สุจิตต์ วงษ์เทศ : มหานาค (วัดภูเขาทอง อยุธยา) สึกจากพระไปอาสาสู้ศึกหงสาวดี

แนวคลองมหานาคที่ขุดขึ้นเพื่อเป็นแนวป้องกันข้าศึก เมื่อครั้งศึกตะเบ็งชะเวตี้ ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111) หรือเมื่อ 400 กว่าปีมาแล้ว (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือ อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย โดย ปวัตร์ นวะมะรัตน สำนักพิมพ์มติชน 2557)

พระเจ้าหงสาวดียกมาตีพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2086 (ก่อนเสียกรุงครั้งแรก พ.ศ. 2112)

ครั้งนั้นมหานาคบวชอยู่วัดภูเขาทอง ลาสิกขาอาสาสู้ศึก มีบอกในพระราชพงศาวดาร จะคัดโดยสรุปมาอ่านสนุกๆ ดังนี้

พ.ศ. 2086 สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีทรงพระดำริให้เกณฑ์พลสามสิบหมื่น ช้างเครื่องเจ็ดร้อย ม้าสามพัน ให้พระมหาอุปราชาเป็นกองหน้า พระเจ้าแปรเป็นเกียกกาย พระยา  พสิมเป็นกองหลังไปตีพระนครศรีอยุธยา

ขณะนั้นมีหนังสือบอกถึงกาญจนบุรีเข้ามาพระนครศรีอยุธยา ว่าชาวด่านไปถีบด่านถึงตำบลจอยยะได้เนื้อความว่าสมเด็จพระเจ้าหงสาวดียกมาข้ามพลเมืองเมาะตะมะถึง 7 วันจึงสิ้น

Advertisement

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช ตรัสให้เทครัวเมืองตรีจัตวาและแขวงจังหวัดเข้าพระนคร แล้วมีพระราชกำหนดขึ้นไปถึงเมืองพระพิษณุโลกว่าถ้าศึกหงสาวดีมาติดพระนครศรีอยุธยาเมื่อใด ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาเอาทัพเมืองเหนือทั้งปวงยกมาเป็นทัพกระหนาบ แล้วตรัสให้พระยาจักรีออกตั้งค่ายตำบลลุมพลีถือพลหมื่นห้าพัน ล้วนใส่เสื้อแดงหมวกแดง

“ฝ่ายพระมหานาคอยู่วัดภูเขาทอง สึกออกมารับอาสาตั้งค่ายกันทัพเรือ ตั้งแต่วัดภูเขาทองลงมาจนวัดป่าพลู พรรคพวกสมกำลังญาติโยมทาสชายทาสหญิงของมหานาค ช่วยกันขุดคูนอกค่ายกันทัพเรือ จึงเรียกว่าคลองมหานาค”

[พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2542 หน้า 73]

Advertisement

คลองมหานาค วัดภูเขาทอง อยุธยา เป็นต้นแบบคลองมหานาค วัดสระเกศ (มีภูเขาทอง) กรุงเทพฯ จนทุกวันนี้ (มีเรือประจำทางทุกวันแล่นไปคลองแสนแสบ)

 

อ้างศาสนาปราบปรามฝ่ายตรงข้าม

ข้ออ้างยอดนิยมในรัฐจารีตเพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ต้องยกเรื่องพุทธศาสนา เช่น ฝ่ายตรงข้ามทำลายพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนาฝ่ายตรงข้ามเสื่อมเศร้าหมอง ต้องมาทำนุบำรุงให้ดี

ครั้งหนึ่งพระเจ้าอลองพญายกทัพปราบปรามกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ให้อำมาตย์ส่งเครื่องราชบรรณาการถวายพระเจ้าอลองพญา ขอพึ่งพระบรมเดชานุภาพ            พระเจ้าอลองพญา ตรัสสั่งอำมาตย์ไปทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา มีเนื้อความในพระราชพงศาวดารฯ ดังนี้

“ซึ่งเรายกพยุหโยธาทัพใหญ่มาครั้งนี้ มิใช่เราประสงค์ยกมาทำร้ายให้ราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยาเสียไปเมื่อไร เพราะเราเห็นว่ากรุงศรีอยุธยานี้เป็นแห่งหนึ่งที่พระพุทธศาสนาตั้งอยู่แต่พระพุทธศาสนานั้นยังไม่สู้จะรุ่งเรืองสุกใสนัก

เพราะฉะนั้นเราจึงได้ยกทัพมาปราบปรามซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสุกใสให้มากขึ้นกว่าแต่เก่าเท่านั้น”

[จาก มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2545 หน้า 208]

ที่คัดมาเป็นวรรณกรรมตามจารีตซึ่งแต่งสมัยหลัง แล้วสะท้อนสำนึกทางการเมืองการปกครอง ว่าศาสนาเป็นข้ออ้างความชอบธรรมอย่างหนึ่งเพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม แล้วยังใช้สืบเนื่องจนปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image