ปฏิรูปการศึกษา-สังคมวิทยาโรงเรียน(2)

ปฏิรูปการศึกษา-สังคมวิทยาโรงเรียน(2)

ตอนที่แล้วดิฉันกล่าวถึงกลยุทธ์การสื่อสารทางบวกทักษะฟังใจ (Active listening) และสันติวิธีของผู้เป็นครูซึ่งมีความสำคัญ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ชุมชน เมือง จังหวัด ประเทศ ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป คุยกัน สื่อสาร ทำงานด้วยกันก็เป็นสังคมแล้ว

การสื่อสารทางบวก ใช้สันติวิธี จะขจัดความขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ลงได้

สื่อสารทางบวกและสันติวิธี จึงถูกเรียกว่า ศาสตร์อเนกประสงค์บ้าง ทักษะชีวิตบ้าง

วิชามนุษยสัมพันธ์ การทูต การปกครอง การเมือง ต้องใช้ทักษะการสื่อสารทางบวก ทักษะฟังใจ และสันติวิธีตลอดเวลา

Advertisement

Emile Durkheim นักปราชญ์ นักปรัชญาฝรั่งเศส บิดาวิชาสังคมวิทยาสมัยใหม่ วิจัยสังคมวิทยาโรงเรียน ให้แนวคิดว่าโรงเรียนเป็นสถาบันที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากทำหน้าที่สร้างเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสืบทอดเจตนารมณ์ของวัฒนธรรม ทุกด้านของสังคม

ดังนั้น ครูและผู้บริหารจึงต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ต้องมีความรู้เรื่อง (1) ทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น และประยุกต์ได้
(2) ทฤษฎีจิตวิทยาสาขามนุษยนิยม เข้าใจความต้องการของเด็กวัยรุ่น Need gratification 6 ด้าน และตอบสนองได้
(3) องค์ความรู้เรื่องสมอง ประสาทวิทยาของเด็กปฐมวัย วัยเด็กและวัยรุ่น สามารถออกแบบกิจกรรมกระตุ้นให้สมองคิดและเรียนรู้ได้และบูรณาการกับวิชาต่างๆ
(4) เสริมสร้างค่านิยมมนุษย์คือ ความมีจริยธรรมขั้นนามธรรมหรือขั้นสูง เคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่นับถือและคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

Advertisement

จากการวิจัยของสถาบันพฤติกรรมศาสตร์ มศว ศ.ดร.จรรจา สุวรรณทัต คณะวิจัยระยะยาวช่วง พ.ศ.2520-2533 สรุปว่า เยาวชนและผู้ใหญ่ไทยอายุ 11-65 ปี ร้อยละ 70-94 มีคุณธรรมจริยธรรมขั้นต่ำคือขั้นรูปธรรม ขาดความรับผิดชอบ แสวงหารางวัลผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ คือ ทุจริต เป็นเงินหรือวัตถุและทำตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ ดังนั้น จึงต้องปฏิรูปวิธีสอนจริยธรรม พุทธศาสนามีวิธีสอนจริยธรรมหลายวิธีที่ให้สอนคิด

การศึกษาวิจัยเรื่องความรุนแรงในโรงเรียนของทุกหน่วยงาน มีข้อค้นพบสอดคล้องกันทั้งสิ้น ว่า โรงเรียนมีความรุนแรงระหว่างครูกับนักเรียนและการรังแกระหว่างนักเรียนจริง หลายครั้งบาดเจ็บถึงแก่ชีวิต

จะปฏิรูปการศึกษาจึงต้องปฏิรูปสังคมวิทยาโรงเรียน สร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียน โดย ปฏิรูปในวิชาสังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ปรับปรุงสัมพันธ์ทางบวกและสันติวิธีระหว่างครูกับนักเรียน กับระหว่างนักเรียนด้วยกัน

ในโรงเรียนมีบุคคลหลายกลุ่ม คือ ผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียนและบุคลากรอื่นๆ

กลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มประชากรกลุ่มใหญ่ ต้องการการเรียนรู้และพัฒนาทุกด้าน วุฒิภาวะ ยังจำกัด ต้องการคำปรึกษาแนะแนว

กลุ่มครูและผู้บริหารต้องสร้างสมรรถภาพแนวราบคือใช้ความรัก สันติวิธี ยืดหยุ่น ให้โอกาส ความยุติธรรม ให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียน ค้นหาความถนัด ความสามารถอันเป็นเลิศเฉพาะทาง หรือพรสวรรค์/สมรรถนะ และพัฒนาให้ถึงขีดสูงสุดของศักยภาพสมองเท่าที่จะเป็นไปได้ของแต่ละบุคคล

Gifted Talented Competency ซึ่งจะป้องกันมิให้เป็นเด็กเกเรหรือ Anomie แทนการใช้อำนาจ และความรุนแรง เอารัดเอาเปรียบ แบบเดิมๆ ที่เคยชิน

