คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : การ ‘ตื่นรู้’ และ ‘ความหลากหลาย’ ที่ล้มเหลว

ถ้าใครรู้สึกแปลกใจว่าทำไมในช่วงนี้นิยายปกรณัมจีนเรื่อง “ไซอิ๋ว” และตัวเอกของเรื่องอย่าง “หงอคง” หรือ “เห้งเจีย” อยู่ๆ ก็กลับมาเป็นกระแสกล่าวถึงกันในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ นั้น สาเหตุก็มาจากปรากฏการณ์ความสำเร็จของวิดีโอเกม Black Myth Wukong

Black myth Wukong ที่อาจจะแปลได้ว่า “ตำนานลับหงอคง” เป็นเกมระดับ AAA แนวผจญภัยผู้เล่นคนเดียวที่อ้างอิงต่อยอดมาจากวรรณกรรม “ไซอิ๋ว” จากบริษัท Game Science ซึ่งเป็นค่ายเกมสัญชาติจีนที่มีผู้เล่นพร้อมกันกว่า 2 ล้านคนในวันแรกที่เปิดให้เล่น และยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนจะแตะหลัก 10 ล้านชุดได้ในเวลาไม่ถึงเดือน แม้จะข้อเท็จจริงว่าผู้ซื้อและผู้เล่นเกมส่วนใหญ่จะมาจากประเทศจีนก็ตาม ถึงอย่างนั้นเสียงชื่นชมในด้านต่างๆ ก็ทำให้เกมนี้ถูกมองว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการเกมจีนในระดับโลก

ความสำเร็จอย่างถล่มทลายของ Black myth Wukong ถูกนำไปเทียบกับเกมอีกเกมหนึ่งที่วางจำหน่ายไล่เลี่ยกันแต่ได้รับผลตอบรับทั้งยอดจำหน่าย จำนวนผู้เล่น และเสียงวิพากษ์แตกต่างกันอย่างฟ้ากับเหว คือเกม Concord (คองคอร์ด) ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ผู้เล่นหลายคนแนวยิงต่อสู้กันของตัวละครโจรอวกาศที่ผลิตโดย Firewalk Studios ซึ่งถือเป็นบริษัทผลิตเกมย่อยสัญชาติอเมริกันในเครือของ Sony PlayStation อีกที

เกมคองคอร์ดนั้นใช้เวลาพัฒนาถึง 8 ปี และใช้เงินในการพัฒนาไปราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อเกมนี้เปิดให้บริการกลับปรากฏว่ามีผู้เล่นพร้อมกันที่เก็บสถิติได้เพียงประมาณ 600 กว่าคนทั่วโลก ส่วนยอดขายนั้นอาจจะมากกว่าจำนวนผู้เล่นอยู่บ้าง แต่ภาพรวมโดยสรุปก็นับเป็นความล้มเหลวในระดับที่บริษัทแม่คือ Sony ต้องตัดสินใจปิดบริการและถอดเกมออกจากการขายทุกรูปแบบ รวมเวลาเปิดให้เล่นทั้งหมดได้เพียง 14 วัน

Advertisement

การล้มเสียงดังของเกมในสังกัดผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกที่ใช้เวลากับต้นทุนเม็ดเงินในการพัฒนาอย่างมหาศาลของเกมคองคอร์ดนั้นถูกมองว่าเป็นความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของการนำเสนอประเด็นการตื่นรู้ หรือ “Woke” กับความหลากหลายที่นับรวมทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในสังคม “DEI” (Diversity, Equity, Inclusion) ลงในสื่อสร้างสรรค์บันเทิงยุคใหม่

“Woke” ซึ่งเป็นกริยาช่องสองของ wake ที่แปลว่าตื่นนี้ หมายถึงการ “ตื่นรู้” ว่าที่ผ่านมานั้นวัฒนธรรมกระแสหลักของโลกถูกครอบงำโดยแนวคิดที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมจากเพศ เชื้อชาติ สีผิว ที่ส่งผลอย่างแนบเนียนให้ตัวเอกในสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ และเกม จะต้องมีตัวเอกเป็นชายเชื้อสายฝรั่งผิวขาวซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากความคิดแบบชาวฝรั่งคอร์เคซอยเป็นเชื้อชาติหลักของโลกและเพศชายเป็นใหญ่ ส่วนตัวละครอื่นๆ ก็ต้องสวยหล่อกันแบบ “พิมพ์นิยม” ด้วยรูปลักษณ์ตามแบบฉบับที่สังคมเชื่อว่านั่นคือ ความงามที่เรียกว่า Beauty Standard คือผู้ชายต้องรูปร่างสูงใหญ่สมส่วน หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็ร่างเล็กผอมบางมีส่วนเว้าส่วนโค้ง

