัวแทน กรธ.จริงๆ

แต่ในความต้องการส่วนตัวของแต่ละกลุ่มน่าจะมีอะไรที่เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวมบ้าง

เข้าใจว่า กรธ.คงจะเลือกสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แล้วบัญญัติเป็นเนื้อหาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ

ทีนี้ก็สุดแล้วแต่ว่า กรธ.จะเห็นว่าอะไรคือ “ประโยชน์ส่วนรวม”

การสืบทอดอำนาจ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมไหม ?

การเลือกตั้ง เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือเปล่า ?

แล้วคำตอบว่า สิ่งที่ กรธ.เลือกนั้นเป็นประโยชน์ของใครก็ไปยุติกันที่ประชามติ

ถ้าเนื้อหาต้องตาคนส่วนใหญ่ ประชามติคงผ่าน

แต่ถ้าไม่ ประชาชนคงไม่โหวตให้…ร่าง รธน. ก็คว่ำไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image