รำพึงริมป่าช้าถึงคอร์รัปชั่น (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

(ความชราเป็นโรคอย่างยิ่ง ผมเขียนบทความเรื่อง “รำพึงริมป่าช้าถึงคอร์รัปชั่น” ตอนที่ 1 ทิ้งไว้ในฉบับวันจันทร์ที่ 13 ก.พ. ก็ควรเขียนต่อไปในฉบับวันจันทร์ที่ 20 ก.พ. แล้วก็ลืมไปเพราะอยู่ริมป่าช้าไปมากแล้ว กลับไปเขียนเรื่องอื่น บัดนี้คงจะถูกผีเตือน จึงขอกลับมาเขียนตอนจบครับ)

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวว่า ในเมืองไทยไม่มีคอร์รัปชั่นมาก่อน จนเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 ไปแล้ว
คำกล่าวเช่นนี้ ทั้งถูกและผิดพร้อมกัน

ถูกก็เพราะว่า ก่อนวันที่ 24 มิ.ย.2475 ประเทศไทยยังเป็นรัฐราชสมบัติ (patrimonial state) คือ รัฐและทรัพยากรทั้งหมดในรัฐ ย่อมเป็นสมบัติส่วนบุคคลของราชวงศ์หรือพระมหากษัตริย์ จะทรงแบ่งพระราชทรัพย์นี้ให้ใครบ้าง จะทวงคืนจากใครบ้าง และจะสืบมรดกรัฐนี้แก่ใคร ก็ย่อมเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย รัฐก็ตกเป็นราชสมบัติของคนที่พระราชทานมรดกให้สืบไป

ไม่ใช่ว่าไม่มีการทุจริตคดโกงในรัฐราชสมบัติ มีอย่างดาษดื่นและมีสืบมาจนถึงวันสุดท้ายของรัฐราชสมบัติเลยทีเดียว เช่นในปีแรกๆ ของทศวรรษ 2470 ก็ลือกันให้แซ่ดในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า หัวรถจักรที่กรมรถไฟสั่งซื้อจากเยอรมันนั้น “ส่วนเกิน” มันสูงมากเกินไป ทั้งยังมีกลิ่นฉาวโฉ่ในเรื่องอื่นๆ ออกมาจากกรมรถไฟอยู่เสมอ หรือก่อนหน้าที่ ร.5 จะโอนการเก็บภาษีในหัวเมืองให้แก่มหาดไทย ภาษีที่กรมกองต่างๆ เรียกเก็บมักจะส่งกลับมาถึงคลังหลวงน้อยมาก เพราะถูก “อม” ไว้ระหว่างทางหมด ส่วนเจ้าภาษีนายอากรก็มักติดค้างเงินกรมพระคลังอยู่เสมอ จนหลายรายเป็นหนี้จนล้มละลายไป

Advertisement

ทั้งหมดเหล่านี้ เราเรียกว่าขโมยครับ ไม่ใช่คอร์รัปชั่น เพราะทรัพย์สินที่ถูกคดโกงกันไปล้วนเป็นทรัพย์ของบุคคลคือ พระเจ้าแผ่นดิน ศัพท์โบราณท่านเรียกว่า “บังหลวง” คือปิดบังพระราชทรัพย์ไว้เป็นอาณาประโยชน์ส่วนตัว

โกงประชาชนหรือที่เรียกว่า “ฉ้อราษฎร์” ก็มี แต่เป็นการโกงทรัพย์ของนาย ก. นาย ข. เช่นเป็นข้าหลวงเดินนา เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินอัตราที่พระเจ้าแผ่นดินท่านกำหนดเอาไว้ เป็นนายด่านขนอน ท่านให้เรียกเก็บสินค้าเรือที่ผ่านด่านแค่ร้อยชักสิบ (คือสิบเปอร์เซ็นต์) แต่เรียกเก็บเกินกว่านั้นเพื่อเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัว ก็คือโกงเจ้าของสินค้าที่ขนลงเรือมาขายนั่นเอง

โดยสรุปก็คือ ในรัฐราชสมบัติไม่มีทรัพย์ส่วนรวม หรือภาษาปัจจุบันคือทรัพย์สินสาธารณะ มีแต่ทรัพย์สินของบุคคลเท่านั้น จึงไม่มีคอร์รัปชั่น มีได้แค่ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง”

Advertisement

แต่หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม 2475 ที่คณะราษฎรเตรียมไว้ถวาย ประเทศไทยก็เปลี่ยนเป็นรัฐประชาชาติ (national state) เป็นครั้งแรก เพราะ (รัฐ) ธรรมนูญฉบับนี้ระบุไว้ในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” นั่นก็คือรัฐเป็นสมบัติร่วมกันของประชาชนทุกคน