Advertisement

ผู้ที่สมาทานกับแนวคิดการ “ตื่นรู้” จึงต้องพยายามนำเสนอความแตกต่างหลากหลายนั้นลงไปในสื่อต่างๆ เพื่อให้ผู้คนได้เห็นว่านี่คือ คุณค่าทางจริยธรรมใหม่ที่สังคมโลกจากนี้ควรจะต้องยึดถือ เราจึงได้เห็นว่าภาพยนตร์ในช่วงสองสามปีนี้ มีการนำเสนอผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ สีผิว และเพศสภาพลงไปเป็นตัวละครในเรื่อง รวมทั้งพยายามสื่อแสดงถึง “ความงามในแบบฉบับของตัวเอง” ที่คนจะมีรูปลักษณ์อย่างไรก็ต้องเป็นพระเอกนางเอกได้ไม่จำเป็นต้องขาวผ่องผอมสูง หรือมีรูปร่างดี ไม่มี “พิมพ์นิยม” ว่ารูปร่างหน้าตา หรือสีผิวแบบไหนถึงจะเรียกว่าหล่อสวย

เกมคองคอร์ดนั้นชัดเจนว่า มีความพยายามออกแบบเกมตามแนวคิดข้างต้นนี้อย่างจงใจโดยการออกแบบตัวละครต่างๆ ที่ผู้เล่นต้องสวมบทบาทให้มีรูปลักษณ์ หรือการแต่งตัวแบบที่หลุดกรอบมาตรฐานไปไกล เช่น ตัวละครดูเหมือนเป็นเพศหญิงรูปร่างบึกบึนทาปากสีน้ำเงิน มีตัวละครที่อ้วนแบบคนน้ำหนักเกิน มีตัวละคร LGBTQ และตัวละครที่ไม่ตัดสินใจเกี่ยวกับเพศของตัวเอง โดยข้อมูลรสนิยมทางเพศของตัวละครนี้ถูกนำไปแสดงไว้ในข้อมูลการเลือกตัวละครอย่างโจ่งแจ้งแต่ไม่จำเป็น เพราะนั่นไม่ได้มีผลอะไรต่อการเล่นเกมเลย

แต่การหยิบเอา “แนวคิดดีๆ” เหล่านั้นเพื่อนำเสนอจริยธรรมใหม่ของโลกที่ผู้คนควรจะยอมรับกลับได้รับผลตอบรับที่ไม่ดีนักจนนำไปสู่ความล้มเหลวของสื่อบันเทิงที่แทรกสอดแนวคิดของการตื่นรู้และนับรวมไม่เลือกปฏิบัติที่ว่านั้นเกิดขึ้นต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้มีกรณีตัวอย่างความล้มเหลวที่เชื่อว่าเกิดจากการสอดแทรกความคิด Woke และ DEI ลงไปในสื่อบันเทิง เช่น ซีรีส์ภาพยนตร์ Star Wars ภาค The Acolyte ที่มีตัวเอกเป็นเด็กสาวผิวดำ และปรมาจารย์เจไดที่แสดงโดยดาราเกาหลี ก็เพิ่งประกาศว่าจะไม่มีการทำซีซั่นต่อไปเนื่องจากความล้มเหลวของยอดผู้ชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ลงไป รวมถึงเกม Star Wars : Out laws ที่ผู้สร้างจงใจให้ตัวเอกของเกมเป็นผู้หญิงที่หน้าตา “ธรรมดา” ถึงขนาดผู้สร้างแก้ไขใบหน้าของนางแบบที่นำมาเป็นตัวแสดงในเกมให้ลดความดูดีลงไปอย่างเห็นได้ชัด ก็ได้รับการตอบรับที่ไม่ค่อยดีและคำวิจารณ์เชิงลบจากผู้เล่นจนส่งผลต่อยอดขายที่ฉุดรั้งมูลค่าหุ้นของ Ubisoft ผู้ผลิตเกมให้ร่วงลงไปเป็นประวัติการณ์

