คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เรายอมรับการถูกโบยตีโดยสมัครใจเพื่อชัยชนะหรือความสำเร็จได้แค่ไหน?

เรายอมรับการถูกโบยตีโดยสมัครใจเพื่อชัยชนะหรือความสำเร็จได้แค่ไหน?

ซน ฮึง มิน กัปตันทีมชาติเกาหลีใต้และสโมสรท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้เล่นชาวเอเชียที่ดีที่สุดตลอดกาล โดยเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ทำประตูได้เกินกว่า 100 ประตูในฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษ

ความสำเร็จนี้ทำให้ ซน อุง จอง พ่อของเขาที่เป็นโค้ชคนแรกและผู้อยู่เบื้องหลังการฝึกซ้อมสั่งสมตั้งแต่เยาว์วัยอันเป็นที่มาของความสำเร็จของเขานั้นเปิดอคาเดมีสอนฟุตบอลโดยมีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ไร้ข้อกังขาของบุตรชายของเขาเป็นเหมือนใบรับรองว่าแนวทางการฝึกสอนฟุตบอลของเขาเป็นวิถีทางแห่งความสำเร็จ แต่กลับปรากฏว่าเด็กหลายคนที่ไปเรียนในอคาเดมีดังกล่าวไปร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจในระดับได้รับบาดเจ็บ รวมถึงการเปิดเผยวิธีการลงโทษของคุณพ่อนักเตะดังว่าโหดร้ายเกินสมควรอย่างไร

เรื่องที่ออกมาเปิดเผยนี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์แตกออกเป็นสองฝ่ายในสังคมของเกาหลีใต้และแม้แต่คนไทยที่ได้อ่านข่าวนี้ ฝ่ายหนึ่งอาจจะเห็นด้วยกับมาตรการทางกฎหมายและการออกมาต่อสู้เรียกร้องของผู้ปกครองและเด็กที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง โดยเห็นว่าไม่ว่าจะมีวิธีการใดๆ ที่อาจจะรับรองความสำเร็จได้ แต่วิธีการดังกล่าวก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิเด็กอันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน

Advertisement

หากความเห็นของผู้คนอีกฝั่งหนึ่ง (ที่เอาจริงอาจจะมากกว่านิดหน่อย) ก็มองว่า ในเมื่อวิถีทางดังกล่าวนั้นชัดเจนว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จได้แน่ และเรื่องนี้ก็เป็นการเข้ารับการฝึกโดยสมัครใจ ดังนั้นจึงควรจะเป็น “เสรีภาพ” ที่ผู้ฝึกสอนสามารถเลือกวิธีการที่ละเมิดสิทธินั้นได้ “บ้าง” โดยผู้เข้ารับการฝึกก็พึงยอมรับเงื่อนไขเดียวกันเพื่อแลกกับความสำเร็จนั้นได้อย่างเสรี ถ้ายอมรับไม่ได้ก็ไม่ควรมาฝึกตั้งแต่แรกหรือลาออกไป กฎหมายหรืออำนาจรัฐไม่ควรก้าวล่วงกับเสรีภาพดังกล่าวนี้

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในวัฒนธรรมของเกาหลีแล้ว การฝึกสอนและเคี่ยวเข็ญบ่มเพาะนักกีฬาด้วยการลงโทษอย่างรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจนั้นเป็นที่ยอมรับกันได้ และเป็นที่รู้กันในระดับโลกด้วยซ้ำ

Advertisement

แต่ถึงกระนั้น เมื่อคุณค่าหลักของโลกอารยะในปัจจุบันคือการยอมรับและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก เกาหลีใต้ที่ถือเป็นประเทศอารยะด้วยก็ต้องยอมรับในคุณค่าหลักดังกล่าวด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไรวิธีการฝึกแบบทารุณอคาเดมีนั้นก็ต้องเป็นเรื่องที่กฎหมายไม่อาจยอมรับและอนุญาตได้

ในที่สุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พ่อและพี่ชายของ ซง ฮึง มิน ที่เป็นผู้ฝึกสอนดูแลอคาเดมีดังกล่าวก็ได้ถูกทางการเกาหลีใต้สั่งลงโทษปรับด้วยข้อหากระทำผิดต่อสวัสดิภาพและทารุณกรรมเด็กและมีมาตรการให้พวกเขาต้องเข้ารับการอบรมและบำบัดเรื่องการใช้ความรุนแรงกับเด็กด้วย

