อนาคตพยาบาลไทย… : โดย เฉลิมพล พลมุข

สุขภาวะที่ดีของประชากรในประเทศเป็นดัชนีชี้วัดการพัฒนาบ้านเมืองทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความเจ็บป่วยของมนุษย์เราที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคนล้วนเป็นความปกติของร่างกายและชีวิต สัจธรรมชีวิตทั้งวิทยาศาสตร์ ปรัชญาและศาสนาก็ยอมรับการเกิด แก่ เจ็บและตายของทุกๆ สรรพสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ความทุกข์ในความเจ็บป่วยย่อมต้องพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ที่สำคัญเป็นส่วนประกอบก็คือพยาบาลที่จะช่วยดูแลเยียวยา

ในเมืองไทยเรามีสถาบันที่ทำหน้าที่ในการผลิตพยาบาลวิชาชีพอยู่ในหลายองค์กร อาทิ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่มีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีรวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย ได้เปิดทำการเรียนการสอนเพื่อผลิตพยาบาลออกไปเพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยหรือคนไข้จากในอดีตปีละแปดพันคนเป็นปีละหนึ่งหมื่นคน ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานที่กำกับควบคุมดูแลนั่นก็คือ สภาการพยาบาล ซึ่งจะดูแลมาตรฐานการศึกษาพยาบาลและผดุงครรภ์ การสอบความรู้ การต่อใบอนุญาต ดูแลการพยาบาลเฉพาะทาง (NP) รวมตลอดถึงกฎหมาย จริยธรรมและการศึกษาวิจัย…

บุคลากรที่เป็นพยาบาลวิชาชีพทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบปฏิบัติของ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ซึ่งมีประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2528 โดยเฉพาะมาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า “การพยาบาล หมายถึง การกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการดูแลและการช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย การฟื้นฟูสภาพ การป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพรวมถึงการช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาล”

ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพมีมาในหลายรัฐบาลที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ที่เมืองไทยเราพบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ การบรรจุแต่งตั้งให้พยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการก็ต้องยุติลงเช่นเดียวกับบุคลากรของข้าราชการในกระทรวงต่างๆ องค์การอนามัยโลก WHO ได้กำหนดสัดส่วนของจำนวนพยาบาลจากทุกๆ ประเทศที่ 2 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งเมืองไทยเราก็มีจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงก็คือ 2.07 คนต่อประชากร 1,000 คน เมื่อปีที่แล้ว พ.ศ.2559 สังคมไทยเราได้มีพยาบาลวิชาชีพกลุ่มชำนาญการที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปลาออกร้อยละ 92

Advertisement

พยาบาลวิชาชีพที่จบการศึกษาใหม่ๆ เมื่อไม่มีตำแหน่งที่จะบรรจุให้ก็จะมีการลาออกไป 50% และอีกไม่นานนักก็จะทยอยลาออกไปอีก 30% คาดการณ์ว่ามีพยาบาลวิชาชีพที่ทำงานเป็นอัตราจ้างอยู่ในระบบประมาณ 20% ขณะเดียวกันนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีตำแหน่งที่จะบรรจุเป็นข้าราชการ ในปัจจุบันนี้ระบบการบริหารจัดการที่พยาบาลวิชาชีพจะขึ้นสู่ตำแหน่งชั้นพิเศษจะมีในอัตราส่วน 40 คนต่อ 100,000 คน หรือ 0.01%

สำหรับพยาบาลที่จบใหม่ บางคนได้ทำงานในหน่วยงานราชการและเอกชนเป็นระยะหนึ่ง ปัญหาที่พบในเขาเหล่านั้นก็คือ หากเป็นพยาบาลที่อยู่ประจำในโรงพยาบาลของรัฐ เราท่านจะเห็นถึงภาระหน้าที่งานต้องมีความรับผิดชอบที่สูง ขณะเดียวก็มีความตึงเครียดทั้งจำนวนมากของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในแต่ละวัน ความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติต่อการรับบริการ ปัญหาเศรษฐกิจ รายได้ที่ต้องเลี้ยงดูชีวิตและครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่งที่พยาบาลวิชาชีพบางคนจะต้องไปหางานเสริมเพิ่มเติมจากงานประจำ

