เมื่อใดที่มองไม่เห็น‘เรา’ใน‘พวกมัน’ : โดย กล้า สมุทวณิช

ความตายกลายเป็นมหรสพอีกครั้ง และรอบนี้มีการถ่ายทอดสดด้วย

ภาพที่เราได้เห็นกันในค่ำคืนของวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ตลาดกลางคลองหลวง ปทุมธานีนั้น คล้ายเหมือนฉากหนึ่งในเรื่องสั้นหรือนิยายแนวโลกอนาคตอันมืดหม่น เมื่อผู้คนร่วมกันเฝ้ารอดูวินาทีแห่งความเป็นความตายของใครคนหนึ่ง พร้อมแสดงอารมณ์ของตัวเองออกไปมีส่วนร่วม ด้วยเทคโนโลยีการถ่ายทอดสดแห่งยุคสมัย

จากนั้นผู้คนก็กดปุ่มแสดงความรู้สึกกับภาพที่ถ่ายทอดมานั้น ผู้อยู่ร่วมชมการถ่ายทอดสดยืนยันว่า ปฏิกิริยาที่ผู้คนส่วนใหญ่แสดงออกมาผ่านสัญรูปแทนความรู้สึกหรือ Emoticon ในขณะนั้น คือสัญลักษณ์ใบหน้า “หัวเราะ” (Haha) ปรากฏการณ์นี้ทำให้หลายคนนำไปเปรียบเทียบกับภาพสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยภาพหนึ่ง คือ ภาพจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่
ท้องสนามหลวง ใต้ต้นมะขาม เมื่อศพของเหยื่อแห่งความเกลียดชังถูกนำมาผูกแขวนและทุบตีซ้ำด้วยเก้าอี้เหล็ก เพียงเท่านั้นภาพนี้ก็โหดร้ายสยดสยองมากพออยู่แล้ว แต่ที่ชวนให้หดหู่และน่าขนลุก คือภาพของผู้คนที่รุมล้อมชมการทารุณกรรมซ้ำต่อร่างไร้วิญญาณนั้น ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความพออกพอใจ โดยเฉพาะเด็กชายคนหนึ่งในภาพที่กำลังหัวเราะอยู่

สี่สิบปีผ่านไป รูปแบบของการหัวร่อต่อความตายก็ยังมีอยู่เช่นเดิม เพิ่มเติมเพียงเทคโนโลยีที่ไม่ต้องถ่อไปหัวเราะชอบใจกันถึงสถานที่ตายให้ยุ่งยาก เพียงเปิดหน้าจอส่วนบุคคลขึ้นมาแล้วใช้นิ้วจิ้มแสดงอารมณ์เท่านั้นก็ได้ร่วมแสดงความพอใจต่อความตายของผู้อื่นได้

Advertisement

หลายทรรศนะอาจจะรู้สึกว่าภาพในปี 2560 นั้นชวนสลดหดหู่ยิ่งกว่า เพราะความตายใน พ.ศ.นี้ มีมูลเหตุที่มาจากความขัดแย้งในเรื่องศาสนา ซึ่งชายผู้อยู่บนยอดเสาวิทยุนั้นแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการกับวัดพระธรรมกาย
โดยอ้างว่า “เพื่อบังคับใช้กฎหมาย” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและปราศจากความรับผิดชอบ และเขาเลือกใช้ความตายของตนเพื่อเป็นการประท้วง

ส่วนฝ่ายที่ “ชอบใจ” หรือแม้แต่ไม่ยินแยแสในความตายของชายผู้ประท้วงนั้น เราก็อนุมานได้ว่าเป็นผู้ที่มีความคิดความเชื่ออยู่ตรงข้ามกัน คือเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจรัฐเช่นว่านั้น

คนเหล่านั้นเองที่มักอวดอ้างแสดงตนว่าเป็น “ชาวพุทธแท้” และต่อต้านวัดพระธรรมกายตลอดจนผู้สนับสนุนศรัทธา ในฐานที่เป็นของเทียมเท็จ เป็น “ธรรมกลาย” ที่หมายมาทำลายความบริสุทธิ์ดีงามของ “พุทธแท้” ของตนด้วยกลไกพุทธพาณิชย์และคำสอนที่บิดเบือนไปจากพระธรรมอันบริสุทธิ์ของพระศาสดา

