สะพานแห่งกาลเวลา : แหล่งที่มาของ ‘โควิด’

สะพานแห่งกาลเวลา
China News Service/CC BY 3.0

เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา มีรายงานผลการวิจัยชิ้นหนึ่งเผยแพร่ออกมา หัวข้อของงานวิจัยชิ้นนี้ครั้งหนึ่งเมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมา เคยมีนัยสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนัก และร่ำๆ จะลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยซ้ำไป

หัวข้อที่ว่าคือ โควิด-19 เริ่มต้นระบาดจากไหนกันแน่หลุดมาจากห้องทดลองของจีน อย่างที่กล่าวหากันหรือไม่

เรารู้กันมาตลอดว่า ต้นกำเนิดของไวรัส ที่ต่อมาถูกเรียกว่า โควิด-19 นั้นคือ “ค้างคาว” นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ไวรัสจากค้างคาวที่ว่านี้ เกิดจับพลัดจับผลูเข้ามาอยู่ในร่างกายมนุษย์

หลังจากนั้นจึงเกิดการ “ผ่าเหล่า” ที่ทำให้มันสามารถระบาดจากคนสู่คนได้ง่ายๆ จนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดระดับโลกขึ้นตามมาในที่สุด

Advertisement

คำถามสำคัญก็คือ ไอ้การกระโดดจาก “ค้างคาว” มายัง “มนุษย์” ที่ว่านี้ เป็นเรื่อง “บังเอิญ” หรือ “เจตนา” กันแน่

ทีมวิจัยนานาชาติ นำโดย ฟลอรองซ์ เดบาร์เร นักวิจัยจากศูนย์เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (the French National Centre for Scientific Research) ให้คำตอบเอาไว้ว่า ที่เป็นไปได้มากที่สุด ก็คือ โควิด-19 เริ่มระบาดจากตลาดสดหัวหนานในเมืองอู่ฮั่น ไม่ใช่จากห้องปฏิบัติการทดลองของจีนแน่นอน

Advertisement

ทีมวิจัยทีมนี้ ใช้วิธีการตรวจสอบและวิเคราะห์ตัวอย่างจากตลาดสดหัวหนาน ที่ศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรค ของทางการจีนจัดเก็บเอาไว้ รวมทั้งสิ้น 800 ตัวอย่าง

เป็นการตรวจสอบซ้ำจากเดิมที่เคยมีการตรวจสอบกันมาแล้วครั้งหนึ่ง

เอ็ด โฮล์มส์ สมาชิกของทีมวิจัย ที่เป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เปิดเผยว่า ตัวอย่างเหล่านั้นเป็นตัวอย่างที่จัดเก็บมาจาก พื้นผิว, ตู้แช่แข็ง, ทางระบายน้ำ และกรงขัง ของสัตว์แล้วนำมาตรวจวิเคราะห์ว่ามีเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนอยู่หรือไม่

เป้าหมายของทีมวิจัยนานาชาติ ก็เพื่อดูว่า มีสัตว์กี่ชนิดขายกันเป็นๆ ที่ตลาดแห่งนี้ สัตว์พวกนี้วางขายอยู่ตรงไหนของตลาด และที่ตรงนั้น กับสัตว์เหล่านั้น มีเชื้อโควิดอยู่ด้วยหรือไม่

พูดอีกอย่างก็คือการหาดูว่า มีสัตว์ที่ขายกันอยู่มีโอกาสเป็น “ตัวกลาง” ที่นำเชื้อจากค้างคาวมาสู่มนุษย์ อยู่ด้วยหรือไม่

ผลก็คือ ทีมวิจัยพบสัตว์ถึงอย่างน้อย 3 ชนิด ที่มีโอกาสสูงที่จะเป็นตัวกลาง คือ จิ้งจอกแรคคูน (Nyctereutes procyonoides) ชะมด (Paguma larvata) และอ้น (Rhizomys pruinosus)

ในตัวของสัตว์เหล่านี้มีเชื้อโควิดอยู่ เช่นเดียวกันกับบริเวณแผงที่ขายสัตว์เหล่านี้ ก็มีเชื้อโควิดปรากฏอยู่เช่นกัน

ทีมวิจัยยังใช้วิธีศึกษาพันธุกรรมของไวรัสในช่วงที่เกิดการระบาดแรกสุด ที่เก็บจากตัวอย่างเอาไว้ พบว่ามีตัวอย่างเพียง 2-3 ตัวอย่างเท่านั้นที่มีอายุนานก่อนเกิดการระบาดที่ตลาดสดหัวหนาน

พันธุกรรมส่วนใหญ่ มีอายุหลังจากเกิดการระบาดที่ตลาดสดแห่งนี้แล้วทั้งสิ้น

ตัวอย่างที่มีอายุนานกว่า เหล่านั้น เป็นไปได้ว่า อาจเป็นคนที่เป็นตัวการนำเอาสัตว์ที่ติดเชื้อเหล่านี้มาขายยังตลาดสดหัวหนานนั่นเอง

แซค เฮนเซล หนึ่งในสมาชิกของทีม ที่เป็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโนวา ในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ชี้ว่า จากการวิเคราะห์ เชื่อว่า ถ้าหากใช้มาตรการป้องกันทั่วๆ ไป ที่ใช้กันอยู่ การแพร่ระบาดของโควิดก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

ข้อสรุปดังกล่าวมีขึ้นเพราะจากการวิจัยไม่พบว่ามีเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่ระบาดในคนได้ชนิดอื่นๆ แพร่อยู่ในตลาดมากมายนัก โดยนอกเหนือจากเชื้อโควิด-19 แล้ว ที่พบอีกเชื้อก็เป็นเพียงเชื้อไวรัสในกลุ่มไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) อีกตัวเท่านั้นที่ มีโอกาสจะแพร่จะสัตว์มาสู่คนได้

แต่ทำไงได้ ในเมื่อไม่มีการป้องกัน ชะตากรรมก็กลายเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกสองสามปีต่อมา โควิดเลยคร่าชีวิตคนเสียราวๆ 7 ล้านคนทั่วโลก

ข้อสรุปของทีมวิจัยนานาชาติทีมนี้ อาจไม่ได้ช่วยเหลือคนที่เสียชีวิตไปเหล่านั้น แต่อย่างน้อยที่สุด ในทรรศนะของนักวิชาการอย่าง โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟลินเดอรส์ ในออสเตรเลีย ก็ทำให้เรื่องแหล่งที่มาของโควิด-19 ที่ทะเลาะกันมานานจะได้ยุติลงเสียที เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทีมวิจัย แต่ยกย่องและเชื่อถือทีมวิจัยนานาชาติทีมนี้สูงสุด

เขาให้เหตุผลเอาไว้ง่ายๆ ว่า เพราะทีมวิจัยนานาชาติทีมนี้ อุปมาได้ว่า เป็นเสมือน “ดรีมทีม ทางด้านชีววิทยาวิวัฒนาการ” แล้วนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image