กรณีของเกมคองคอร์ดเป็นกรณีที่ล้มเสียงดังและพังพินาศยับเยินที่สุดดังที่กล่าวไป จนเป็นเหมือนการประกาศชัยชนะของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวจนมีกลายเป็นคำกล่าวว่าถ้าตื่นรู้ยัดเยียดความหลากหลายก็เตรียมล้มเหลว (Go Woke, Go Broke)

แต่ถ้าตัดเอาเรื่องความ Woke และประเด็น DEI มาพิจารณากันเฉพาะเรื่อง “คุณภาพ” ของเกมและซีรีย์เหล่านั้นล้วนๆ ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ความ Woke อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวหรือปัจจัยสำคัญอันแท้จริงของความล้มเหลว อย่างเกมคองคอร์ดนี้ผู้ที่ได้ลองเล่นต่างก็กล่าวกันว่าระบบการเล่นนั้นไม่ได้น่าสนุกหรือมีอะไรใหม่ ความผิดพลาดอันหนักหนาที่สุดคือ เกมนี้เลือกที่จะเป็นเกมที่ผู้เล่นต้องจ่ายเงินซื้อมาเล่น ในขณะที่เกมประเภทเดียวกันในปัจจุบันนี้ปรับรูปแบบเป็นเกมประเภทเล่นฟรีแต่หารายได้จากการขายของในเกมแทน และเกมเหล่านั้นยังออกแบบการเล่นได้น่าสนุก มีความสมดุล มีตัวละครหลากหลายดึงดูดกว่า แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่คนจะต้องไปเสียเงินซื้อเกมราคาเป็นพันบาทที่ไม่ได้ดีกว่าของฟรี หรือซีรีส์ Star Wars The Acolyte ก็มีปัญหาการดำเนินเรื่องที่เยิ่นเย้อน่าเบื่อและการผูกเรื่องที่ดูไม่น่าเชื่อถือ เกม Star Wars : Outlaws นั้นก็มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของเกมที่เล่นได้ไม่ราบรื่นแม้จะเล่นบนเครื่องเกมหรือคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุดทั้งที่ภาพกราฟฟิกในเกมก็ไม่ได้สวยเด่นเป็นพิเศษอะไร

จุดอ่อนข้อด้อยเช่นนั้นต่อให้เกมหรือซีรีส์นั้นไม่มีความ Woke หรือใส่ความหลากหลายอะไรไปก็น่าจะไม่ประสบความสำเร็จเพราะเนื้อในของมันอยู่แล้ว อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็เคยมีเกมที่อาจจะเรียกได้ว่าใส่แนวคิดแบบ Woke เข้าไปจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เช่น เกม The last of us ภาค 2 ที่เปลี่ยนตัวละครจากหนุ่มใหญ่เป็นเด็กสาวเลสเบี้ยนด้วยการนำเสนอที่โหดร้าย แต่ก็เพราะความดีงามในทุกด้านที่เหลือ เกมนี้ก็ยังคงประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและรางวัลที่ได้รับ รวมถึงถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ที่ก็ได้รับความนิยมมากพอๆ กันด้วย หรืออย่างภาพยนตร์เรื่อง “เงือกน้อยผจญภัย” (The Little Mermaid) ที่ถูกสับยับเยินที่เปลี่ยนนางเงือกน้อยในภาพจำให้เป็นสาวเงือกผิวดำและผมแดงเดดร็อก แต่ภาพยนตร์ก็ประสบความสำเร็จทำรายได้ทั่วโลกได้ถึง 569 ล้านเหรียญจากทุนสร้างราวๆ 290 ล้านเหรียญ