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวถึงแนวคิดใหม่เรื่องปฏิรูปความรุนแรงในสังคมไทยและในโรงเรียน เสนอให้สอนวัฒนธรรมร่วมสมัย “คือสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกระดับ”

จะปฏิวัติการศึกษาไทย ครูต้องจัดวิธีสอนแบบกระตุ้นสมองครบส่วนและพหุปัญญา ความถนัดของสมอง 8 ด้านของนักเรียน ไม่ยึดติดแต่เนื้อหา เน้นท่องจำและทำตาม

ความสุขคือครูจะต้องสื่อสารทางบวก ทักษะฟังใจและใช้สันติวิธีจัดการความขัดแย้งและปัญหา รับฟัง เสริมแรง ให้กำลังใจ ซึ่งมีคู่มืออยู่แล้วแต่ไม่ใช้ ยังใช้อำนาจและความรุนแรง

สำหรับหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีมโนทัศน์ 3 หลัก หนึ่งในนั้นคือ Career Education ในหลักสูตรมีอยู่แล้ว ดูเหมือนจะ ป.3 ทำอาหารเป็น เห็นในโรงเรียนราชประชาของในหลวง ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดน นักเรียนทำอาหารขาย หาอาชีพระหว่างเรียน

Comptency Building อันนี้แหละครูจะต้องสอนแบบกระตุ้น ท้าทาย ให้สมองคิด สังเกตผลงาน การแสดงออก ว่าเด็กมีความสนใจ ความถนัด ความสามารถที่โดดเด่นอะไร และส่งเสริม ปัญหาคือครูดูไม่ทั่ว ดูไม่เป็น

ดิฉันไปดูงานที่เมืองจีน เห็นหลักสูตรจีน 2 หลักสูตร คือหลักสูตรวิชาการกับหลักสูตรสร้างสมรรถนะ ทำไม่ซับซ้อน คือจัดกลุ่มสนใจต่างๆ หาครูและบุคลากรภายนอกมาสอนมีถึง 20 กลุ่มสนใจ เรียนสัปดาห์ละครั้ง

เช่น กลุ่มสนใจภาษาจีน ภาษาอังกฤษ กลุ่มดนตรีสากล กลุ่มดนตรีจีน กลุ่มปักแบบจีน หุ่นจีน ร้องเพลง กลุ่มโฆษก งิ้ว กีฬา มวย

ที่น่าสนใจคือหุ่นจีน ล่ามเล่าว่า ไปแข่งที่ญี่ปุ่นชนะเลิศที่สอง คณะหุ่นก็แสดงให้ดูทันที เก่งน่ารัก

ดูกลุ่มสนใจโฆษก กำลังลอยหน้าลอยตาเป็นโฆษก ถามเขาว่ากำลังพูดเรื่องอะไร ล่ามอธิบายว่ากำลังชมเมฆ โฆษกชมได้ทุกเรื่อง

ในบ้านเราเคยทำครั้งหนึ่ง ไม่นานก็เลิกไปเพราะผู้ปกครองไม่เอา เอาวิชาการเหมือนเดิม กวดวิชา สอนเสริม ทำข้อสอบโอเน็ต เอเน็ต พิซซ่า

ตอนนี้เห็นโรงเรียนมัธยมในชนบท โรงเรียนประชานุเคราะห์ต่างๆ มีหลักสูตรอาชีพในระดับมัธยม ออกไปประกอบอาชีพ ทำอาหาร แต่งหน้า ซักรีดเสื้อผ้า ทำผม ทำปุ๋ยอินทรีย์ขาย โรงเรียนมัธยมชนบทคงทำได้

ที่คุณเขียนว่าการปฏิรูปหลักสูตรยังไปไม่ถึงไหน เริ่มมีปฏิกิริยาจากสมาคมครูชนบทแล้ว อ้างครูคัดค้าน แต่ก็ไม่รู้คัดค้านเรื่องอะไร

นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บรรยายในที่ประชุม สมศ. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 ว่า “การศึกษาต้องปฏิรูปอีกหลายครั้ง เพราะครูยังไม่ได้ปฏิรูปค่านิยมในการทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ที่เป็นเลิศ ซ้ำยังมีแรงเฉื่อย แรงต่อต้าน”

อาจารย์ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เคยสำรวจทัศนคติต่อวิชาชีพครู พบว่าครู 62% ผู้บริหาร 34% ถอดใจแล้ว ต้องการลาออกไปประกอบอาชีพอื่น เพราะงานครูเป็นงานหนักผลตอบแทนน้อยและมีภาพพจน์เชิงลบในสายตาของสังคม

ยังมีวิจัยอีกมากมายที่เกี่ยวกับสภาพโรงเรียนที่ไม่พร้อมจะปฏิรูป เช่น เรื่องทุจริต โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมที่มีเงินมาก เรียกร้องการกระจายอำนาจซึ่งก็มีการกระจายไปมากพอสมควร แต่ไม่มีการตรวจสอบการทุจริต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image