คุณภาพคือความอยู่รอด : คำตอบของ‘มืออาชีพ’ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

“มาบุญครอง” ในวันนี้ต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วจริงๆ โดยเฉพาะชั้น 4 ที่เป็นร้านขายโทรศัพท์มือถือ และอะไหล่อุปกรณ์ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ร้านค้าตั้งกันแออัดมาก คนซื้อต้องเดินตะแคงข้างหลบกันผ่านช่องทางเดินแคบๆ ระหว่างร้านค้า แต่เดี๋ยวนี้พื้นที่โล่งโอ่โถง ผู้ซื้อเดินกันอย่างสะดวกสบาย ทำให้ “มาบุญครอง” ในวันนี้ดูเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีระดับมากขึ้น จนมีคนต่างชาติเดินกันขวักไขว่

เมื่อวันอาทิตย์ผมติดตามเพื่อนที่เอาโทรศัพท์มือถือยี่ห้อดัง ไปให้ “ช่างซ่อม” ที่อยู่ในร้านเล็กๆ ขนาด 2×2 ตารางเมตร ผมเห็นช่างซ่อมและโต๊ะซ่อมที่วางอะไหล่และอุปกรณ์โทรศัพท์มือถืออย่างระเกะระกะไปหมด ช่างซ่อมที่ดูชำนาญมากหยิบไขควงด้ามเล็ก ดูดจับนอตตัวเล็กๆ แล้วไขเข้าไขออก พร้อมเปลี่ยนอะไหล่ในตัวเครื่องอย่างเชี่ยวชาญ หยิบโน่นวางนี่ เพียง 10 นาที ก็เปลี่ยนลำโพงที่ใช้ฟังระหว่างสนทนาของโทรศัพท์มือถือยี่ห้อดังเสร็จเรียบร้อย เขายื่นให้เจ้าของทดสอบผลงานซ่อม หลังลองแล้วเพื่อนผมยกนิ้วให้แล้วจ่ายค่าบริการไป 500 บาท

ผมมองช่างซ่อมด้วยความสนเท่ห์และชื่นชม พร้อมกับถามว่า “ทำไมถึงซ่อมเป็น” ช่างซ่อมตอบอย่างเชื่อมั่นว่า “ผมนั่งโต๊ะนี้ ทำงานซ่อมแบบนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว” โดยเล่าเพิ่มเติมว่า เขามาจากต่างจังหวัด หลังจบ ม.3 มาเป็นเด็กเสิร์ฟก่อน และลูกมือเชฟในครัวของร้านฟาสต์ฟู้ดแห่งหนึ่ง แล้วกลับบ้านทำไร่ แต่ก็กลับมาเป็นเด็กเสิร์ฟอีก 2 ปี จนเปลี่ยนมาช่วยแฟนขายโทรศัพท์มือถือที่มาบุญครอง เลยเจอช่างซ่อมที่ออกจากศูนย์บริการซ่อมของแบรนด์ดัง มารับงานซ่อมเองข้างนอก ตั้งแต่มือถือรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาในบ้านเรา

เขาเล่าอีกว่า ใหม่ๆ ก็เป็นลูกจ้างเขา ต่อมาเถ้าแก่ทำไม่ไหว ผมต้องยอมเป็นหนี้เพื่อหาเงินมาเซ้งร้านต่อ เมื่อก่อนขายโทรศัพท์มือถือหน้าร้านเท่านั้นเอง แต่มีคนมาขอให้ช่วยซ่อมมือถือบ่อยๆ ช่วงนั้นงานซ่อมมีมาก แต่ช่างซ่อมไม่มี จึงต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อม และใช้เวลารอนานมาก จึงตัดสินใจลงมือฝึกซ่อมเอง โชคดีที่เถ้าแก่สนับสนุนให้ลองซ่อม และซื้อเครื่องมือใหม่ๆ มาให้ลองใช้ด้วย จึงได้ฝึกฝนมาเรื่อยๆ กว่า 20 ปี จนซ่อมได้ดีในวันนี้ เขายังย้ำว่า การซ่อมได้เองทำให้รู้ต้นทุน จึงคิดราคาได้ถูกกว่า และซ่อมเสร็จเร็วทันใจลูกค้า

Advertisement

ผมถามว่า อะไรทำให้เขาประสบความสำเร็จ ช่างซ่อมตอบอย่างมั่นใจว่า เพราะไม่อยากเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนอย่างเดียวต่อไปแล้ว อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง จึงต้องศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา ที่มีวันนี้ก็เพราะการฝึกฝนให้ชำนาญและต้องเรียนรู้อยู่เสมอด้วย

ช่างซ่อมมืออาชีพจะต้องเรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่พื้นฐานเลย โดยเริ่มจากการวาง Plate ให้เก่ง และสามารถวาง Board ให้แม่นก่อน และฝึกฝนเรียนรู้จากช่างซ่อมรุ่นพี่

ผมถามถึงรายได้ต่อเดือน นายเพ็ง ศรีทุมสุข อายุ 41 ปี ช่างซ่อม ตอบอย่างเขินอายว่า เฉลี่ยได้เดือนละแสนกว่าบาท ผมยิงคำถามสุดท้ายด้วยความสงสัยอย่างยิ่งว่า ทำไมข้าวของบนโต๊ะซ่อมจึงดูระเกะระกะ และมั่วขนาดนั้น เขาตอบด้วยอารมณ์ดีว่า เคยพยายามจัดให้เรียบร้อยหลายครั้งแล้ว แต่ก็กลับมารกอีก โต๊ะรกๆ แบบนี้ผมหาอะไหล่ ตัวเล็กตัวน้อยของผมได้เจอ จึงห้ามใครมายุ่งโต๊ะซ่อมเด็ดขาด

Advertisement

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ คือ คำตอบของคำว่า “มืออาชีพ” ครับผม !

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image