ตัวอย่างข้างต้นอาจจะชี้ได้ว่าความ Woke และการใส่เรื่องความหลากหลาย DEI ก็อาจจะไม่ใช่สาเหตุเดียวของความล้มเหลวของเกมหรือภาพยนตร์ซีรีส์ แต่ถึงอย่างนั้นเกม หรือซีรีส์มีภาพติดไปแล้วว่าล้มเหลวเพราะความ Woke ก็ทำให้โอกาสที่จะได้กลับมาแก้ตัวนั้นหมดไป ประกอบกับการออกแบบตัวละครโดยใส่แนวคิดความหลากหลายและปฏิเสธความงามตามพิมพ์นิยมลงไปก็ทำให้ปรับปรุงแก้ไขได้ยาก เพราะเท่ากับต้องเปลี่ยนตัวละครหลักไปเกือบหมด ดังนั้นโละทิ้งสร้างใหม่ไปเสียเลยน่าจะง่ายกว่า นี่คงเป็นสาเหตุให้ Sony ต้องปิดให้บริการเกมฟอร์มยักษ์เพื่อหยุดการขาดทุน หรือ Disney ตัดสินใจไม่ไปต่อกับ Star Wars : the Acolyte แล้ว

ต้องย้ำอีกครั้งว่าการตื่นรู้และความหลากหลายที่นับรวมทุกคนอย่างเท่าเทียมนั้นไม่ใช่เรื่องแย่ และการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ความคิดแบบชายเป็นใหญ่และค่านิยมความสวยงามตามพิมพ์นิยม Beauty standard นั้นก็เป็นปัญหาในสังคมจริงๆ การให้โอกาสเพศชายเป็นพิเศษ การกีดกันผู้หญิงก็ยังคงมีอยู่ ไม่ยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศก็มีจริง และความงามตามพิมพ์นิยมก็ทำร้ายผู้คนจำนวนมาก เช่นอย่างที่วัยรุ่นชาวไทยที่พยายามใช้เครื่องสำอาง หรือสารเคมีเพื่อให้ตนดูมีผิวที่ขาวขึ้น หรือการลดน้ำหนักเพื่อหวังจะมีรูปร่างผอมเพรียวจนถึงขั้นอดอาหาร หรือล้วงคอให้อาเจียนก็เป็นปัญหาอยู่ในทุกวันนี้

แต่ความพยายามเปลี่ยนแก้ค่านิยมดังกล่าวลงในสื่อบันเทิงด้วยวิธีการที่ยัดเยียด ไม่แนบเนียน และคุณภาพของสื่อนั้นก็ไม่เข้าขั้น ก็ทำให้แนวคิดนี้ถูกมองว่าเป็นจำเลยแห่งความล้มเหลวไปได้ และในที่สุดก็อาจส่งผลในมุมกลับให้ต่อไปนี้ผู้ให้ทุนสร้างภาพยนตร์ เกม หรือซีรีส์ อาจจะ “อ่อนไหว” กับประเด็นความหลากหลายเสียจนต่อไปอาจจะไม่กล้าให้เรื่องมีตัวเอกเป็นผู้หญิง คนผิวสี หรือมีตัวละครที่มีรูปลักษณ์ไม่เป็นไปตามพิมพ์นิยม เพราะกลัวที่ผู้ชมจะมองว่าเป็นการยัดเยียดความคิดแบบ Woke และ DEI แล้วพร้อมใจกันคว่ำบาตร หรือไม่ให้โอกาส แถมที่ร้ายกว่านั้นคือ การปฏิเสธเรื่องความงามตามมาตรฐานพิมพ์นิยมแล้วพยายามนำเสนอ “ความงามที่หลากหลาย” โดยมือไม่ถึงก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำลงไปอีกว่าความหล่อสวยตามมาตรฐานนั้นมีอยู่จริงๆ ให้ปฏิเสธอย่างไรก็ไร้ประโยชน์

ความล้มเหลวของเกมคองคอร์ดและสื่อสร้างสรรค์บันเทิงอื่นๆ ที่สอดแทรกแนวคิดของการตื่นรู้และความหลากหลายที่นับรวมทุกคนอย่างเท่าเทียมไปนี้ เป็นบทเรียนที่ผู้ที่พยายามเปลี่ยนแปลงหรือท้าทายค่านิยม หรือความเชื่อบางอย่างของสังคมที่เป็นกระแสหลักควรใช้เป็นอุทาหรณ์ว่าถ้าทำพลาดไปแล้วอาจจะส่งผลในมุมกลับที่เป็นการเสริมสร้างให้ค่านิยม หรือความเชื่อนั้นกลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และทำลายความชอบธรรมของค่านิยม หรือความเชื่อใหม่ที่พยายามจะปลูกฝังลงไปแทนเสียก็เป็นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image