สำหรับโรงพยาบาลเอกชนเราท่านก็รับรู้เป็นอย่างดีนั่นก็คือ รายได้ของการรักษาพยาบาลความเจ็บป่วยของคนไข้ก็ย่อมจะสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ ค่าตอบแทนในโรงพยาบาลเอกชนก็สูงตามไปด้วยกับหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของคนไข้หรือผู้ป่วย…

Advertisement

ผู้เขียนใคร่ขอนำตัวเลขจากกรมบัญชีกลางที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในข้าราชการและสิทธิที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนความเจ็บป่วยปีละ 60,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2557-2559 ผลจากการเบิกจ่ายของข้าราชการในปี พ.ศ.2557 จำนวน 62,353.23 ล้านบาท ปี พ.ศ.2558 เบิกจ่ายจำนวน 66,455.89 ล้านบาท และปี พ.ศ.2559 เบิกจ่ายจำนวน 64,665.00 ล้านบาท ข้อเท็จจริงหนึ่งอาจจะเป็นนโยบายที่อาจจะมีการใช้ปฏิบัติงานจริงก็คือ รัฐบาลอาจจะใช้การบริหารจัดการการเบิกจ่ายการเจ็บป่วยของข้าราชการและสิทธิที่เกี่ยวข้องจากบริษัทประกันเอกชน อาจจะเป็นทั้งคำถามและคำตอบหนึ่งของสังคมที่ต้องหาข้อยุติในอนาคตภายหน้า

ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดกับสุขภาพร่างกายของเราท่านทั้งหลายมีให้เห็นในทุกๆ วันจากสื่อประเภทต่างๆ ที่นำเสนอในรายวัน อาทิ อุบัติเหตุในการเดินทาง โรคต่างๆ เบาหวาน ความดันโลหิต หัวใจ ตาหูคอจมูก อาจรวมไปถึงโรคที่ป่วยจากวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยมทางกาย โรคทางใจและโรคทางจิตวิญญาณ สังคมไทยเรามีจำนวนตัวเลขยุวอาชญากรปีละ 60,000 คนมีเด็กเร่ร่อนปีละ 30,000 คน เด็กวัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปีละ 150,000 คน มีผู้ขายบริการทางเพศรายใหม่ประมาณ 80,000 คน มีแรงงานเด็ก 50,00-60,000 คน และมีเด็กข้ามชาติที่มาอยู่ในเมืองไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง…(มติชนสุดสัปดาห์ 28 ต.ค.-3 พ.ย. 2559 หน้า 16)

ปัญหาดังกล่าวก็ย่อมต้องพึ่งพาบริการทางการแพทย์ที่ต้องมีพยาบาลเป็นบุคคลสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพ เมื่อเขาเหล่านั้นได้รับความเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ จำนวนผู้ป่วยคนไข้ที่ต้องไปโรงพยาบาลของรัฐบาล อาทิ โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัด อำเภอ เราท่านจะเห็นผู้ป่วยต้องรอเข้าพบแพทย์จำนวนมาก ส่วนหนึ่งต้องไปตั้งแต่ตอนเช้าเพื่อจะได้คิวแรกๆ ญาติและคนไข้หลายคนต้องใช้เวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลเกือบหนึ่งวันในกรณีที่รับยาแล้วกลับไปกินยาต่อที่บ้าน…

ผู้เขียนเองมีวิถีชีวิตที่ต้องเกี่ยวข้องกับนิสิตแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาสาธารณสุขชุมชน รวมไปถึงผู้ป่วยเอดส์ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนชราที่ลูกหลานปฏิเสธในการดูแล ผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ ด้วยทั้งเพื่อนสนิทและญาติพี่น้องที่ต้องจากโลกนี้ไปด้วยโรคและอุบัติเหตุของชีวิตในวาระต่างๆ เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนชีวิตที่ว่า จะต้องหายใจอยู่ทุกวันด้วยความไม่ประมาท ความเจ็บป่วยและการตายก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตที่ใกล้มานี้

แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลทุกๆ คนมีจิตวิญญาณของความเมตตาธรรมที่จะช่วยความเจ็บป่วยให้หายไปเป็นปกติในทุกๆ คน ท่านผู้อ่านอาจจะเห็นภาพเดียวกับผู้เขียนที่ว่า หากเราท่านไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมานี้เราท่านจะพบเห็นคนไข้หรือผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ หรือสูงวัยจำนวนมากกว่าวัยอื่นๆ เพื่อเข้าพบแพทย์ในจำนวนที่มากขึ้น

