อาทร ห่วงหา ผบ.เฉลิมชัย สิทธิสาท กรณี ธรรมกาย

“น้ำเสียง” ซึ่งมาจาก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เหมือนกับ “น้ำเย็น” อันชโลมเข้าไปในความร้อนแรงแห่งสถานการณ์ “ธรรมกาย”

ไม่ว่าจะพูดในฐานะ “ผบ.ทบ.”

ไม่ว่าจะพูดในฐานะ “เลขาธิการ” คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ “คสช.” ก็ตามล้วนเป็นคุณ

1 “สิ่งที่ผมห่วง คือ พื้นที่เผชิญหน้ากัน”

Advertisement

ตัวอย่างชัดๆ ก็คือ เหตุการณ์ในเช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ บนถนนบริเวณประตู 5 และ 6 ใกล้กับคลองแอน

ผลก็คือ บาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย เพราะว่าพระและคณะศิษยานุศิษย์ก็คิดว่าเป็นพื้นที่ของตน พวกตนเคยย่ำจนเป็นเทือก เพราะว่าตำรวจก็คิดว่าพวกตนได้รับคำสั่งตามมาตรา 44 ให้มาควบคุม

ในฐานะอันเป็น “เขตควบคุมพิเศษ”

ขณะเดียวกัน 1 “ขออย่าใจร้อน เพราะไม่ใช่เป็นที่ตั้งทางทหารฝ่ายข้าศึก เข้าตีแล้วก็จบ แต่เป็นคนไทยด้วยกันเอง”

ที่ถามกันอยู่เสมอว่า “คนไทยหรือเปล่า” ก็สำคัญตรงนี้

 

ความหมายอย่างสำคัญของคำพูด “เพราะไม่ใช่เป็นที่ตั้งทางทหารฝ่ายข้าศึก เข้าตีแล้วก็จบ” หมายความว่า เรื่องนี้มิได้เป็นปมทาง “การทหาร”

แม้จะมี “ตำรวจ” เป็นทัพหน้าร่วมกับ “ดีเอสไอ”

แม้จะมี “ทหาร” จากกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ด้วยภายในแนวตั้งตาม “มาตรา 44” แต่ทหารก็อยู่ในแนว “ด้านนอก”

ขณะเดียวกัน ปัญหาอันเนื่องแต่ “ธรรมกาย” ก็ยังเป็นปัญหาในปริมณฑลทาง “ความคิด” เป็นสำคัญ

มิใช่เรื่องของการยกพยุหโยธาไปทำ “สงคราม”

ความจริง ข้อสังเกตเช่นนี้ไม่ควรให้ทหารอย่าง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท มาย้ำเตือน รัฐมนตรีอย่าง นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ น่าจะ “สำเหนียก” ได้ตั้งแต่ต้น

เพราะเคยเป็นผู้อำนวยการ “สำนักข่าวกรองกลางแห่งชาติ”

ทำงานด้าน “การข่าว” มาอย่างยาวนาน จึงน่าจะยึดกุมหลักการ “การเมืองนำการทหาร” ได้อย่างมั่นคง

น่าเสียดาย

 

มีความจำเป็นต้องนำเอาความจัดเจนจาก “การเมืองนำการทหาร” อันเป็นผลสำเร็จจากคำสั่งที่ 66/23 มาเป็นบทเรียน

แม้จะมิใช่ปัญหา “คอมมิวนิสต์”

แต่อย่าลืมอย่างเด็ดขาดว่า ปัญหาอันเกี่ยวกับ “ธรรมกาย” ได้พัฒนาจากประเด็นในทาง “คดีความ” กลายเป็นเรื่องในทาง “การเมือง” เรียบร้อยแล้ว

สัมผัสได้จากอะไร

สัมผัสได้ 1 จากการที่มีการนำเอา “มาตรา 44” มาเป็นเครื่องมือ เท่ากับยืนยันว่านี่เป็นเรื่องในทางความมั่นคง สัมผัสได้ 1 จากบรรยากาศอันปกคลุมอยู่

เป็นบรรยากาศในแบบที่มีอยู่ก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519 เป็นบรรยากาศในแบบที่มีอยู่ก่อนสถานการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

เพียงแต่เปลี่ยนจาก “ญวนแกว” มาเป็นความรู้สึกต่อ “ผ้าปิดหน้า” เท่านั้น

 

ถามว่าสังคมไทยยังต้องการสถานการณ์แบบที่เกิดเมื่อเดือนตุลาคม 2519 หรือไม่ ต้องการสถานการณ์แบบที่เกิดเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 หรือไม่

แน่นอน ไม่มีใครต้องการ

จึงน่ายินดีที่มีเสียงดังมาจาก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท จึงน่ายินดีที่มีการย้ำเตือนให้ตระหนักว่าทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาของ “คนไทย” ด้วยกัน มิใช่ข้าศึก ศัตรูมาจากไหน

เท่ากับเป็นการรั้ง “บังเหียน” ของรถก่อนจะถลำลงไปในหุบเหวแห่งหายนะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image