ลลิตา หาญวงษ์ : Winter Is Coming การสู้รบหลังหน้าน้ำหลาก

สงครามกลางเมืองในพม่ายืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 4 ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ก่อนหน้านี้ เราอาจจะได้ยินฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร นักวิชาการ และผู้ติดตามสถานการณ์ในพม่าบางส่วน วิเคราะห์ไว้ว่าฝ่ายต่อต้านได้เปรียบ และมีโอกาสสูงที่จะได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ถูกหยิบยกมาพูดกันมากก็คือการที่กองกำลังฝ่ายต่อต้านทยอยยึดเมืองสำคัญๆ ทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของกองทัพพม่า และรัฐบาล SAC เช่น เมืองตานดวย (Thandwe) ในรัฐยะไข่ อันเป็นที่ตั้งของหาดงาปะลี สถานที่พักผ่อนตากอากาศริมทะเลที่มีชื่อเสียงที่สุดในพม่า หรือการยึดเมืองซิงกู (Singu) ที่อยู่ห่างจากมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่าไปเพียง 91 กิโลเมตร

เมื่อมองในเชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายต่อต้าน ทั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF ที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลฝ่ายต่อต้าน NUG การโจมตีฐานที่มั่นของทหารพม่า ไม่ได้เป็นเพียงการโจมตีเพื่อรุกคืบกินดินแดนของกองทัพพม่าไปเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การเติมยุทโธปกรณ์ ที่ร่อยหรอไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาและความเข้มข้นของการสู้รบ ข้อจำกัดและความท้าทายของสงครามในครั้งนี้ในมุมมองของฝ่ายต่อต้านคืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่หายากเป็นพิเศษ

ในยุคสงครามเย็นต่อมาจนถึงประมาณต้นทศวรรษ 2000 อาวุธและกระสุนยังเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย รัฐบาลและกองทัพไทยเองไม่ได้มีการตรึงชายแดนแน่นหนานัก และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่า ทั้ง SLORC และ SPDC ในขณะนั้น ก็ได้ประโยชน์จากการเติบโตของตลาดมืดตามแนวชายแดนไทยกับพม่า แต่เมื่อชายแดนด้านตะวันตกของไทยเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น อาวุธที่ตกไปถึงฝ่ายต่อต้าน ทั้งในรัฐกะเหรี่ยง คะเรนนี มอญ หรือพื้นที่อื่นๆ จึงมาจากชายแดนพม่าส่วนอื่นๆ อย่างจีน หรือประเทศอื่นๆ เท่าที่รัฐบาลทหารพม่าในยุคนั้นๆ จะเจรจาได้ และยังมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สามารถผลิตอาวุธของตนเองได้ ได้แก่ ว้า

ผู้เขียนเคยพูดคุยกับสมาชิกของรัฐบาล NUG และกองกำลัง PDF มาบ้าง หากเป็นเมื่อ 2 ปีก่อน อาจจะมีความคิดในฝ่ายต่อต้านว่าพวกเขาสามารถเผด็จศึกรัฐบาลทหาร SAC ได้ในเวลาอันสั้น โดยให้เห็นผลเรื่องทหารในกองทัพพม่าเสียขวัญ และมีฐานที่มั่นฝั่งทหารพม่าแตกในหลายพื้นที่ แต่ในปัจจุบัน กองกำลัง
PDF เองมองว่าสงครามครั้งนี้จะต้องต่อสู้กันไปอีกนาน อย่างน้อยก็อีก 3-4 ปี ฝ่ายต่อต้านมีแผนยุทธการทั้งหมด 6-7 ช่วง ในเวลานี้ PDF ยังอยู่ในแผนช่วงที่ 2 และกำลังจะเข้าสู่แผนช่วงที่ 3 ในหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง

ADVERTISMENT

เมื่อถามถึงคำถามที่อยู่ในใจของใครหลายคนว่า หาก PDF มีแผนการโจมตีทหารพม่าไปอีกหลายปี นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งที่ SAC ประกาศว่าจะมีขึ้นในปลายปี 2025 จะเกิดขึ้นจริง มิทันฤดูเลือกตั้งจะเกิดขึ้น กรรมการการเลือกตั้ง (UEC) ของรัฐบาล SAC ก็ประกาศแบนพรรคการเมืองไปแล้ว 2 พรรค ได้แก่ Democracy and Human Rights Party และ Kachin National Congress Party โดยให้เหตุผลว่าพรรคแรกเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยชาวมุสลิมโรฮีนจา และพรรคที่สองเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น ที่กำลังรบกับกองทัพพม่าอย่างดุเดือดในขณะนี้

