ดุลยภาพดุลพินิจ : ความเหลื่อมล้ำการคลังท้องถิ่นจากนโยบายรัฐบาลที่ไม่เป็นธรรม

ดุลยภาพดุลพินิจ : ความเหลื่อมล้ำการคลังท้องถิ่นจากนโยบายรัฐบาลที่ไม่เป็นธรรม

ความเหลื่อมล้ำการคลังท้องถิ่น (local fiscal disparity) เป็นเรื่องสำคัญต่อการบริหารท้องถิ่นและส่งผลลัพธ์ต่อคุณภาพชีวิตคนไทยหลายสิบล้านคน ความจริงความเหลื่อมล้ำของรายได้เทศบาล/อบต. บางเรื่องเข้าใจได้ เช่น อบต. การจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมได้น้อยเพราะสภาพแวดล้อมชนบท เทศบาลเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมได้มากกว่าเพราะสภาพแวดล้อมเมือง แต่สิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นคือ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากนโยบายของรัฐ ในโอกาสนี้ขอนำผลงานวิจัยเล็กว่าด้วย การคลังท้องถิ่นและการจัดสรรเงินอุดหนุนของรัฐมานำเสนอ (สถิติการคลังปี 2566) ครอบคลุมเทศบาลและ อบต.ทุกแห่ง รวมกัน 7,772 หน่วยงาน

ก่อนอื่นต้องแสดงความชื่นชมความก้าวหน้าด้านข้อมูลสนเทศด้านการคลังภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเกี่ยวกับการคลังท้องถิ่น ซึ่งเป็น “ข้อมูลขนาดใหญ่” ครอบคลุมทุกหน่วยงานเทศบาล และ อบต. ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รายได้ของท้องถิ่นนั้นมาจากสามประเภท คือ ก) รายได้จัดเก็บเอง ข) รายได้ภาษีแบ่งหรือภาษีที่หน่วยงานรัฐจัดเก็บให้ ค) รายได้จากเงินอุดหนุน รายการสุดท้ายกำหนดโดยรัฐบาล ถือว่าเป็น “ตัวแปรนโยบาย” ตามหลักสากล เงินอุดหนุนควรจะลดความเหลื่อมล้ำ ตำราบัญญัติศัพท์ว่า “เงินอุดหนุนเพื่อความเสมอภาค” (equalization grant) ส่วนรายได้จัดเก็บเองหรือภาษีแบ่งนั้นเป็นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์เศรษฐกิจ

ADVERTISMENT

ข้อสังเกตจากข้อมูลเชิงประจักษ์ คือ หนึ่ง รายได้เฉลี่ยต่อหัวแตกต่างกันมาก เทศบาลมีรายได้เกินหมื่นบาทต่อหัว ในขณะที่ อบต. รายได้เฉลี่ยเท่ากับ 8,391 บาทต่อคน สอง รายได้ที่เก็บเอง (R1) อบต. จัดเก็บได้ 399 บาทต่อคน เปรียบเทียบกับเทศบาลนครเก็บได้ถึง 2,328 บาทต่อคน สาม ภาษีแบ่งที่หน่วยงานรัฐจัดเก็บให้ อบต. ได้รับ 3,933 บาทต่อคน เปรียบเทียบกับเทศบาลเมือง/เทศบาลนครเกินกว่า 5 พันบาทขั้นไป สี่ แต่ว่าเงินอุดหนุนซึ่งควรทำบทบาทลดความเหลื่อมล้ำ หรือส่งเสริมการไล่กวด (catching-up) ตามหลักการ– อบต.น่าจะได้รับมาก เป็นการชดเชยสองส่วนแรกที่น้อยกว่า แต่กลับกลายเป็นว่า อบต.โดยเฉลี่ยได้รับ 4,059 บาทต่อคน ผิดจากหลักการ ไม่สอดคล้องกับคำพูดสวยๆ ว่า “ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

รูปภาพที่ 1 แสดงรายได้ต่อหัว (รวมสามประเภทเข้าด้วยกัน)

ADVERTISMENT

รูปภาพที่ 2 แสดงการวิเคราะห์องค์ประกอบของความเหลื่อมล้ำ (inequality decomposition) ด้วยรูปกราฟ 3 แท่ง แท่งที่สาม (สีเขียว) คือ เงินอุดหนุน อบต.สมควรได้รับเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยด้วยที่ด้อยกว่า แต่ความเป็นจริงกลายเป็นว่า คนชนบทได้รับเงินอุดหนุนน้อยกว่าคนเมืองเป็นเรื่องที่เข้าใจยากและไม่สมเหตุสมผล

ต้องยอมรับว่า ในการกำหนดนโยบายด้านการคลังและงบประมาณของรัฐบาล มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ ความจริงนโยบายจัดสวัสดิการของภาครัฐดีๆ มีตัวอย่างมากมาย เช่น มาตรการช่วยเหลือคนจน-คนมีรายได้น้อย เด็กยากจน ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ยากไร้ ฯลฯ แต่นโยบายเงินอุดหนุนให้เทศบาล/อบต.ที่นำมาเป็นประเด็นวิพากษ์ครั้งนี้นับว่าคลาดเคลื่อนไปมาก สมควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจสมควรปรับรื้อสูตรการจัดสรรเงินอุดหนุนใหม่ ให้สอดคล้องกับหลักความเป็นธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image