ข้อกำหนดนี้ทำให้เกิดทรัพย์ส่วนรวม หรือทรัพย์สินสาธารณะที่เราทุกคนเป็นเจ้าของขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ฉ้อราษฎร์และการลักขโมยยังมีอยู่ต่อไป ทั้งทรัพย์ราษฎรและทรัพย์ของพระเจ้าแผ่นดิน แต่เป็นทรัพย์ของบุคคล ไม่ใช่ทรัพย์สาธารณะ ส่วนบังหลวงนั้นไม่มี จะมีก็แต่คอร์รัปชั่น คือการเบียดบังทรัพย์สาธารณะต่างๆ

แต่คุณคึกฤทธิ์ก็ผิด เพราะท่านกล่าวคำนี้เมื่อหลัง 2475 ตัวท่านเองก็กล่าวถึงเมืองไทยเมื่อก่อน 2475 ประหนึ่งว่าบ้านเมืองเป็นสมบัติของประชาชน และด้วยเหตุดังนั้น การ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” จึงต้องเป็นคอร์รัปชั่นแน่

ตราบเท่าที่ยังไม่มีสำนึกว่ามีทรัพย์สินสาธารณะที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ตราบนั้นก็ไม่มีคอร์รัปชั่น มีแต่ขโมย สำนึกจึงมีความสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ไม่น้อยไปกว่าเทคนิควิธีการตรวจสอบก่อนโกงหรือหลังโกง, กฎหมาย, ข่าวสารข้อมูลและความโปร่งใส

แต่สำนึกในที่นี้ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม ผมพูดเช่นนี้ ไม่ถูกเสียทีเดียวนัก สำนึกนี้เกี่ยวกับศีลธรรมแน่ แต่ไม่ใช่ศีลธรรมเก่าที่เรารู้จักคุ้นเคย

ศีลธรรมที่เอามาจากศาสนามีแต่เรื่องขโมย คือเอาของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้มาเป็นของตน ผิดด้วยบาปแน่นอน แม้ในปัจจุบันก็ยังผิดและบาปอยู่ แต่นั่นเป็นเรื่องของทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินสาธารณะ ดังนั้น เด็กที่ถูกสอนว่าโตไปไม่โกง อาจไม่ขโมยของใครเลย แต่โกงหรือฉ้อเอาทรัพย์สินสาธารณะได้หน้าตาเฉยโดยไม่สำนึกว่าผิดเลย แม้แต่เมื่อถูกจับได้ ก็ยังนึกเพียงว่ากูพลาดตรงไหนหว่า

ศีลธรรมโบราณอีกชนิดหนึ่งใกล้เคียงมากกับการคอร์รัปชั่นในปัจจุบัน พ้นเขตเมืองซึ่งมีพระราชอำนาจหนาแน่นออกไป มีทรัพยากรกลางที่คนในหมู่บ้านถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกันอยู่ เช่น บ่อน้ำ, ท่าน้ำ, ทุ่งเลี้ยงสัตว์, ป่าบุ่งป่าทาม, ป่า, วัด, ศาลผี, ฯลฯ ด้วยเหตุดังนั้นจึงมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้แต่ละคนในชุมชนต้องใช้และบำรุงทรัพย์สินสาธารณะเหล่านี้หลายอย่าง โดยมีผีหลายชนิดและหลายตัวคอยกำกับ อาจให้โทษแก่ผู้ละเมิดได้ นี่คือ “ศีลธรรม” แน่ แต่แคบเกินไปสำหรับโลกปัจจุบัน คือมีอำนาจบังคับใช้แคบเฉพาะในชุมชนเดียว และตั้งอยู่บนฐานที่แคบเกินไปคือ ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติจริงและเสมือนในชุมชนหนึ่งๆ

ถึงอย่างไร เราก็ไม่เคยพยายามขยายศีลธรรมนี้ออกเป็นสากลในช่วงที่บ้านเมืองเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐประชาชาติ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงอาจกล่าวได้ว่าศีลธรรมเช่นนี้ “หมดอายุ” ลงแล้ว ทั้งในชนบทและเมือง

ดังนั้น หากต้องการจะสอนลูกหลานให้โตไปไม่โกงอย่างจริงจัง จึงต้องเข้าใจศีลธรรม “ใหม่” ที่ตอบสนองต่อบาปชนิดใหม่ให้ดี คือต้องอบรมให้ลูกหลานเคารพต่อทรัพย์สินสาธารณะ หรือทรัพย์สินส่วนรวม ไม่ล่วงละเมิดเอาเป็นของตนเอง นับตั้งแต่การตื่นสายทำให้พี่ไปโรงเรียนสายและพ่อ-แม่ทำงานสายไปด้วย คือการคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง เพราะเวลาไม่ได้เป็นของส่วนตัวอีกแล้ว หากเป็นทรัพย์สินกลางที่ต้องใช้ร่วมกันกับคนอื่นในครอบครัว การตื่นสายจึงเท่ากับโกงของส่วนรวมไปเป็นประโยชน์ของตนเอง