เรื่องของอคาเดมีฟุตบอลเกาหลีใต้ข้างต้นนั้นโยนคำถามใส่เราว่า “เรายอมรับการถูกโบยตีโดยสมัครใจเพื่อแลกกับความสำเร็จได้แค่ไหน”

ถ้าคิดว่าโจทย์ข้างต้นนี้ยากแล้ว เรามีโจทย์ที่ยากกว่าอีกระดับหนึ่ง

ใกล้เคียงกับช่วงที่มีข่าวเรื่องอคาเดมีฟุตบอลเกาหลีใต้ เพจ “เขียนไว้ให้เธอ” ซึ่งเป็นนามปากกาของ คุณธนา เธียรอัจฉริยะ นักธุรกิจระดับผู้บริหารที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยก็มีโพสต์เรื่อง “วินัยของน้องจีน” เป็นที่ฮือฮาและได้รับการแชร์ไปถึงตอนนี้มากกว่า 8 พันครั้ง

ข้อเขียนนี้เล่าถึงวินัยและความทุ่มเทต่อการทำงานอย่างยิ่งยวดของลูกจ้างชาวจีนผ่านประสบการณ์ของนายจ้างชาวไทยที่ได้ร่วมงานด้วย นับตั้งแต่การมาสัมภาษณ์เข้าทำงาน โดยทุกคนจะยืนยันนัด และมาตามนัดก่อนเวลาและแต่งตัวเรียบร้อย คำถามที่ผู้สมัครถามเกี่ยวกับบริษัทที่จะจ้างคือรูปแบบการทำงานว่าตัวเองจะทำประโยชน์อะไรให้องค์กรได้ เมื่อเข้าทำงานแล้วก็ทุ่มเทเต็มที่ มาก่อนเวลาจัดการธุระตัวเองให้เสร็จก็รีบทำงานโดยแทบไม่ลาป่วยลากิจ เว้นแต่จะถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลกันจริงๆ นอกจากนี้ก็ทำงานแบบทุ่มเทเต็มเวลาและเกินเวลา โดยเสนอว่าให้เรียกหรือติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน

ซึ่งเทียบไม่ได้กับวินัยการทำงานของลูกจ้างชาวไทยที่เป็นเหมือนด้านตรงข้ามไปเสียหมด เช่นในการสัมภาษณ์งานก็นัดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง คำถามก่อนทำงานกับบริษัทก็เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์วันหยุดวันลา และก็พร้อมที่จะลาตามสิทธิ นอกจากนั้นการทำงานในเวลางานก็เป็นไปในแนวเคร่งครัดต่อองค์กรแต่ผ่อนปรนให้ตัวเอง ฯลฯ

อ่านถึงตรงนี้ถ้าใครจะง้างมาเตรียมด่าว่าเป็นเรื่องของ “คนรวย” หรือนายจ้างผู้ประกอบการมาสั่งสอนให้ลูกจ้างที่มีฐานะด้อยกว่าต้องทำงานอย่างขยันขันแข็งระดับสังเวยชีวิตเพื่อประโยชน์ของตนแล้วละก็ เรื่องการทุ่มเททำงานแบบลูกจ้างชาวจีนนี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนคือคุณธนาเองก็ไม่ได้เห็นด้วยหรือชอบใจนัก

เพราะเขาเองแม้จะเป็นผู้บริหารก็ถือว่าอยู่ในสถานะของ “ลูกจ้าง” ที่ก็ไม่ได้ชอบทำงานหนักและไม่คิดว่าคนเราจะต้องทุ่มเทอะไรขนาดนั้น ถึงกับรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่ไม่ต้องไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แข่งกันแบบจีน เพราะตัวเขาเองก็อาจจะไม่รอดเอาเหมือนกัน

คุณผู้เขียนได้สรุปบทเรียนว่าเพราะเรื่องที่ได้ยินได้ฟังนี้ทำให้พอเข้าใจได้ว่าทำไมคนจีนส่วนหนึ่งที่เข้ามาทำธุรกิจที่ไทยก็มักจะพาลูกจ้างจีนมาทำงานด้วย นั่นเพราะอยากทำงานกับคนที่มีวินัยในการทำงานแบบที่คุ้นเคย และด้วยการทำงานหนักด้วยวินัยเช่นนี้ทำให้ธุรกิจจีนนั้นทำกำไรได้ดีกว่ากิจการของคนไทยภายใต้เงื่อนไขและสิ่งแวดล้อมเดียวกัน