ไม่ใช่พรรคการเมือง 2 พรรคนี้เท่านั้น ที่ถูกกีดกันออกไปจากการเลือกตั้งทั่วไป ที่วางไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า แต่ SAC ยังแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการลงทะเบียนพรรคการเมืองด้วยว่าหากพรรคใดไม่กลับไปลงทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่แก้กฎหมาย (26 มกราคม 2024) ก็เท่ากับพรรคเหล่านั้นจะไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครชิงชัยในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างแน่นอน เมื่อกฎหมายเลือกตั้งบิดเบี้ยวมาตั้งแต่ต้น และไม่มีทีท่าว่า SAC จะยอมรับให้พรรคการเมืองทุกพรรคลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ เท่ากับว่าการเลือกตั้งไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น และยังไม่ใช่การเลือกตั้งที่จะนำพม่ากลับไปสู่ถนนประชาธิปไตยดังที่ SAC กล่าวอ้างอีกด้วย

ADVERTISMENT

ที่กล่าวถึงการเลือกตั้งมาทั้งหมดนี้เพื่อจะเตือนความทรงจำของผู้อ่านว่าเมื่อฝ่ายต่อต้านไม่ยอมรับการเลือกตั้ง และพื้นที่ชายแดนเกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ควบคุมอยู่ หากเกิดการเลือกตั้งขึ้นก็จะเกิดขึ้นในบางพื้นที่ที่ SAC ควบคุมได้ ในในพื้นที่อื่นๆ นั้น การสู้รบก็จะดำเนินต่อไปอีกนานหลายปี ยกเว้นจะเกิดมีพระเอกขี่ม้าขาวที่สามารถนำคู่ขัดแย้งทุกภาคส่วนมาพูดคุยเพื่อยุติความขัดแย้งได้

เป็นที่รู้กันดีว่าการสู้รบในพื้นที่ที่ไม่ได้มีการพัฒนามากนัก มักมีข้อจำกัดเรื่องดินฟ้าอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในฤดูฝน ที่การสู้รบมักเบาบางมากกว่าฤดูอื่นๆ ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อฝนลดลงตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป การสู้รบก็จะกลับมามีความเข้มข้น และจะมีปฏิบัติการเพื่อยึดฐานที่มั่นของทหารเมียนมา รวมทั้งเมืองสำคัญๆ อีกหลายแห่งตามมาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านอย่าง PDF นั้น จะยึดเมืองที่อยู่รอบนอกเมืองใหญ่ๆ เป็นหลัก เพราะไม่ต้องการให้มีความสูญเสียในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เมืองใหญ่ๆ ยังมีสถานที่สำคัญทางศาสนาหลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น กองกำลังฝ่ายต่อต้านจะไม่ยอมโจมตีตัวเมืองมัณฑะเลย์ และหลีกเลี่ยงไม่ไปใกล้วิหารที่ประดิษฐานพระมหามัยมุนีพระพุทธรูปประจำเมืองมัณฑะเลย์ ดังนั้น หากจะมีการโจมตีมัณฑะเลย์ ก็จะเป็นการโจมตีพื้นที่รอบนอก ในเมืองขนาดกลางถึงเล็ก ที่มีประชากรหลักหมื่น ไม่ใช่มัณฑะเลย์ที่มีประชากร 1.7 ล้าน หรือแม้แต่เมกทิลา (Meiktila) ที่มีประชากรเกือบ 2 แสนคน

แน่นอนว่าเมื่อการสู้รบเข้มข้นขึ้น ก็จะมีปริมาณผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons หรือ IDPs) มากขึ้น ในปัจจุบัน ผู้ที่อพยพหนีสงครามเข้ามาในประเทศไทย ไม่ได้เป็นเพียงแรงงานทางเศรษฐกิจ หรือผู้ลี้ภัยจากพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันออกของพม่าเท่านั้น แต่ยังมีประชาชนจากทางตอนในอพยพเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีชนชั้นกลางจากย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ที่นิยมเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯและเชียงใหม่มากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ว่าสงครามในพม่าจะออกไปในทิศทางใด และไทยยังเป็นหน้าด่าน ที่จะได้รับผลกระทบจากความไม่สงบนี้อย่างแน่นอน ผู้เขียนกลัวแต่เพียงว่าทุกครั้งที่มีการสู้รบระลอกใหม่ รัฐบาลไทยก็มักจะต้องคิดแผนรับมือเฉพาะหน้า โดยที่ไม่ได้มีการคาดการณ์อนาคตว่าจะเกิดฉากทัศน์ใดขึ้นได้บ้าง หากการสู้รบยังคงยืดเยื้อเข้าปีที่ 4 หรือปีต่อๆ ไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image