พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : พลิกแพลง ยืดหยุ่น กระหน่ำ กำราบ สยบ ที่ใจ ‘เสริม’ กำลังทหาร

พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม

กระบวนท่าอันจางเหลียงกับหานซิ่นร่วมกันคิดและลงมือ “ปฏิบัติการ” โดยอาศัย “เสียงปี่” เป็นอาวุธสำคัญครั้งนี มีความสำคัญ
หากเอาขบวนศึกของซุนวูมาจับก็จะเข้ากับหลักการบทที่ 3 ว่าด้วย “กลวิธีรุก”
“อันหลักแห่งการทำศึกนั้นบ้านเมืองสมบูรณ์เป็นเอก บ้านเมืองบอบช้ำเป็นรอง กองทัพสมบูรณ์เป็นเอก กองทัพที่บอบช้ำเป็นรอง
กองร้อยสมบูรณ์เป็นเอก กองร้อยบอบช้ำเป็นรอง
หมวดหมู่สมบูรณ์เป็นเอก หมวดหมู่บอบช้ำเป็นรอง
เหตุนี้ รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง หาใช่ความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยมไม่ มิต้องรบแต่สยบทัพข้าศึกได้
จึงจะเป็นความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยม”

กล่าวอย่างเปรียบเทียบระหว่างทัพของพระเจ้าฌ้อปาอ๋อง กับทัพของพระเจ้าฮั่นอ๋องก็จะมองสภาพความเป็นจริงของแต่ละทัพได้ชัดเจนมากขึ้น
นั่นก็คือ มองอย่างเห็นเป็น “รูปธรรม” ในความเหมือน ในความต่าง
รูปธรรมก็คือ ทัพพระเจ้าฌ้อปาอ๋องบอบช้ำ ขาดเสบียงอาหาร ไม่สะดวกในการส่งกำลังบำรุง
ตกอยู่ในสถานะอันเป็น “รอง”
ขณะเดียวกัน รูปธรรมก็คือ ทัพพระเจ้าฮั่นอ๋อง เมื่อมองผ่านการนำของหานซิ่นมากด้วยความคึกคัก มากด้วยความพร้อมที่จะเข้าสัประยุทธ์
ดำรงอยู่ในสถานะอันเป็น “เอก”
ในความเป็นเอกเช่นนี้เป้าหมายของหานซิ่นและจางเหลียงจึงดำเนินไปภายใต้กระบวนท่าการยึดโดยไม่ต้องเข้าตีด้วยกำลัง
อาศัย “ดนตรี” เป็น “อาวุธ” อาศัย “เสียงปี่”สยบไปยัง “ใจ”

นี่ย่อมสอดรับกับหลักการยุทธ์อันได้รับการสรุปอย่างรวบรัดในยุคสามก๊กโดย “ม้าเจ๊ก” นักรบคนสำคัญของก๊กสู่
ในร่มเงาของ “เล่าปี่” ในร่มเงาของ “ขงเบ้ง”
นั่นก็คือ สูตรที่ประมวลอยู่ภายใต้คำขวัญ “กงซินเหว่ยซ่าง กงเฉินเหว่ยเซี่ย ซิยจ้างเหว่ยซ่าง ปิงจ้านเหว่ยเซี่ย
โจมตีใจเป็นเอก โจมตีเมืองเป็นรอง รบทางใจเป็นเอก รบทางทหารเป็นรอง”
แม้ม้าเจ๊กอาจมีชื่อ “เสีย” จากการตั้งรับที่เกเต๋งเพราะต้องพ่ายแก้ให้แก่ความสามารถอันเหนือกว่าของสุมาอี้
แต่ผลึกแห่ง “ความคิด” นี้ก็มี “คุณูปการ”
นั่นก็คือ เมื่อขงเบ้งเปิดทึกศึกปราบพวกหมานอันเรียกขานว่าเป็นพวกฮวนในดินแดนทางใต้ของก๊กสู่หรือเสฉวน
ขงเบ้งอาศัยมันสมองอันเฉียบแหลมของม้าเจ๊กเป็นเครื่องมือ

คราที่ขงเบ้งเปิดการยุทธ์รุกเข้าไปสยบกับชนเผ่าน้อยต่างๆ ทางภาคใต้ เมื่อต้องสัประยุทธ์กับชนเผ่าหมานที่นำโดยเบ้งเฮก
ก็ม้าเจ๊กซึ่งเป็นนักวางกลยุทธ์นี้แหละที่เป็นคนเสนอ
“ข้าพเจ้ามีความเห็นใคร่ขอให้ท่านพิจารณา ชนเผ่าหมานทางใต้ถือดีว่าอยู๋ห่างไกลในภูดอย แข็งข้อต่อเรามาช้านาน
แม้จะตีพ่ายไปในวันนี้ พรุ่งนี้ก็จะแข็งข้ออีก
ท่านยกทัพไปตีพวกเขาก็จะสยบ ครั้นเมื่อถอนทัพกลับยกไปตีโจผี พวกหมานรู้ว่าเมืองเราอ่อนแอไร้ทหารก็จะยิ่งเร่งรัดแข็งข้อขี้นอีก
อันการทำศึกนั้นควรถือการตีทางใจเป็นเอก ถือการโจมตีเมืองเป็นรอง
รบทางใจเป็นเอก รบทางทหารเป็นรอง ขอให้ท่านทำให้พวกเขายอมสยบด้วยใจ
ก็จะเป็นการดี”

