ดาบสองคม : โดย ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา “การขัดแย้ง” ทางการเมืองในประเทศไทยเกิดขึ้นและยังคงอยู่

รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แต่ก็เกิดการ “ขัดแย้ง” ทางการเมืองระหว่างกลุ่มสีเหลืองกับสีแดง นำมาซึ่งการรัฐประหารในปี 2549

ถัดมาเกิดปม “ขัดแย้ง” ระหว่าง “ม็อบนกหวีด” กปปส. กับพรรครัฐบาล ก่อให้เกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ.2557

ในต่างประเทศ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาล่าสุด เมื่อปี 2559 ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่ประกาศนโยบายก่อนการหาเสียงอย่างชัดเจนว่า “อเมริกามาก่อน” ทันทีที่รับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาก็ดำเนินการตามนโยบายที่เขาหาเสียงไว้อย่างชัดเจน เช่น กรณีลงนามเพื่อถอนตัวสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลง TPP รวมถึงให้มีการกั้นพรมแดนระหว่างเม็กซิโก (Mexico)

Advertisement

สหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว ดำรงอยู่มาได้ 200 ปี นับจากนี้ไปก็เห็นได้ว่ามีกลุ่มชน กลุ่มประชาชน กลุ่มประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำลังก่อตัว เป็น “คู่ขัดแย้ง” ต่อต้านทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

แม้กระทั่งลายเซ็นที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ได้ลงนามในคำสั่งเพื่อถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP ก็มีภาพออกให้เห็นในโลกออนไลน์ โดยมีคนตั้งข้อสังเกตว่าตัวอักษร ซึ่งเขามีแค่ 11 ตัว แม้จำนวนขีดที่เขาเขียนลายเซ็น มีมากกว่า 30 ขีด และใช้เวลาในการเซ็นชื่อ 6-7 วินาที ลายเซ็นไม่มีส่วนโค้งแม้แต่นิดเดียว บางคนนำมาวิเคราะห์ว่าเหมือนเลื่อยบ้าง เหมือนคลื่นหัวใจ (EKG) หรือลายเซ็นหมอ มีนักวิเคราะห์ลายมือที่ออกมาแสดงความเห็นว่าเป็นลายมือที่ทรงพลังเหมือน “คลื่นแผ่นดินไหว” แสดงถึงความทะเยอทะยาน กระตือรือร้น ดื้อรั้น และไม่กลัวใคร ต้องดูต่อไปว่า “ลายมือ” กับ “บุคลิก” กับ “พฤติกรรม” ของจริงจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐอเมริกาประเทศมหาอำนาจของโลก กับมวลสมาชิกของประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นพันธมิตร หรือเคยเป็นคู่ขัดแย้งกันมา

โลกปัจจุบัน เป็นโลกไร้พรมแดน เป็น “Single World” มีโลกเดียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทุกทวีปเชื่อมต่อกันเป็นเชิงประจักษ์ และเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว แต่สภาพในทางจิตใจ และในทางปัญญาของ “มนุษย์” ข้อเท็จจริงแล้วไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางรูปธรรมที่เป็นโลกไร้พรมแดนถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ปัญหามีแต่แบ่งแยกมากขึ้น

Advertisement

มนุษย์จะมีชีวิตที่ดี ที่สมบูรณ์ ก็จะต้องประสานเข้ากันกับโลกหรือจักรวาล หรือกับสิ่งทั้งปวง ต้องมองทั่วตลอด และมีแนวคิดที่หยั่งสิ่งเหล่านี้ได้ มองเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะประสานกันได้ และมีแนวคิดประสานกันอย่างกลมกลืน ถ้าเบื้องต้นเราไม่มีแนวคิดเชิงประสาน แต่มีความข้าใจ ความเชื่อ มีความยึดถือที่แปลกแยก ปัญญาก็ไม่เอื้อ จิตใจก็ไม่เกื้อกูล ไม่ยอมฟังกัน ไม่รับรู้ และไม่เข้าใจกัน ก็ประสานเข้ากันไม่ได้ มีแต่ปัญหา “ความขัดแย้ง” อันนี้เป็นปัญหาของ… “อารยธรรม” กรณีตัวอย่างของประเทศไทย ขณะนี้เกิดมาต่อเนื่องกว่า 1 ทศวรรษ

