7 สนช. ขึ้นแท่น ลาประชุมเกินโควต้า รับผล’กรรมเก่า’

ขณะที่กระบวนการปรองดองกล่าวถึงความเท่าเทียม

ไม่มีสองมาตรฐาน

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ได้เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับการประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.

พบว่า สนช.อย่างน้อย 7 คน ขาดประชุมเป็นประจำจนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกสภาพ

Advertisement

หนึ่งในจำนวนเจ็ด สนช. มีชื่อ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา หรือ บิ๊กติ๊ก รวมอยู่ด้วย

บิ๊กติ๊กคนเดียวกับที่เป็นน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์

และเป็นบิ๊กติ๊กคนเดียวกันที่ ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบทรัพย์สิน

Advertisement

แม้ว่าวันนี้บิ๊กติ๊กเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ก็ยังเป็น สนช.

เป็น สนช.ที่ถูกกล่าวหาว่าขาดประชุม

 

หลังจากผลสำรวจของไอลอว์ปรากฏ ได้มีการสอบถามไปยัง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.

คำตอบคือ ไม่จำเป็นต้องสอบสวน เพราะ สนช. 7 คนที่ขาดการประชุมนั้น ได้ยื่นลาตามระเบียบ

ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าไม่สิ้นสภาพการเป็นสมาชิก

แต่ภายหลังเมื่อ วีระ สมความคิด โพสต์ข้อมูลตอกย้ำความผิดปกติ กระแสการตรวจสอบก็กระพือขึ้น

“พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายนายกรัฐมนตรี สมาชิก สนช. ขาดการประชุมเป็นประจำ แต่ยังรับเงินเดือน เดือนละ 120,000 บาท”

นั่นเป็นประเด็นแรก

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และในฐานะพี่ชาย ซึ่งเป็นผู้เลือกน้องชายคนนี้มานั่งกินเงินเดือน สนช. อย่าบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของน้องชายอีกนะ การมาทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวแล้วมารับเงินเดือนในตำแหน่ง สนช.ทำไม?”

นั่นเป็นอีกประเด็น

แล้วตบท้ายด้วยข้อสงสัย

“มีเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดบ้าง ที่สามารถลางานได้มากถึง 394 วัน จากจำนวนวันทำงานทั้งหมด 400 วัน โดยไม่ถูกไล่ออกจากราชการ”

ต่อมา สังคมออนไลน์โพสต์คำพูดของนายวันชัย สอนศิริ สปท. ที่เคยอภิปรายเมื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภาครั้งรัฐบาลชุดเดิม

“..ตาม รธน. ม.106 (10) ส.ส.ต้องมาประชุม ถ้าขาดเกิน 1 ใน 4 สมาชิกภาพก็หลุด นั่นเขาให้ความสำคัญกับการประชุมสภา

จะอ้างว่าเป็นนายกฯ แล้วมีภารกิจเยอะ ก็ไม่ได้ ต้องรู้จักแบ่งหน้าที่ แบ่งงาน..”

การตอกย้ำข้อมูลและการดึงถ้อยคำในอดีต กระตุ้นให้นายพรเพชรต้องตั้งแท่นสอบ

สนช.จะเริ่มสอบ 7 สนช.ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

 

ไม่มีใครรู้ว่าผลสอบ 7 สนช.จะออกมาเช่นไร

แม้ว่าจะมีคนแย้มผลล่วงหน้าว่าไม่น่าผิด

แต่ดูเหมือนการลาการประชุมเป็นจำนวนมากนั้น ส่งผลต่อ 7 สนช.มากกว่าผิดหรือไม่ผิด

มีผลมากกว่ากรอบจริยธรรมที่กำหนดขึ้นมา

เป็นผลมาจากกรรมเก่า

กรรมที่เกิดขึ้นจากสมาชิกรัฐสภาที่สร้างมาตรฐานไว้เมื่อรัฐบาลที่แล้ว

…แม้ “มีภารกิจ” และ “ยื่นใบลา” แต่ก็ต้อง “รู้จักหน้าที่”…

กรรมที่แม้จะยื่นใบลา แต่หากขาดเกินกว่าที่กำหนดก็ไม่ได้

24 กุมภาพันธ์ 7 สนช.จึงต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวน

เข้าสู่มาตรฐานที่รัฐสภาเคยเรียกร้อง

เป็นกรรมเก่าที่ 7 สนช.ต้องยอมรับโดยดุษณี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image