ดุลยภาพดุลพินิจ : ยูนูส นักธุรกิจเพื่อสังคมสู่ผู้นำคนใหม่ของบังกลาเทศ

ดุลยภาพดุลพินิจ : ยูนูส นักธุรกิจเพื่อสังคมสู่ผู้นำคนใหม่ของบังกลาเทศ

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดการประท้วงของนักศึกษาและลุกลามกลายเป็นเหตุจลาจลใหญ่ในประเทศบังกลาเทศ สาเหตุเกิดจากปัญหาที่นักศึกษาประท้วงนโยบายกำหนดโควต้าตำแหน่งราชการที่ไม่เป็นธรรม จนเกิดการสูญเสียชีวิตของผู้ประท้วงถึง 300 คน ในที่สุดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม กลุ่มนักศึกษาและผู้ประท้วงได้เข้ายึดที่พักของนายกรัฐมนตรี ทำให้นางชีค ฮาซินา ผู้คุมบังเหียนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมานานถึง 15 ปี ต้องลี้ภัยไปยังประเทศอินเดีย กองทัพบังกลาเทศได้มาควบคุมความสงบชั่วคราวและยอมรับข้อเสนอของนักศึกษาซึ่งเรียกร้องให้นายมูฮัมหมัด ยูนูส ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารธนาคารกรามีน ซึ่งเป็นต้นแบบของธนาคารของคนจนที่โด่งดังไปทั่วโลกให้มารับตำแหน่งผู้นำในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เราลองมาศึกษาชีวิตและความคิดของมูฮัมหมัด ยูนูสกันนะคะ

มูฮัมหมัด ยูนูส เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2483 เป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจเพื่อสังคม และนายธนาคารของผู้ยากไร้ชาวบังกลาเทศที่ได้รับรางวัลโนเบลด้านสันติภาพในปี 2549 ร่วมกับธนาคารกรามีนที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง

ยูนูสเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง มีบิดาเป็นช่างทำเครื่องประดับ ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิฟูลไบรท์ เพื่อไปเรียนเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในปี 2515 เขาได้เป็นหัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจิตตะกอง (University of Chittagong)

Advertisement

เขาเริ่มทำงานกับชุมชนขณะที่บังกลาเทศเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพงครั้งใหญ่ในปี 2517 ยูนูสพบว่า คนยากจนที่บังกลาเทศถูกเอาเปรียบจากปล่อยกู้ขนาดเล็ก (Micro-Finance) โดยผู้ปล่อยเงินกู้รายย่อยหน้าเลือด ถึงแม้ยูนูสในขณะนั้นจะเป็นเพียงอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ยังสามารถที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้พ้นจากความทุกข์ทรมานได้ โดยใช้เงินส่วนตัวเพียงเล็กน้อยของเขาเอง จากประสบการณ์ครั้งนั้นจึงทำให้เขาลุกขึ้นมาสวมบทบาทเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมและเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีนสำหรับผู้ยากไร้ในที่สุด

ธนาคารกรามีนสามารถก้าวข้ามอุปสรรคจนสามารถเอาชนะความยากจนและล้มล้างความเชื่อที่ว่าคนจนจะไม่จ่ายหนี้คืนหากไม่มีหลักประกันได้ โดยการสร้างนวัตกรรมระบบสินเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับผู้กู้ยืมในชนบทและมีฐานะยากจน โดยผู้กู้ส่วนใหญ่ที่เป็นไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน แต่ต้องให้สัญญาว่าจะให้ลูกๆ อยู่ในโรงเรียน รวมถึงต้องรักษาสุขภาพและสวัสดิภาพของครอบครัวด้วย

Advertisement

หลักฐานความสำเร็จ คือ ธนาคารสามารถให้บริการผู้กู้ยืมหลายล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง จากข้อมูลในปี 2565 ระบุว่า ธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 2,568 แห่ง มีรายได้ 2,360 ล้านยูโร และมีการจ้างงานรวม 18,203 คน โดยธนาคารสามารถคงอัตราการชำระหนี้ให้อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 90 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการระดมทุนจากนักลงทุนที่เห็นถึงความสำคัญของธุรกิจเพื่อสังคม โดยเงินทุนของนักลงทุนจะได้รับการชำระคืนแค่เพียงเงินต้น ไม่มีการปันผล เพราะถือเป็นเงินลงทุนรูปแบบหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ในการให้ยืมและขยายกิจการต่อไปได้ ซึ่งเงินทุนของนักลงทุนและเงินทุนของธนาคารเองได้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงและลดความยากจนในบังกลาเทศอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการขยายขบวนการการเงินรายย่อย (microfinance) ขึ้นสำหรับคนจนขึ้นทั่วโลก