Advertisement

เมื่อเราได้เห็นชาวชนที่อ้างตนว่าเป็น “พุทธแท้กว่า” นั้นแสดงความชอบใจในความตายของผู้อื่นเพียงเพราะเขาสนับสนุน “พุทธอื่น” จึงทำให้รู้สึกสยดสยองอย่างบอกไม่ถูก แต่หากเราย้อนพิจารณาถึงบทเรียนต่างๆ ในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ เราคงต้องยอมรับว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วความแตกต่างกันของ “ความเชื่อ” ทางศาสนานี้เอง ที่ทำให้มนุษย์เราเข่นฆ่ากัน หรือยินดีต่อความตายของมนุษย์ที่มีความเชื่ออื่นอันแตกต่างจากตนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร สงครามที่อ้างนามแห่งศาสนาทั้งหลายในอดีตมาจนถึงปัจจุบันและเชื่อว่าจะมีต่อไปอีกยาวนานในอนาคตนั้นอาจจะทำให้เราพอปลดปลงได้ว่า ลำพังเพียงศาสนาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้มนุษย์ฆ่ากัน หรืออย่างน้อยก็ขอเพียงอย่ายินดีในความตายของมนุษย์ผู้อื่น

สิ่งที่น่าจะเป็นเครื่องรั้งหรือเตือนใจให้มนุษย์นั้นมีความรู้สึกเคารพในชีวิต และเมตตากับมนุษย์ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่น นั้นน่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “มนุษยธรรม” (Humanity)

มีผู้อธิบายไว้ง่ายๆ ว่า “มนุษยธรรม” นั้นคือ ธรรมชาติของมนุษย์ ในการรู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” โดยอนุมานว่ามนุษย์หรือสัตว์ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่นจะรู้สึกเจ็บปวดร้อนหนาวเหมือนกันกับตน ด้วยเหตุนี้มนุษย์ส่วนใหญ่จึงมักจะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับตน และไม่ปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งที่ไม่อยากให้ใครปฏิบัติต่อตนดุจกัน

การเอาใจเขามาใส่ใจเรานี้เองที่ทำให้มนุษย์เรารู้สึกทุกข์ไปกับทุกข์ของผู้อื่นเพราะรู้สึกว่าตนอาจอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นบ้าง และไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยคิดว่าหากตนเองถูกผู้อื่นเบียดเบียนเช่นนั้นบ้างก็น่าจะเป็นทุกข์เช่นกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเรานี้ทำให้มนุษย์สามารถเชื่อมโยงต่อกันได้แม้ไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อกัน แต่เชื่อมโยงกันผ่านความเป็น “มนุษย์” ร่วมกัน

อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของมนุษยธรรมแบบ “ใจเขา-ใจเรา” คือ “เรา” จะต้องเห็น “ตัวเรา” ใน “ตัวเขา” เราจึงจะน้อมรับเอา “ใจเขา” มาใส่ “ใจเรา” และเกิดความเมตตาเข้าใจในตัวผู้อื่นได้

ยิ่งมีความรู้สึกร่วมกันมากเท่าไร ความรู้สึกเข้าใจเห็นใจจะมากขึ้นเท่านั้น อย่างคำที่เราเรียกกันว่า “หัวอกเดียวกัน” ก็ย่อม “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ได้ง่ายกว่า และในทางตรงข้าม หากมีความแตกต่างกันมากเท่าไร ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจก็จะลดน้อยลงไปเท่านั้น