เด็กที่จะโตไปไม่โกงต้องมีสำนึกเรื่องทรัพย์สินสาธารณะอย่างดี ไม่เฉพาะแต่เพียงบรรยากาศภายในบ้านให้ความเคารพต่ออะไรที่เป็นส่วนรวมเท่านั้น บรรยากาศในบ้านเมืองก็ต้องเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อไรที่บ้านเมืองถูกปกครองประหนึ่งเป็นสมบัติส่วนบุคคล ไม่ว่าจะผ่านการรัฐประหารหรือการเลือกตั้ง เมื่อนั้นการสอนเด็กให้โตไปไม่โกงก็เป็นเรื่องยาก หรือทำได้ไม่จริงจัง เพราะเห็นอยู่โทนโท่ว่า ทรัพย์สาธารณะสำคัญๆ ถูกผู้มีอำนาจริบเอาไปแจกจ่ายพี่น้องเพื่อนฝูงเหมือนเป็นสมบัติส่วนตัว บ้านเมืองถูกเปลี่ยนจากรัฐประชาชาติ จะมาพูดอะไรกับเรื่องการละเมิดทรัพย์สินสาธารณะของเอกชน

บรรยากาศบ้านเมืองที่เอื้อต่อการปราบคอร์รัปชั่นคือความเป็นรัฐประชาชาติ นั่นคือรัฐหรือชาติเป็นสมบัติร่วมกันของทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง ใช้กำลังยึดเอาบ้านเมืองไปจัดการเอง ประหนึ่งว่าพวกเขาเป็นเจ้าของชาติยิ่งกว่าคนทั่วไป

สองอย่างที่ดูไม่เกี่ยวกันคือระบอบปกครองกับคอร์รัปชั่นจึงเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะเมื่อไรที่พูดถึงคอร์รัปชั่น เรากำลังพูดถึงทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งมีได้เฉพาะในรัฐประชาชาติเท่านั้น

อีกด้านหนึ่งที่การเมืองไปเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นอย่างแยกไม่ออกก็คือ การเรียกเก็บค่าต๋งในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ช่วยรักษาให้คนรวยมีโอกาสมากกว่าคนจน ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถกีดกันมิให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาแข่งขันได้ เพราะต้นทุนในการประกอบกิจการย่อมสูงขึ้น จนเกินกว่าคนจนหรือผู้ประกอบการรายย่อยจะสู้ได้

ขอยกตัวอย่างเรื่องไฟฟ้า หากเราพยายามส่งเสริมให้การผลิตไฟฟ้ากระทำโดยชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย (เช่น ใช้เชื้อเพลิงจากวัสดุเหลือใช้ของโรงงาน, เล้าหมู, หลังคาโกดัง, ฯลฯ ดังที่ทำกันในยุโรปหลายประเทศ) โดยบริษัทขนาดใหญ่ยังมีบทบาทในการผลิตอยู่เฉพาะด้านสร้างเสถียรภาพในการจ่ายไฟ โอกาสที่จะเกิดคอร์รัปชั่นกับเรื่องสายส่ง, ถ่านหิน, หรือการวางนโยบายพลังงาน ก็เกิดได้ยากขึ้น

ในแง่นี้ คอร์รัปชั่นจึงช่วยผดุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ, การเมือง และสังคม ที่ไม่เป็นธรรมเอาไว้ด้วย

ความหมายที่แท้จริงของการต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทยคือ การสร้างรัฐประชาชาติที่สมบูรณ์ขึ้น จนยากที่ผู้มีอำนาจทางการเมือง, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จะฉกฉวยเอาชาติไปเป็นสมบัติส่วนตัว และการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ที่ไม่เพียงแต่ปล่อยให้คนใหญ่ๆ ได้แข่งขันกันอย่างเท่าเทียม (มีเงินอุดผู้มีอำนาจได้ครือๆ กัน) หากต้องทำให้คนเล็กคนน้อยมีพื้นที่ของตนเองที่มั่นคงปลอดภัยในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมด้วย เช่น ชาวประมงชายฝั่งสามารถหาปลาป้อนตลาดเล็กๆ ของตนได้ อย่างเดียวกับที่อุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ก็สามารถป้อนตลาดใหญ่ภายในและภายนอกได้ต่อไป

จึงเกิดคำถามขึ้นว่า เราต้องการต่อต้านคอร์รัปชั่นจริงหรือ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image