ก่อนจะปิดท้ายว่า ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่กับการทำงานบ้าระห่ำแบบทุ่มเทเอาตัวเข้าอย่างไม่สนใจ work life balance แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังต้องแข่งกับกลุ่มคนแบบนี้ทั้งในระดับลูกจ้างปัจเจกชน และในระดับองค์กรธุรกิจ เพราะอย่างที่ทราบ องค์กรธุรกิจชั้นนำในจีนนั้นก็มีวัฒนธรรมการทำงานแบบ 9-9-6 คือ คือ ทำงาน 9 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม (หรือ 9 โมงตอนค่ำ) ให้ได้ 6 วันต่อสัปดาห์

ข้อเขียนข้างต้นนี้ดีมากจนอยากให้ผู้อ่านลองไปหาอ่านกันดูเต็มๆ มากกว่า (เชื่อว่ามิตรสหายของหลายท่านน่าจะแชร์กันมาแล้ว) เพราะคุณผู้เขียนนั้นให้น้ำหนักเรื่องการทำงานหนักที่ว่านั้นได้อย่างตรงไปตรงมาแบบไม่ตัดสิน

ดังนั้นโจทย์ข้อนี้ที่มีว่า “เรายอมรับการทำงานหนักแบบระห่ำ (อย่างลูกจ้างชาวจีน) เพื่อแลกกับความสำเร็จได้แค่ไหน” จึงเป็นคำถามที่ยากกว่าคำถามแรก

เพราะเรื่อง “ทารุณอคาเดมี” นั้นมันเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของอีกฝ่ายอย่างชัดเจน แต่การทุ่มเททำงานหนักนั้นดูเป็นเรื่องของ “เสรีภาพ” ในการไขว่คว้าความสำเร็จโดยยอมแลกด้วยบางสิ่งบางอย่างมากกว่า และเสรีภาพเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกแทรกแซงไม่ว่าจากฝ่ายใด

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถพูดได้เช่นกันว่า “เสรีภาพในการทุ่มเททำงานหนัก” นั้นทุกกรณีไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายหรือไม่เป็นการละเมิดสิทธิใคร

ในทางกฎหมายนั้น ก็มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เป็น “เพดาน” กำหนดชั่วโมงและวันทำงานสูงสุดเท่าที่กฎหมายจะยอมรับได้ว่าไม่เป็นการรีดเค้นแรงงานจากผู้คนเกินสมควร เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กหรือสิทธิแรงงานหรือเป็นมาตรการเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเช่นระยะเวลาสูงสุดที่อนุญาตให้คนทำงานควบคุมเครื่องจักรหรือยานพาหนะได้

การกำหนดเงื่อนไขคุ้มครองแรงงานนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ทางยุโรปจะมีชั่วโมงและวันทำงานสูงสุดตามกฎหมายต่ำกว่าประเทศในเอเชียหรือฝรั่งอเมริกา แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่สูงเกินกว่าเกณฑ์สากลซึ่งกำหนดไว้โดยองค์กรแรงงานโลก ที่เป็นเหมือนกฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับต่อกฎหมายภายของประเทศต่างๆ อีกต่อหนึ่ง

พูดง่ายๆ คือ “โลก” และ “รัฐ” เป็นผู้กำหนดว่าความขยันทุ่มเทระดับไหนที่สังคมแห่งรัฐนั้นๆ จะยอมรับได้

นอกจากนี้การปล่อยให้ผู้คนมี “เสรีภาพในการทำงานหนัก” เพื่อแลกกับความสำเร็จหรือชัยชนะ ก็อาจจะส่งผลที่เป็นการบีบบังคับให้คนอื่นในสังคมจำเป็นต้องเพิ่มมาตรฐานการทำงานหนักตามกลุ่มคนที่ใช้เสรีภาพในการทำงานหนักนั้นด้วย โดยจะเรียกว่าสมัครใจก็ไม่เต็มปาก เพราะนั่นต้องเป็นไปเพื่อความอยู่รอดและผลลัพธ์หรือรางวัลจากการทำงาน ที่ตอบแทนกันด้วยกฎ “ทำมากย่อมได้มาก” อันเป็นพื้นฐาน