สังเกตจากตัวท่านเองก็ได้ว่า ระหว่างเห็นภาพคนกำลังทุบตีลิง กับกระทำเช่นเดียวกันนั้นกับคน ภาพไหนทำให้ท่านรู้สึกเจ็บปวดในใจได้มากกว่ากัน และเมื่อท่านได้อ่านข่าวเด็กเล็กตกบันไดเลื่อนตายที่ประเทศจีน กับเด็กประสบอุบัติเหตุอย่างเดียวกันในประเทศไทย ข่าวใดทำให้ท่านรู้สึกใจหายได้มากกว่ากัน และยิ่งถ้าท่านมีส่วนร่วมกับผู้ที่ประสบเหตุนั้นเท่าไร เช่น มีบุตรหลานในวัยเดียวกับเด็กที่เป็นข่าวนั้น ความรู้สึกเจ็บปวดร่วมตามไปด้วยนั้นก็จะยิ่งมากขึ้น เพราะใจเรานั้นไปตรงกับใจเขาได้ง่ายขึ้นเพราะความมีส่วนร่วมอันตรงกันนั้น

นี่อาจจะพออธิบายได้ว่า เหตุใดในบางสถานการณ์ของความขัดแย้งนั้น ความเห็นอกเห็นใจของมนุษย์จึงลดลงไปถึงจุดที่ถึงกับยินดีต่อการเจ็บความตายประสบภัยพิบัติของคนอื่นได้

เพราะในความขัดแย้งนั้น จะทำให้มนุษย์เกิดความเชื่อความรู้สึกกำลังจะถูก “พวกอื่น” ที่แตกต่างจากตัวเอง บุกรุกเข้ามาคุกคามทำลายแก่นแกนบางอย่างที่ความเป็นเรานั้นสังกัดอยู่ เช่น พวกคนอื่นนั้นจะมาทำลายชาติศาสนาเรา ทำลายบุคคลหรือหลักการที่เราเคารพนับถือสมาทานอยู่ จากนั้นความเชื่อนั้นก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความหวาดกลัวเกลียดชัง และยกขอบแดนของความแตกต่างขึ้นเป็นกำแพง แบ่ง “พวกเรา” ออกจากฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็น “พวกมัน” ซึ่งเป็นศัตรู

“พวกมัน” ซึ่งแปลกแยกแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเรา จนไม่จำเป็นต้องเอาใจ “มัน” มาใส่ใจ “เรา” เช่นนี้จึงยากแล้วที่จะให้มีความรู้สึกร่วมหรือมีความเห็นอกเห็นใจให้แก่ “พวกมัน” เช่นนี้ “พวกเรา” จึงสามารถมองความเจ็บตายหายนะของผู้อื่นได้โดยไม่รู้สึกกระทบกระเทือนใจ

ในแทบทุกสงครามและความขัดแย้งนั้น จะเริ่มขึ้นด้วยความรู้สึกที่ว่า คู่ขัดแย้งฝ่ายตรงข้ามนั้นไม่ใช่ “คนเหมือนกัน” แต่เป็นสัตว์ไร้ค่าเยี่ยงมดแมลงบ้าง เป็นเผ่าพันธุ์อื่นที่จะมาทำลายเผ่าพันธุ์หรือชาติของเราบ้าง เป็นคนนอกศาสนาที่จะมาทำลายศาสนาหรือความเชื่อของเราบ้าง หรือเป็นชาติเดียวกันก็ดี แต่มีความคิดพฤติกรรมซึ่งจะเป็นภัยอันตรายต่อชาติของเราบ้าง ความรู้สึกนี้อาจจะเกิดขึ้นเอง หรืออาจจะถูกกล่อมเกลาปลูกสร้างขึ้นมาก็ได้

เมื่อนั้น “เรา” ก็สามารถเห็น “พวกมัน” เจ็บตายหรือถูกทำลายได้ด้วยใจอันวางเฉย ไม่มีความรู้สึกผิด เพราะสิ่งที่ถูกทำลายนั้นไม่มีความเชื่อมโยงอะไรกับพวกเรา

ความรู้สึกแยกแบ่งว่า “พวกมัน” ไม่ใช่คนเหมือน “พวกเรา” ทำให้มนุษย์กลุ่มหนึ่งสามารถเอามนุษย์ด้วยกันที่เป็นคนต่างเชื้อต่างชาติไปรมแก๊สพิษ กระทำทารุณกรรม ใช้แรงงานราวกับเครื่องจักร นำไปทำการทดลองทั้งเป็น หรือใช้เป็นวัตถุทางเพศได้อย่างไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิด หรือสามารถประกาศว่าฆ่าคนนอกศาสนาหรือพวกคอมมิวนิสต์นั้นไม่ถือเป็นบาปต่อศาสนา เพราะพวกนั้นไม่ใช่มนุษย์ที่มีความรู้สึกรักสุขเกลียดทุกข์หรือรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับพวกตน

ก็ไม่แปลกที่เด็กน้อยคนนั้นจะยืนยิ้มหัวเมื่อเห็น “พวกมัน” ที่เป็นคอมมิวนิสต์คิดร้ายทำลายชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่แม้แต่ตายไปแล้วก็ต้องนำร่างไปแขวน เอารองเท้ายัดปาก และตีด้วยเก้าอี้พับ ร่างที่ถูกตีนั้นเป็น “พวกมัน” ไม่เหมือนพี่ชายหรือน้าญาติของเขา

เช่นที่คนอีกจำนวนหนึ่งเห็นคนถูกฆ่าตายในเมืองกรุงเกือบร้อยชีวิต ว่าเป็นแค่ตัวอะไรสักอย่างที่ถูกชักจูงเข้ามาเพื่อก่อความเดือดร้อน เกะกะกีดขวาง ตลอดจนเผาบ้านเผาเมือง สมควรตายไปอย่างไม่มีใบหน้า ไม่มีชื่อ ไม่มีชีวิต ไม่เหมือนเพื่อนผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่แม้จะมาจากต่างจังหวัดแต่ก็เป็นผู้มีอุดมการณ์รักชาติรักแผ่นดิน ที่เราได้รู้จักตอนไปร่วมกันปิดล้อมยึดสนามบิน

เหมือนกันกับที่บางคนเมื่อทราบข่าวว่าเกิดแผ่นดินไหวในเขตภาคที่เป็นถิ่นฐานของพวกที่เป็นคนละฝั่งละฝ่ายกับเราในทางการเมืองว่า ก็ให้รู้สึกสะใจว่าสมควรแล้ว ฟ้าดินลงโทษให้เกิดธรณีพิบัติ เพื่อเป็นการสั่งสอนสำหรับพวกไม่หวังดีต่อประเทศชาติ เพื่อที่ในอีกไม่กี่ปี จะถูกยิ้มเยาะกลับบ้างจากคนอีกฝั่งนั้น เมื่อถิ่นฐานบ้านของตัวเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงว่ารอบนี้ฟ้าดินกลับมาลงโทษที่รอไว้เอากับเอ็งเสียแล้ว

จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวเน็ตจำนวนมากผู้ชมการถ่ายทอดสดจึงเห็นเป็นเรื่องสนุกที่ตาลุงคนหนึ่งพยายามเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ลัทธินิกายศาสนาที่เป็นภัยคุกคามต่อศาสนาหลักของชาติที่เรานับถือ และเมื่อเขาสละชีพจริงตามสัจจะ เราก็มองว่าเป็นเรื่องโง่เง่าสมควรตาย-เหมาะควรแก่การกดสัญลักษณ์ยิ้มหัวซ้ำเข้าให้อีกครั้งหนึ่ง เพราะคิดว่าชีวิตของผู้ตายนั้นไม่เหมือนกับลุงเคร่งศาสนาผู้ถืออุโบสถศีลทุกวัน พระสักคนหนึ่งที่เขารู้จัก

เหตุสลดในคืนวันเสาร์ที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงภาพหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความขัดแย้งในสังคมทั่วทุกระดับในทุกเรื่องที่ครอบงำประเทศเราอยู่ร่วมทศวรรษอย่างไม่รู้จะไปจบที่ใดนั้น บั่นทอนทำให้ผู้คนในสังคมของเรามีสภาพจิตใจที่อัปลักษณ์และน่ากลัวเพียงไร

ความขัดแย้งที่ปลูกสร้างความเกลียดชังจนมองไม่เห็นความเป็น “เรา” ในตัวผู้อื่น กำลังกัดกลืนความเป็นมนุษย์ในตัวของเราทุกคน ทุกสี ทุกฝั่ง ให้ลดน้อยลงไปทุกที

 

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image