อารยธรรมปัจจุบัน เป็นอารยธรรมแห่งความขัดแย้ง เพราะเป็นอารยธรรมที่ตั้งบนฐานของ แนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ เป็นที่รู้กันว่าอารยธรรมตะวันตก ถ้าเป็นตามแนวคิดตลอดเวลายาว นานเกือบ 3,000 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ คือ ถือว่า “มนุษย์จะมีความสุขสมบูรณ์ มีความสำเร็จที่แท้ ต่อเมื่อพิชิตธรรมชาติได้ เอาชนะธรรมชาติได้”

บนฐานแนวคิดนี้ ชาวตะวันตกก็มุ่งหน้าแต่จะเอาชนะธรรมชาติตลอดมา แล้วก็ได้ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม เป็นการพัฒนาตามแนวทางของอารยธรรมปัจจุบัน ที่มากับความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม

“วิทยาศาสตร์” เกิดขึ้นและเจริญขึ้นมาเพื่ออะไร? ลึกลงไปในใจของชาวตะวันตกก็เพื่อล้วงความลับของธรรมชาติเพื่อเอาความรู้มาใช้จัดการกับธรรมชาตินั้น โดยพัฒนา “เทคโนโลยี” ขึ้นมา แล้วเอา “เทคโนโลยี” ไปจัดการกับ “ธรรมชาติ” เพื่อให้ “ธรรมชาติ” อยู่ใต้อำนาจเป็น “ทาส” รับใช้สนองความต้องการของ “มนุษย์”

แนวคิดและเจตจำนงที่มุ่งมั่นของชาวตะวันตกนี้ ได้ทำให้เกิดการพัฒนาเจริญก้าวหน้าจริงๆ ได้ ได้สมดังใจปรารถนาว่าวิทยาศาสตร์ก็เจริญ เทคโนโลยีก็เจริญ แล้วพอเทคโนโลยีเจริญ ก็มาประสานกับแนวคิด “วัตถุนิยม” แล้วสร้าง “เงินตรา”…ที่ว่า ถ้ามนุษย์มีวัตถุสิ่งเสพบริโภคบริบูรณ์ ก็จะมีความสุขสมบูรณ์จากแนวคิดนี้ ก็ทำให้เอาเทคโนโลยีมาพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการนำเอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบที่จะผลิตสิ่งเสพบริโภคให้แก่มนุษย์ ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง พรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ อันนี้คือตัวแกนของ “อารยธรรมปัจจุบัน” จนท้ายสุดปัจจุบันนี้กลายเป็นกระแสบริโภคนิยมไปเสียแล้ว

แต่ยังไม่ทันที่มนุษย์ในอารยธรรมปัจจุบันนี้ จะบรรลุจุดหมายแห่งการมีความสุขสมบูรณ์ด้วยการมีวัตถุเสพบริโภคอย่างล้นเหลือบริบูรณ์ การพัฒนาตามแนวคิดพิชิตธรรมชาติ เพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ก็กลายเป็นการ “เบียดเบียน” ทำลายธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงและความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติจนกระทั่งเกิดการต่อต้าน ขัดแย้ง ทำลายกันต่างๆ นานา ระหว่างพวก “อนุรักษ์” กับ “ทุนนิยม”

