คอลัมน์โลกสองวัย : ‘รปภ.’ ไม่ใช่ ‘ยาม’

แฟ้มภาพ

อาชีพหนึ่งที่คุ้นหน้าคุ้นตาน้องหนู ตั้งแต่ออกจากบ้านเช้าตรู่ ถึงสถานศึกษา กลับเข้าบ้านยามเย็นยามค่ำ และทุกหนทุกแห่ง คืออาชีพ “รักษาความปลอดภัย” หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า “รปภ.”

เมื่อก่อนอาชีพนี้เรียกว่า “ยาม” ผู้ที่นิยมทำอาชีพนี้คือ “แขก” ชาวอินเดีย เมื่อมาเป็น “ยาม” จึงเรียกรวมว่า “แขกยาม” นั่งๆ นอนๆ หน้าบริษัท หรือสำนักงานช่วงกลางคืนถึงเช้า รอเจ้าหน้าที่มาเปิดสำนักงาน

ต่อมามี “ไทยยาม” มาทำหน้าที่นี้เป็นหูเป็นตาป้องกันโจรขโมย และคอยเคาะแผ่นเหล็กบอกเวลา

เรื่องของแขกยามมีเรื่องเล่าขานสนุกเรื่องหนึ่งคือเช้าวันนั้น เมื่อผู้จัดการบริษัทมาทำงานเช้า แขกยามเห็นหน้าดีใจ ยิ้มหน้าเป็นเดินเข้าหา บอกว่า อีน่ะนายจ๋า เมื่อคืน ฉานฝานว่า นายถูกลอตเตอรี่น่ะ นายจ๋า ช่วงสายแขกยามคนนั้นโดนไล่ออก เพราะเมื่อคืนหลับยาม

Advertisement

ระยะแรกของการมีพนักงานรักษาความปลอดภัยที่สังกัดบริษัท มีการแต่งเครื่องแบบ พกอาวุธคือกระบอง หรืออาจพกปืนได้กรณีที่ต้องรักษาความปลอดภัยหน้าร้านขายทอง หรือหน้าธนาคาร เมื่อก่อนว่าจ้างตำรวจ ต่อมาว่าจ้างคนจากบริษัทมาทำหน้าที่นี้ แรกๆ ยังเรียกว่า “ยาม” ผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ค่อยชอบขอให้เรียกว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรืออย่างน้อยที่เรียกขานจนติดปากคือ “รปภ.”

เมื่อมีบริษัทห้างร้านต้องรักษาความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น วันนี้จึงมีพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป

เหตุผลการประกาศใช้กฎหมายนี้ คือธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และมีผู้ประกอบธุรกิจนี้จำนวนมาก แต่กลับมีมาตรฐานในการประกอบธุรกิจที่แตกต่างกัน

คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติทำหน้าที่พนักงานรักษาความปลอดภัยคือต้องได้รับอนุญาต สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรรักษาความปลอดภัยจากสถานฝึกอบรมของตำรวจในพื้นที่

นอกจากนั้นยังไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติด ไม่เป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เคยได้รับโทษจำคุกถึงที่สุดในความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เกี่ยวกับทรัพย์ เกี่ยวกับเพศ เว้นแต่เป็นโดยประมาท หรือลหุโทษ หรือพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนวันรับใบอนุญาต

ส่วนบุคคลที่เคยเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยมาก่อนที่กฎหมายบังคับใช้ ไม่ต้องมีคุณสมบัติตามกำหนด แต่ต้องมาขึ้นทะเบียนและฝึกอบรมกับเจ้าหน้าที่ตามกำหนด

การอบรมต้องอบรมกับครูฝึกตำรวจมีความรู้เบื้องต้น กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน การเขียนรายงาน การเตรียมพร้อมกรณีมีเหตุฉุกเฉิน การติดต่อสื่อสาร หลักการใช้กำลัง หรือยุทธวิธีตำรวจ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การจัดการจราจร การฝึกภาคสนาม ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติรวม 40 ชั่วโมง

ส่วนโทษของผู้รักษาความปลอดภัยคือ ผู้ใดทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุก 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท

บริษัทผู้ประกอบการต้องมีจำนวนหุ้นถือโดยบุคคลสัญชาติไทยเกินกึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนบริษัท ต้องมีกรรมการเป็นบุคคลสัญชาติไทยเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนในอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย หากประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งปรับทั้งจำ

ทั้งต่อไปนี้ผู้ที่เป็น รปภ.ต้องมีใบอนุญาต สามารถสมัครเป็น รปภ.ที่ไหนก็ได้ และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานอีกด้วย โก้อย่าบอกใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image