ADVERTISMENT

ขงเบ้งรับความเห็นของม้าเจ๊กมาเป็นแนวปฏิบัติ ดำเนินกลยุทธ์ “7 จับ 7 ปล่อย” ต่อเบ้งเฮ็ก
กำชัยได้อย่างสิ้นเชิงต่อพวกหมาน
หากไม่ได้ข้อเสนออย่างชนิดเยี่ยมยุทธ์จากม้าเจ๊กก็ยากที่จะดำเนินการได้อย่างตรงตามความต้องการ
ดัง “หลี่ปิงเอี้ยน ซุนปิง” ได้ประมวลสรุปตามสำนวน บุญศักดิ์ แสงระวี

ที่เรากล่าวว่า “โจมตีทางใจเป็นเอก รบทางใจเป็นเอก” เรากล่าวในเชิงเปรียบเทียบ
“เป็นเอก” มิได้หมายถึงเป็น “หนึ่งเดียว” โดยเด็ดขาด
โจมตีทางใจจำเป็นจะต้องมีกำลังทหารที่เข้มแข็งอยู่เบื้องหลัง
โดยความจริงแล้ว ถ้าหากไม่สร้างกำลังคุกคามทางทหารอย่างใหญ่หลวงขึ้นมาแล้ว การโจมตีทางใจก็ไม่อาจจะได้ผลที่ใหญ่หลวงอย่างแน่นอน
ข้อเท็จจริงได้พิสูจน์ว่า
จากสงครามในสมัยโบราณจนกระทั่งถึงสงครามในปัจจุบัน มีกำลังทางการทหารซึ่งรบจะต้องชนะแล้วจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการโจมตีทางใจโดยไม่ต้องรบแต่สยบข้าศึกได้
อีกประการหนึ่ง
ในสถานการณ์หลายอย่าง “การรบทางใจเป็นเอก รบทางทหารเป็นรอง” หมายถึงการบัญชาการรบ หมายถึงการบัญชาการรบจะต้องถือการรบด้วยสติปัญญา
ซึ่งการชนะด้วยใจ ด้วยกลอุบายเป็นเอก ถือการรบด้วยกำลังที่ใช้ศัสตราวุธเป็นรองเป็นส่วนประกอบ
มิได้หมายความว่าไม่ต้องใช้กำลังทหารเลย

ADVERTISMENT

ยิ่งศึกษารายละเอียดอันปรากฏในยุทธนิยายเรื่อง “ไซ่ฮั่น” จะยิ่งประจักษ์ความเฉียบคมทางการทหาร
อันเป็นการประสมประสานระหว่างจางเหลียงกับหานซิ่น
ความลึกล้ำในทาง “ขบวนศึก” ของจางเหลียง ความจัดเจนทาง “การรบ” ของหานซิ่นเมื่ออยู่เบื้องหน้าความเป็นจริง
ความเป็นจริงของ “ฌ้อปาอ๋อง” ความเป็นจริงของ “ฮั่นอ๋อง”
จึงถอดออกมาเป็นปฏิบัติการทางทหารอย่างที่ใช้ “ดนตรี” เป็นทัพหน้า แล้วตามด้วย “กำลังทหาร” ประสานเข้าไป
สะท้อนชี้ให้เห็นถึงการทำงานร่วมของ 2 ฝ่าย
1 คือฝ่ายอำนวยการ หรือที่เรียกกันว่า “ฝายยุทธการ” 1 คือฝ่ายกำลังรบ อันอยู่ในสถานะแห่ง “ผู้บัญชาการ” ในภาคสนาม
และที่ขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด คือ ฝ่าย “ส่งกำลังบำรุง”

อย่าได้แปลกใจไปเลยที่ภายหลังเสร็จศึกและสามารถปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าฮั่นโกโจในฐานะปฐมบรมกษัตริย์และราชวงศ์ฮั่น
คำสดุดีจากพระเจ้าฮั่นโกโจจึงอวยให้กับ 3 คนนี้อย่างเป็นด้านหลัก
1 ย่อมเป็นนักวางแผนอย่าง “จางเหลียง” วางแผนอยู่ในกระโจมก็สามารถเอาชัยได้
1 ย่อมเป็น “เซียวเหอ” สะสม “เสบียงอาหาร” ประกันการสู้รบ
1 ย่อมเป็น “หานซิ่น” สามารถบัญชาการกำลังพลนับร้อยหมื่นให้เป็นเอกภาพทรงพลานุภาพ
ทั้ง 3 ล้วนขึ้นต่อกับ “อำนาจสูงสุด” ของ “ฮั่นอ๋อง”
การได้ชัยเหนือทัพของ “ฌ้อปาอ๋อง” ของ “ฮั่นอ๋อง” จึงมิได้ขึ้นอยู่กับโชคช่วยหากแต่อยู่ที่การนำอย่างรู้จักพลิกแพลงของฮั่นอ๋อง เล่าปัง
จากกำลังน้อยเป็นกำลังมาก จากพ่ายแพ้กลายเป็นชัยชนะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image