สบช. มุ่งสู่สถาบันอุดมศึกษาระดับโลกด้านปฐมภูมิ ‘World Class University for Primary Care’
สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหนึ่งเดียวสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ผลิตบุคลากรด้านการสาธารณสุขสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุขไทย ได้รับการยกระดับเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปัจจุบันมี 3 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ และมีโครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และอีกหลายคณะด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยภายใต้คณะมีวิทยาลัยในสังกัดกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 42 แห่ง สามารถผลิตบุคลากรด้านสุขภาพได้ 5,000-8,000 คน ต่อปี
ในยุค Digital Disruption สบช. ยกระดับสู่การเรียนการสอนในระบบ Cloud University โดยบูรณาการ ความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ เช่น การผลิตหลักสูตรสองปริญญา ธนาคารสะสมหน่วยกิต สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มีความสอดคล้องกับแผนผลิตกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข ระบบการเรียนการสอนของ สบช. แสดงถึงบทบาทของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ด้วยหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ที่มีการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายสุขภาพกับเครือข่ายของชุมชน อีกทั้งมีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการพัฒนาและผลิตกำลังคนด้านสุขภาพ ในศตวรรษที่ 21 ดังเห็นได้จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพในระบบบริการปฐมภูมิของประเทศไทยเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 ช (5) และ มาตรา 55 หรือ 9 หมอ จำนวน 62,000 คน โดยไปบรรจุใน รพ.สต. ทั่วประเทศ 9,820 แห่ง ให้ครบ 100% ระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2568-2577) วงเงินกว่า 37,234 ล้านบาท ตามมติ ครม. วันที่ 20 ก.พ.2567 เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่น เพิ่มการเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง ลดความแออัดในการรับบริการสุขภาพระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ช่วยประเทศลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ
สบช.จัดเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มผู้นำทั้งในและระดับนานาชาติ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย พ.ศ.2568-2570 การมุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในการผลิตบุคลากรและสร้างองค์ความรู้เพื่อการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ (World Class University for Primary Care) ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์หลัก (4 Pillars) ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ 1.การยกระดับการศึกษาด้านสุขภาพปฐมภูมิสู่ความเป็นเลิศ (Excellence in Primary Care Education) ประเด็นยุทธศาสตร์ 2.ยกระดับการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพปฐมภูมิสู่ความเป็นเลิศ(Excellence in Primary Care Research and Innovation) ประเด็นยุทธศาสตร์ 3.เครือข่ายการบริการวิชาการด้านสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นเลิศ (Excellence in Primary Care Services and Network) และ ประเด็นยุทธศาสตร์ 4.การขับเคลื่อนระบบบริหารจัดการสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง (Excellence in Organizational Management)
พระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า “ความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่การเรียนรู้ แต่อยู่ที่การนําความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ” (True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind) จากที่ทรงสำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ และประกาศนียบัตรสาธารณสุข จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2471 ประกอบกับ สบช.ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วโลก เช่น องค์การอนามัยโลก University of Dundee, UK และ Harvard University, USA
ซึ่งล่าสุด ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร ได้รับเกียรติเชิญเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ (Board of Advisers) Lancet Global Health Commission on People-Centered Care for Universal Health Coverage จากผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาทั้งหมด 13 ท่าน จะมีการประชุมและแต่งตั้งในการประชุม 82nd United Nations General Assembly, September 2027 นอกจากนี้ สบช.กำลังดำเนินการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแผนการบูรณาการสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยนวัตกรรมสุขภาพปฐมภูมิต่อไป
ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข