คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : สตาร์ตอัพ “เพย์สบาย” สู่วิถีมืออาชีพ “เพย์พาล”

เป็นยักษ์ใหญ่อีเปย์เมนต์รายล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวเข้าสู่ตลาดบ้านเราอย่างเป็นทางการ สำหรับ “PayPal” โดยเข้ามาตั้งสำนักงานสาขา แต่งตั้งผู้จัดการประจำประเทศไทยคนแรก ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน “สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี” อดีตผู้ก่อตั้งบริการชำระเงินออนไลน์สัญชาติไทย นาม “เพย์สบาย” ที่ขายให้ยักษ์มือถือดีแทคไปเมื่อหลายปีก่อน

อันที่จริง “สมหวัง” ถือได้ว่าเป็นสตาร์ตอัพไทยรุ่นแรกๆ ในบ้านเรา แต่วันนี้ เขาคิดกลับทางไปจากคนรุ่นใหม่ยุคนี้ที่อยากเป็น “สตาร์ตอัพ” ก่อร่างสร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมากกว่าที่จะเป็นมนุษย์เงินเดือน

เขาเลือกที่จะผละจากวิถีสตาร์ตอัพมาสู่ความเป็นผู้บริหารมืออาชีพแทน

“สมหวัง” เล่าย้อนให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นของ “เพย์สบาย” ที่เขาและเพื่อนสร้างขึ้นมาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน มีแรงบันดาลใจมาจากเพย์พาล ดังนั้น การได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ระบบงาน มารับผิดชอบการทำตลาด และบุกเบิกธุรกิจของเพย์พาลในประเทศไทยในฐานะผู้บริหารมืออาชีพสำหรับเขาจึงเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก

Advertisement

เหมือนเดินย้อนไปหาจุดเริ่มต้นของตนเอง หลังจากก่อตั้งบริษัทสร้างธุรกิจของตนเองสำเร็จมาแล้ว

“ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของวัยด้วย พออายุมากขึ้นก็เริ่มคิดอีกแบบ ผมมองว่าการได้มาทำงานกับเพย์พาลทำให้ได้เรียนรู้ระบบการทำงานที่เป็นระดับโลก เพราะปัจจุบันเพย์พาลเปิดให้บริการมาแล้ว 18 ปี ใน 200 กว่าประเทศทั่วโลก รองรับ 25 สกุลเงินต่างประเทศ และมีบัญชีผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 197 ล้านคน”

การเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทย มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการเพิ่มจำนวนร้านค้า และผู้ซื้อให้เข้ามาใช้บริการในระบบของเพย์พาลมากขึ้น ซึ่งในขาของผู้ประกอบการจะพุ่งเป้าไปยังธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจส่งออก เป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดแข็งของ “เพย์พาล” จากบัญชีผู้ใช้ที่มีอยู่ทั่วโลกมากถึง 197 ล้านบัญชี แบ่งเป็นเฉพาะในเอเชียมีอยู่ 14.6 ล้านบัญชี

Advertisement

“คู่แข่งของเราไม่ใช่ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์เจ้าอื่น เพราะเราเชื่อว่าตลาดนี้ใหญ่มาก และแต่ละรายก็จะมีตลาดของตัวเอง เช่น อาลีเพย์ของอาลีบาบาก็จะเน้นชาวจีนเป็นหลัก ดังนั้นคู่แข่งของเราจริงๆ จึงน่าจะเป็นเงินสด มากกว่าผู้เล่นรายอื่นที่ให้บริการอีเปย์เมนต์ ที่เราเข้ามาในไทยเป็นทางการตอนนี้ เพราะมองว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม และตั้งใจที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดไปต่างประเทศ”

จากการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคกว่า 28,000 คน ใน 32 ประเทศ รวมในประเทศไทยพบว่า ยอดใช้จ่ายออนไลน์ของนักช้อปชาวไทยในปี 2560

มีโอกาสเพิ่มขึ้น 16% จากปี 2559 ที่ 325.6 พันล้านบาท (มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่ 42,215 บาท) เป็น 376.8 พันล้านบาท

ถ้าเจาะจงเฉพาะยอดการซื้อขายข้ามประเทศ “เพย์พาล” คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 84% จาก 60,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาสินค้าที่นักช้อปออนไลน์ข้ามประเทศเลือกซื้อมีอะไรบ้าง

54% เลือกซื้อสินค้าในกลุ่มแฟชั่น ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ ตามด้วยด้านการศึกษา และสื่อบันเทิงต่างๆ ที่ 40% และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ที่ 39%

ผลสำรวจยังระบุอีกว่า นักช้อปออนไลน์ชาวไทย 55% บอกว่ามีแนวโน้มใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้น โดย 82% ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายที่ทำให้หันมาช้อปออนไลน์มากขึ้น

37% มองว่าการส่งของที่รวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ 35% มองว่าประหยัดเงินกว่าการซื้อสินค้าด้วยวิธีอื่น

โดยคนไทยมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซในชีวิตประจำวันมากขึ้นในสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ ของใช้ในครัวเรือน (เติบโต 24%) สินค้าเกี่ยวกับการบริโภค (เติบโต 20%) และสินค้าสำหรับเด็ก (เติบโต 16%)

เมื่อถามต่อว่า นักช้อปชาวไทยซื้อสินค้าผ่านช่องทางใดบ้าง

จากจำนวนคนไทยที่ออนไลน์ทั้งหมด มี 71% ช้อปออนไลน์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายออนไลน์ตามประเภทของช่องทาง ได้แก่ 53% ผ่านเว็บไซต์

สำหรับช้อปปิ้งออนไลน์ด้วยคอมพิวเตอร์ และแล็ปท็อป

27% ผ่านแอพพลิเคชั่นสำหรับช้อปปิ้ง

13% ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ และ 7% ผ่านช่องทางอื่นๆ

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วยกัน ประเทศไทย มีสัดส่วนการช้อปออนไลน์ข้ามประเทศผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับสองรองจากจีน

“เพย์พาล” คาดการณ์ด้วยว่า มูลค่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ยังจะมีการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งด้านการใช้จ่ายผ่านอุกรณ์มือถือ (mobile-commerce) และออนไลน์ ตามจำนวนอุปกรณ์มือถือที่เพิ่มมากขึ้น รวมเข้ากับเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุปกรณ์มือถือใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้การซื้อขายออนไลน์ผ่านอุปกรณ์มือถือ เป็นทั้งประสบการณ์ และโอกาสทางธุรกิจ

โดยในปี 2558 มียอดการใช้จ่ายผ่านอุปกรณ์มือถืออยู่ที่ 98,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% เป็น 141,731 ล้านบาท ในปี 2559 และในปี 2560 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 22% มาอยู่ที่ 173,595 ล้านบาท

“อินเตอร์เน็ต และการใช้อุปกรณ์มือถือที่เพิ่มมากขึ้น กำลังปฏิวัติรูปแบบการค้าปลีกแบบเดิมทำให้การซื้อขายไร้พรมแดนมากขึ้น และถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของธุรกิจไทยในการส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลก และข้อมูลจากการสำรวจของเพย์พาล พบว่าโอกาสในการเติบโตยังมีอีกมากในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลก ด้วยต้นทุนที่ไม่แพงเหมือนการขยายสาขาแบบดั้งเดิม”

ทั้งหมดเป็นเหตุผลว่าทำไม “เพย์พาล” และยักษ์อีเปย์เมนต์ทั้งหลายจึงยกทัพเข้ามาเปิดตลาดในบ้านเราหัวกระไดไม่แห้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image