และการยอมรับวัฒนธรรมการทำงานหนักเกินสมควรก็ยังอาจนำไปสู่กลไกการรีดเค้นแรงงานที่บังคับให้คนทำงานหนักในระดับที่ลูกจ้างบางคนต้องแลกด้วยชีวิต เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีคนต้องทำงานหนักจนถึงแก่ความตายโดยไม่สมัครใจ แต่เกิดจากการบีบคั้นกดดันของสังคมแห่งการทำงานหนัก จนต้องมีการปฏิรูประบบการทำงานกันใหม่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดขึ้น ซึ่งก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

พูดง่ายๆ คือ ทางเลือกของ “เสรีภาพในการยินยอมทำงานหนัก” เกิดสมควรโดยไม่มีขอบเขตก็อาจจะไปลิดรอน “เสรีภาพในการเลือกทำงานตามสมควร” อันเป็นทางเลือกของคนที่เหลือในสังคมที่อาจจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ได้โดยปริยาย

แม้แต่ในสังคมจีนเองก็ใช่ว่าทุกคนจะยินยอมพร้อมใจกับการมีวินัยหรือการทำงานหนักขนาดนั้นเสมอไป เพราะก็เริ่มปรากฏว่ามีคนรุ่นใหม่ในจีนต่อต้านภาวะการแข่งขันกันทำงานแบบทุ่มเทยิ่งยวดนั้น ไปสมาทานกับแนวคิด “ปล่อยชีวิตให้เน่าไป” ที่เรียกว่า “เป่ยหลาน” (Bai lan) หรือก่อนหน้านี้ก็มีเทรนด์หรือแนวคิดแบบ “ถ่างผิง” (Tang ping) ซึ่งถ้าแปลตามตัวคือ “นอนราบ” แต่ถ้าให้ได้ตามบริบทก็เป็นเหมือนการทิ้งตัวลงไปเลื้อย ใช้ชีวิตไปแค่พอผ่าน ทำมาหากินตามปกติ เอาแค่พอมีงานทำมีกินไปวันๆ แบบไร้จุดหมายและความฝัน

หรือถ้าเรากลับไปคุยกันเรื่องการฝึกซ้อมกีฬาแบบถึงเนื้อถึงตัวอคาเดมี ก็มีปัญหาในตัวของมัน คือเมื่อ “สังคม” ยินยอมให้ผู้ฝึกสอนใช้ความรุนแรงเพื่อรีดเค้นความสำเร็จจากตัวนักกีฬาได้บ้างแล้ว ก็สุ่มเสี่ยงว่าผู้ฝึกสอนนั้นจะใช้ความรุนแรงตามอำเภอใจหรือเพื่อประโยชน์แอบแฝง เช่นกรณีการละเมิดทางเพศหรือกลั่นแกล้งทำร้ายถึงตายในสังคมกีฬาบางวงการของเกาหลีใต้

เขาควายสำคัญของปัญหาเรื่องการยอมรับการถูกโบยตีทำร้าย หรือทำงานหนักเกินสมควรโดยสมัครใจเพื่อแลกกับความสำเร็จนั้น มันดันไปสอดคล้องกับกฎพื้นฐานข้อหนึ่งของทุนนิยมที่อาจจะเป็นกฎของธรรมชาติก็ว่าได้

กฎที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทุ่มเทมากกว่าจะได้ผลลัพธ์ยิ่งกว่าคนที่ทุ่มเทน้อยกว่าในบริบทเงื่อนไขเดียวกันอยู่แล้ว เช่นการปลูกต้นไม้ 10 ต้น ก็น่าจะเก็บผลไม้ได้มากกว่าการปลูกต้นไม้ 5 ต้น บนผืนดินที่มีสภาพแวดล้อมเดียวกันแทบจะแน่นอน

ต่อให้เราไม่ยอมรับและเลือกอีกทางหนึ่ง ที่อาจจะสอดคล้องกับคุณค่าของตัวเราหรืออีกหลายส่วนของโลกมากกว่า แต่ก็จะมีคนยินยอมและพร้อมที่จะยอมรับการทำงานหนักหรือการโบยตีเพื่อความสำเร็จอันเป็นสีเทาๆ ดำๆ นั้นอยู่แน่นอน ที่สุดท้ายพวกเขาก็จะเป็นผู้ชนะหรือได้รางวัลของการเลือกหนทางเช่นนั้นด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image