ยูนูสคิดว่าระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่เป็นที่มาของปัญหาความยากจน การเอาเปรียบ ความเหลื่อมล้ำ และการถลุงทรัพยากรธรรมชาติ เขาจึงมีความมุ่งมั่นที่จะออกแบบกลไกทางเศรษฐกิจแบบใหม่ เพราะกลไกทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโลกอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้นกลับทำให้ปัญหาเหล่านี้เลวร้ายลงไปอีก เขาเชื่อว่าจะต้องเปลี่ยนกลไกทางเศรษฐกิจใหม่ จากกลไกตลาดที่อยู่บนรากฐานของการสร้างกำไรสูงสุดสู่การสร้างธุรกิจเพื่อสังคม

ยูนูสเห็นว่าหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมที่บริษัทหรือองค์กรธุรกิจทุกองค์กรควรมีคือ

1) ไม่สร้างผลกระทบทางลบหรืออันตรายต่อชีวิตแก่ผู้ใดก็ตามบนโลกใบนี้ หรือกล่าวได้ว่าไม่ทำให้โลกอยู่ในฐานะที่เสี่ยงกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ยังรวมถึงความเสี่ยงต่อคนงานในกิจการของตัวเองรวมทั้งการผลิตสินค้าและบริการที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

2) ธุรกิจที่รับผิดชอบนั้นไม่เพียงทำให้โลกนี้ปลอดภัยแต่ต้องช่วยให้โลกนี้ปลอดภัยมากขึ้น ไม่ใช่แค่ไม่สร้างมลพิษหากจะต้องไปช่วยลดมลพิษในภาพรวมด้วย หรือไม่เพียงแต่ทำสินค้าที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคแต่จะต้องทำสินค้าที่ปลอดภัยมากขึ้นกว่าปกติด้วย

3) ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม ปฏิบัติตามกฎหมายของท้องถิ่นและกฎระเบียบนานาชาติ

ตั้งแต่ปี 2554 ยูนูสเข้าไปพัวพันทางการเมืองจนเกิดปัญหากับผู้นำประเทศ ทำให้เขาถูกถอดออกจากตำแหน่งบริหารธนาคารกรามีน (โดยเหตุผลว่าเขามีอายุเกินวัยเกษียณแล้ว) ตามมาด้วยคดีความอีกมากมาย

จนในที่สุดได้ถูกฟ้องในความผิดฐานละเลยการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการแรงงานในกรามีนเทเลโฟนซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของธนาคารกรามีน จึงถูกตัดสินให้ต้องจำคุก 6 เดือน และถึงแม้ได้รับการประกันตัว แต่คดียังอยู่ในศาล จนกระทั่งในเดือนสิงหาคมที่กลุ่มนักศึกษาและผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้ยูนูสมารับตำแหน่งผู้นำประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

ถึงแม้ยูนูสจะต้องคดีความมากมายภายในประเทศ แต่เขาก็ยังคงเดินหน้าทำงานธุรกิจเพื่อสังคมอย่างไม่หยุดหย่อน อีกทั้งสังคมนานาชาติก็ยังให้ความยกย่อง โดยล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนปี 2566 เขาได้รับการแต่งตั้งโดยสหประชาชาติให้เป็นกรรมการใน the Advisory Board of Imminent Persons on Zero Wastes และท้ายที่สุด ในวันนี้ยูนูสได้กลายเป็นผู้นำประเทศโดยความยินยอมของกองทัพที่ฟังเสียงประชาชน

คนไทยก็อยากมีกองทัพที่ฟังเสียงประชาชนเหมือนกัน!

ที่มา : โครงการการออกแบบระบบบริหารแผนงานการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise:SE.) .2567. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image