ในที่สุด “มนุษย์” โดยเฉพาะชาวตะวันตก ก็รู้ตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมนั่นรุนแรงมาก ถึงขั้นจะทำให้โลกพิบัติ และมนุษย์ต้องสิ้นสลาย แนวคิดพิชิตธรรมชาติที่เป็นฐานของอารยธรรมที่ดำเนินมานั้น ได้ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่ความพินาศ ดังนั้น การพัฒนาอย่างที่ทำกันมาเพื่อมุ่งได้ผลทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของธรรมชาติ จึงไม่อาจจะให้ดำเนินต่อไป และแนวคิดพิชิตธรรมชาติก็ทิ้งเป็นไปไม่ได้ และหมดความชอบธรรม มนุษย์ต้อง “คิดใหม่” ที่จะอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูลและกลมกลืน เป็นมิตรกัน… ถึงตอนนี้อารยธรรมถึงจุดหักเห มนุษย์ที่ว่าเจริญ บอกกันว่าจะต้องทำการพัฒนาแนวใหม่ ดังที่ปี 2530 (1987) “สหประชาชาติ” (UN) ได้พิมพ์เอกสารสำคัญที่สุดแห่งทศวรรษว่าด้วยอนาคตของโลกออกมา ตั้งชื่อว่า “Our Common Future” ซึ่งทำให้เกิดการใช้คำใหม่ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) ขึ้นมาอย่างจริงจัง โดยเน้นว่าจะต้องทำการพัฒนาชนิดที่เศรษฐกิจก็ดี สิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้หรือสิ่งแวดล้อมก็อยู่ดี เศรษฐกิจก็ไปได้

ถามว่าตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ถึงปี 2560 “รวม 30 ปีแล้ว” ที่เราพูดกันนักหนาว่าคิดแนวใหม่ๆ มนุษย์ทำได้สำเร็จไหม? ตอบว่า “ไม่ได้” การแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนก็ไม่คืบหน้า ยังวนอยู่ในอ่างดูได้จากอะไร? ก็ยังพบว่าสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งเสื่อมโทรมหนักลง ซ้ำร้ายยังเกิดปัญหาใหม่ซ้ำซ้อนขึ้นมาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ดังที่ปรากฏเป็นข่าวคราวทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง ดังเช่นกรณี “แทนทาลัม” ที่ภูเก็ต จวบจน 10 กว่าปีที่เราตั้งกระทรวงพิเศษ ให้มาดู “ทรัพยากรธรรมชาติ” ก็ยังมีปัญหาหมักหมม ขุดกันทีก็พบประเด็นใหม่ๆ เก่าๆ อยู่เสมอๆ จนเป็นที่ปรากฏในปัจจุบัน ตามหน้าสื่อต่างๆ พูดซ้ำอีกทีคือกลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือจะสั่งงดหรือลดทำลายสิ่งแวดล้อม ก็จะต้องเสียสุขจากการเสพ ครั้นจะสุขเสพให้สม ก็ต้องระดมการทำลายสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้ “ตัวเอง” อยู่ไม่ได้ เป็นปัญหาแห่งความขัดแย้งในจิตใจ

ถึงจะมีการพัฒนา “จริยธรรม” สิ่งแวดล้อมขึ้นมา เป็นจริยธรรมอย่างใหม่ ก็กลายเป็นจริยธรรมที่ไม่ยั่งยืน

ปัญหาเดิมนั้นคือว่า ตัวมนุษย์ผู้มีจริยธรรมขัดแย้งกับธรรมชาติ เพราะว่าจะไปพิชิตทำลายมัน แต่ตอนนี้พอจะไม่ทำลายมัน จะให้ธรรมชาติอยู่ได้ มนุษย์ก็มาขัดแย้งกับตัวเองว่า แล้วเราจะมีความสุขได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรจึงจะอยู่ได้ดี นี่คือปัญหาของโลกยุคนี้ ซึ่งถ้าแก้ได้ โลกาภิวัตน์ก็จะเป็นสภาพที่ดี แต่นี้ทำอย่างไรในเมื่อ globalization ก็สัมฤทธิ
ผลให้ทั่วทั้งโลกถึงกันหมดได้แล้ว เหมือนจะสมตามความจริงของธรรมชาติที่มันเป็นอย่างนั้น แต่พอเจริญเป็น globalization ขึ้นมาจริงๆ… ตัวมนุษย์กลับไม่พร้อมทั้งทางจิตใจและทางปัญญา จึงอยู่ในภาวะไม่รับกัน ไม่สมกัน ไม่สอดคล้องกัน เป็นปัญหาแห่งความขัดแย้งในตัวมนุษย์เองที่จะต้องแก้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน กรณีของ Brexit ในสหราชอาณาจักร กรณีที่อเมริกาต้องมาก่อน กรณีของประธานาธิบดีป้ายแดง “โดนัลด์ ทรัมป์” หรือกรณีลุกลามในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เป็นต้น แม้ในประเทศไทยเราก็เกิดเป็นระยะๆ ดังเช่น กรณีการอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่รัฐบาลบอกให้ทำได้ เอ็นจีโอต่อต้านหน้าทำเนียบ ก็ต้องกลับมาทบทวนที่เดิมใหม่