นั่นหมายถึง เมืองไทยเราได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ รัฐบาลที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เตรียมการบริหารจัดการดูแลสุขภาพคนแก่ ผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบดีแล้วหรือไม่…

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านรับทราบกันเป็นอย่างดีนั่นก็คือ บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสมอง หัวใจ ตาหูคอจมูก รวมถึงแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับศัลยกรรมและความสวยงามของชีวิตและวิชาชีพอื่นๆ ที่เป็นคนไทยเราในแต่ละปีได้ลาออกจากราชการมีเป็นจำนวนมาก มีจำนวนหนึ่งที่เลือกชีวิตเพื่อไปหารายได้และทางก้าวหน้าที่ดีกว่าในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขณะเดียวกันก็มีบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมอ และพยาบาลรวมทั้งวิชาชีพอื่นๆ เข้ามาทำงานในเมืองไทยเรามีอยู่ไม่น้อย

ข้อมูลหนึ่งของ World Heath Statistics 2015 ได้นำเสนอสัดส่วนของพยาบาล ผดุงครรภ์ต่อประชากร10,000 คนในปี พ.ศ.2550-2556 ลำดับ 1 คือ บรูไน 80.5 ลำดับ 2 กัมพูชา 7.9 ลำดับ 3 อินโดนีเซีย 13.8 ลำดับ 4 ลาว 8.8 ลำดับ 5 มาเลเซีย 32.8 ลำดับ 6 พม่า 10 ลำดับ 7 ฟิลิปปินส์ (ไม่มีตัวเลข) ลำดับ 8 สิงคโปร์ 57.6 ลำดับ 9 เมืองไทยเรา 20.8 และลำดับสุดท้าย เวียดนาม 12.4

สังคมไทยเราเมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว พ.ศ.2559 เราท่านได้พบเห็นภาพของพยาบาลวิชาชีพใส่ชุดสีขาวหลายคนถือป้ายเรียกร้อง โดยสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้เข้ายื่นร้องต่อศาลปกครอกรณีความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนค่าตอบแทน สวัสดิการความมั่นคงในชีวิตต่อภาครัฐในมาตรา 12 (2) โดยสมาชิกพยาบาลวิชาชีพส่วนหนึ่งต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาองค์กรไปสู่อนาคตที่ดีกว่า รัฐบาลได้ยินหรือได้ฟังเสียงสีขาวที่ไม่ค่อยดังมากนักของเขาเหล่านั้นหรือไม่…

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของเราท่านทั้งหลาย ได้สร้างระบบพัฒนาการแพทย์ พยาบาลและการสาธารณสุขให้กับสังคมไทยเรา รัฐบาลในสมัยนั้นได้มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้วันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพให้เป็นวัน “พยาบาลแห่งชาติ” โดยมีดอกปีบเป็นสัญลักษณ์ของพยาบาลไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ครั้งหนึ่งในรัฐบาลของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน (คมช.) ได้จัดงานรำลึกถึงสมเด็จย่า อันเนื่องด้วยความกตัญญูกตเวที ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร ได้มีนิทรรศการพระราชประวัติของสมเด็จย่า ภายในงานได้มีการจัดพิมพ์การ์ด “คำสอนของสมเด็จย่า” คำสอนหนึ่งก็คือ “ข้าพเจ้าไม่ขอรับบำนาญจากบ้านเมือง ไม่ขอรับเกียรติยศหรือเหรียญตราใดๆ ทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่าได้รับการตอบแทนอย่างสมบูรณ์แล้วที่ได้มีอากาศหายใจ ข้าพเจ้าหวังอยู่แต่ว่า จะไม่มีใครมาทำให้อากาศเสียไป…”

คำสอนของสมเด็จย่าได้ถ่ายทอดผ่านพระมหากษัตริย์ไทยที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลกที่ประทับอยู่ในเมืองไทยจนกระทั่งถึงวันสวรรคต 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 องค์กรนานาชาติต่างให้การชื่นชมสรรเสริญ แม้กระทั่งหัวใจของทุกๆ คนต่างก็จะปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ท่าน เพื่อส่งต่อสิ่งที่ดีงามที่มีในคนไทยทั้งยิ้มสยามไปสู่ลูกหลาน วันนี้ว่าที่นักการเมืองไทยในอนาคตมองประเทศชาติบ้านเมืองจะไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนแล้วหรือยัง …

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image