ความตายของ’คุณอนวัช’ โดย ปราปต์ บุนปาน

ไม่ว่าจะมีความเห็น ความคิด ความเชื่อ และศรัทธาแบบไหน

ข่าวคราวการตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรมของ คุณอนวัช ธนเจริญณัฐ คงนำไปสู่ความรู้สึกชนิดอื่นๆ ไม่ได้

นอกจาก “เสียใจ” และ “เศร้าใจ”

น่าจะไม่มีใครปฏิเสธหลักฐานแวดล้อมที่บ่งชี้ว่าคุณอนวัชเลือกจบชีวิตของตนลงอย่างน่าเศร้า เพื่อประท้วงการออกคำสั่งใช้ ม.44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย

Advertisement

ความตายของคุณอนวัชกำลังบอกอะไรแก่พวกเราบ้าง?

หนึ่ง นี่เป็นอีกครั้งภายในช่วงเวลาราวๆ หนึ่งทศวรรษ ที่มีข่าวคราวสามัญชนคนธรรมดาตัดสินใจสละชีพของตนเอง เพื่อ “อุดมการณ์สูงส่ง” บางอย่าง ตามความคิดความเชื่อของพวกเขา

ก่อนจะมีกรณี “คุณอนวัช” เราเคยมีกรณี คุณนวมทอง ไพรวัลย์ ซึ่งผูกคอตายพิสูจน์อุดมการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของตน หลังรัฐประหารปี 2549

Advertisement

สำหรับบางคน การกระทำของคุณอนวัชและคุณนวมทองอาจมีสถานะเป็นความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่น่าเคารพยกย่อง ขณะที่บางคน อาจเห็นว่านี่เป็นการหลงผิด เชื่อพลาด ถูกหลอกลวงโดยผู้ไม่หวังดี

ทว่า อย่างน้อยที่สุด ทุกฝ่ายในสังคมไทยต้องไม่ประเมิน “ศรัทธา” ของคนให้ต่ำกว่าความเป็นจริง

สอง มิอาจปฏิเสธเช่นกันว่าการกระทำอัตวินิบาตกรรมของคุณอนวัชไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับการประกาศใช้อำนาจตาม ม.44

ไม่ว่าจะมีความปรารถนาดีเพียงใด หรือต้องการจะเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่ถูกมองว่า “เรื้อรัง” มาอย่างยาวนานขนาดไหน

แต่ผลลัพธ์ข้อหนึ่งอันเกิดจากการใช้ ม.44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย ก็คือ “การมีคนตาย”

ดังนั้น รัฐบาลและ คสช.ควรจะต้องเร่งพิจารณาทบทวนว่า ม.44 เป็นมาตรการที่เหมาะสมมากน้อยแค่ไหนในการใช้แก้ไข “ปัญหาต่างๆ” ซึ่งเกิดจากวัดพระธรรมกาย

ถ้ายังเห็นว่า ม.44 คือ “เครื่องมือ” ที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่รัฐจะมีวิธีการ “ประสานทำความเข้าใจ” กับสามัญชนผู้มีศรัทธาหนักแน่น-สูงล้นต่อวัดพระธรรมกายอย่างไร?

หน้าที่ของรัฐต้องทำมากกว่าการซัดหอกกลับไปยังฟากวัดพระธรรมกาย ว่าฝ่ายหลัง “ใช้ศรัทธาของผู้บริสุทธิ์เป็นเครื่องมือ”

สาม แต่ทางวัดพระธรรมกายเองก็ต้องทบทวนท่าทีและยุทธวิธีของตนเองเช่นเดียวกัน

เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมีความสูญเสียเป็น “ชีวิตผู้บริสุทธิ์” ทางวัดก็ควรประเมินว่าวิธีการ “ระดมมวลชน” มาชนกับเจ้าหน้าที่ คือ ยุทธวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจริงหรือไม่? และจะนำไปสู่อะไร?

ทางวัดพระธรรมกาย รวมทั้ง พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย (ซึ่งไม่รู้ว่าไปพำนักอยู่ที่ไหน ณ ปัจจุบัน) ควรจะต้องคิดใหม่หรือไม่ ว่าบางทีการตัดสินใจมอบตัวสู้คดีของพระธัมมชโย อาจเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่ง ซึ่งจะสามารถจำกัดวงความสุ่มเสี่ยง-สูญเสียไม่ให้แผ่ขยายไปไกลสุดกู่

ถ้าวัดพระธรรมกายไม่คิดและนำเสนอรูปแบบการต่อสู้หรือเผชิญหน้ากับภาครัฐในแนวทางอื่นๆ ออกมาเลย คำกล่าวหาที่ว่าทางวัด “ใช้ศรัทธาของผู้บริสุทธิ์เป็นเครื่องมือ” ก็ย่อมจะมีเหตุผลรองรับมากยิ่งขึ้น

สี่ ความตายของคุณอนวัชยังเปิดให้เห็น “บาดแผลใหญ่” ของสังคมไทย ที่ลุกลามไปเกินกว่าประเด็นปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกาย

น่าตั้งคำถามว่าสังคมแบบไหนกัน ที่มีสมาชิกจำนวนมากแสดงอาการหัวเราะเยาะสะใจใส่เพื่อนร่วมประเทศ ผู้เลือกปลิดชีพตนเองท่ามกลางบรรยากาศเศร้าสลดหดหู่?

สังคมแบบไหนกัน ที่สุดท้ายผลลัพธ์อันน่าเสียใจของปัญหาเฉพาะชุดหนึ่ง ก็ถูกลากจูงเชื่อมโยงไปผสมปนเปกับปัญหาชุดอื่นๆ ภายในกรอบความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองระดับชาติ ซึ่งยืดเยื้อมาเกินสิบปี

แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป ในสังคมแบบนี้?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image