หากดูเฉพาะหน้าเวลานี้ แนวคิดตะวันตกถึงจุด “ติดตัน” แล้ว แม้กระทั่งประเทศไทย เมื่อมาถึงจุดนี้ที่ว่าจะทำอย่างไร จะอนุรักษ์ธรรมชาติ จะรักษาสิ่งแวดล้อมได้ ก็ต้องใช้วิธีทาง “จริยธรรม” แต่จริยธรรมแบบตะวันตกนั้นเป็นการฝืนใจ ไม่ยอมตามใจตนเอง คือ เพื่อให้ยั่งยืน ให้คนอื่น ให้ธรรมชาติอยู่ได้ เราต้องยับยั้งตัวเองไว้ ซึ่งเป็นการฝืนใจและเป็นจริยธรรมแห่งความทุกข์

ในทางพุทธศาสนาไม่ได้มองแยกออกจากกันว่า โลกว่าเราหรือเขาหรือว่าอะไร แต่มองรวมทั้งหมดก่อนว่า สิ่งทั้งหลาย คือ สภาวธรรมทั้งหลาย เป็นสภาวธรรมเป็นธรรมชาติทั้งหมด เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน เมื่ออันหนึ่งเป็นอย่างไรก็ส่งผลต่ออันอื่น มนุษย์เป็นองค์ประกอบ เป็นปัจจัยธรรมชาติที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ “พัฒนาได้” ที่เรียกว่า เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ไม่เหมือนองค์ประกอบอื่น เสมือนหนึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เกิดและเป็นได้ 2 ด้าน ดั่ง “เหรียญสองด้าน” มีเกิดก็มีตาย มีสว่างก็มีมืด มีดีก็มีชั่ว มีประโยชน์ก็มีโทษ เป็นของคู่กันไปแล้วแต่กาลเวลาและมุมที่ “มนุษย์” จะมอง โดยสรุปว่า

“มนุษย์” เป็นสัตว์ที่ฝึกพัฒนาได้ ทำให้มีปัญญาได้ จนถึงขนาดเข้าถึงความจริงของธรรมชาติทั้งระบบนั้นได้ มีศักยภาพที่จะเอื้อต่อระบบ อยู่กันแบบเกื้อกูลกัน “ไม่เห็นแก่ตัวเบียดเบียนน้อยลง” อยู่ร่วมกันดีขึ้น ถ้าถึงขั้นอุดมคติได้ ก็เรียกว่า… คือ “โลกที่เป็นสุข ไม่เห็นแก่ตัว ไร้การเบียดเบียน” ต่างจากอุดมคติตะวันตกที่ว่า “โลกที่มนุษย์มีชัย ได้เป็นนายของธรรมชาติ” การเกิดความสมดุลแห่งชีวิตระหว่าง “คนอยู่ดี ธรรมชาติอยู่ได้ สังคมเป็นสุข” แก้ปัญหาประเด็นที่ว่า แก้ขัด “นอก” ก็เกิดแย้ง “ใน” หรือถ้าพูดให้ชัด ก็อนุมานได้ว่า “วิทย์-เทคโนฯ” ยิ่งเจริญ ก็เป็น “ดาบสองคม” ได้ไงเล่าครับ

ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image