ถึงอายก็ต้องอาย โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

“สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” เป็นสุภาษิตไทยก็จริงแต่ก็ใช้กับเรื่องของฝรั่งได้ด้วย เพราะการทำผิดพลาดของผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นเรื่องสากลเกิดกับใครก็ได้

อย่างในงานแจกรางวัลออสการ์ที่จัดมา 88 ครั้งไม่เคยประกาศผลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมพลาดมาก่อน กระทั่งครั้งที่ 89 ประเดิมผิดเป็นครั้งแรก

ใครๆ ต่างก็เปรียบเทียบกับเวทีมิสยูนิเวิร์สที่ไปพลาดประกาศผิดตัวในการจัดครั้งที่ 64 ทั้งๆ ที่ไม่เคยพลาดมาก่อนเหมือนกัน

ถ้านับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่พลิกล็อกด้วย ตอนจบแบบดราม่าแบบนี้คงเป็นกระแสนิยมของอเมริกันไปแล้ว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในความผิดพลาดนั้นก็ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นจะทำให้โลกแตก อย่างน้อยก็เห็นได้ว่าในวัฒนธรรมฝรั่งนั้นเมื่อถึงคราวต้องอายก็ต้องอาย จะเลยตามเลยไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรต้องยึดข้อเท็จจริง-ความจริงไว้ก่อน

เพราะถ้าเริ่มโกหกเมื่อใด ก็ต้องโกหกต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

หากลองคิดเล่นๆ ถึงเวทีมิสยูนิเวิร์ส ว่ากองประกวดปล่อยให้นางงามโคลอมเบียสวมมงกุฎต่อไปก็คงไม่ได้มีอะไรเสียหาย เพราะคุณสมบัติก็ใกล้เคียงกับสาวฟิลิปปินส์ที่พิชิตมงกุฎได้ แต่ผู้จัดคงจะปล่อยอย่างนั้นไม่ได้ เพราะมันไม่ตรงข้อเท็จจริงตามผลการตัดสิน

Advertisement

เช่นเดียวกับเวทีออสการ์ หากปล่อยให้เรื่อง ลา ลา แลนด์ ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปแบบเลยตามเลย ก็คงไม่น่าประหลาดใจอะไร เพราะหนังกวาดรางวัลสาขาต่างๆ ไปกว่า 6 รางวัล มากกว่าเรื่องอื่นๆ

แต่เมื่อรู้ว่าผิดพลาดผู้จัดก็ต้องแก้ไขทันที ว่าหนังที่ได้ยอดเยี่ยมของจริงคือเรื่อง มูนไลท์ แม้รู้ว่าต้องอับอายระดับโลก แต่ก็หลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงไม่ได้

ส่วนบริษัทที่ทำใบประกาศผิดพลาดต้องออกมาขอโทษและรับผิดชอบภายหลัง จะต้องจ่ายค่าปรับฐานสร้างความอับอายหรือไม่คงต้องว่ากันไป

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ แสดงให้เห็นว่าการยึดข้อเท็จจริงต้องมาก่อน

ไม่เฉพาะกับเรื่องบันเทิงเท่านั้น แต่การเมืองก็ด้วย

สำหรับสหรัฐ ถ้าไม่ยึดหลักค้นหาความจริง คงจะไม่เกิดคดีวอเตอร์เกตในยุค 70 ที่สื่อเปิดโปงความฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่รัฐและทำให้คนระดับประธานาธิบดีต้องลาออกให้เป็นที่อับอายระดับโลก

หรืออย่างเกาหลีใต้ในขณะนี้ บริษัทซัมซุง ยักษ์ใหญ่ที่ครองสัดส่วนร้อยละ 20 ในจีดีพีของประเทศคงไม่ต้องสั่นสะเทือนถึงขั้นนี้ ถ้าอัยการไม่มุ่งสอบสวนคดีผลประโยชน์ต่างตอบแทน

ส่วนรวันดา ถ้าไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 2537 ที่มีคนถูกสังหารไปกว่า 8 แสนราย เพราะมัวแต่กลัวว่าความจริงจะทำให้ปรองดองกันไม่ได้ ถึงวันนี้ชนสองเผ่าก็อาจเกลียดกันหนักกว่าเดิมและอาจยังแก้แค้นกันไปมาไม่มีที่สิ้นสุด

ปิดท้ายที่กรณีของไทย การรักษาหน้าตานั้นดูจะเป็นเรื่องสำคัญมากและหลายๆ ครั้งเราก็พยายามช่วยกันปกปิดหรือมองข้ามเรื่องที่ทำผิดพลาด หวังให้มันผ่านเลยไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนไม่มีบทสรุปว่าอะไรควรหรือไม่ควร การทำผิดพลาดจึงไม่ได้รับการแก้ไขและผิดซ้ำๆ มาตลอด

ถ้าลองยอมรับความจริงและยอมอายดูบ้าง อะไรๆ อาจดีขึ้นก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image