ดุลยภาพดุลยพินิจ : การว่างงานในสหรัฐอเมริกา : โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเสร็จเรียบร้อยโรงเรียนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2560 ที่เขาเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง แม้จะไม่ค่อยสวยนักเพราะมีข่าวการแทรกแซงคะแนนเลือกตั้งทางคอมพิวเตอร์โดยรัสเซียจนมีการเรียกร้องให้นับคะแนนใหม่

ในแง่ของความสำเร็จในการหาเสียงของทีมนายทรัมป์หรือทีมรีพับลิกัน จะเห็นได้ว่าประเด็นหลักของการหาเสียงคือการว่างงานและการแก้ไขการว่างงานในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกจาก TPP (Trans Pacific Partnership) การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าเพื่อส่งเสริมการผลิตและการจ้างงานในสหรัฐ การสร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐกับประเทศเม็กซิโก (แม้กระทั่งการห้ามคนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐ ก็มีประเด็นของการจ้างงานปะปนอยู่)

แต่ถ้าเราไปศึกษาดูการเคลื่อนไหวของอัตราการว่างงานในสหรัฐแล้ว ต้องชมว่านายทรัมป์ขายของเก่ง เพราะแนวโน้มการว่างงานในสหรัฐนั้น อันที่จริงอัตราการว่างงานสูงมากในช่วง 8 ปีที่นายบารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดี โดยในปี 2553 สูงถึงร้อยละ 9.8 และค่อยๆ ลดลงมาเหลือร้อยละ 4.9 ในเดือนมกราคมปี 2559 และยังลดต่อจนเหลือร้อยละ 4.7 ในเดือนธันวาคม 2559 ปลายสมัยของนายบารัค โอบามา ก่อนที่นายทรัมป์จะลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยซ้ำ และเมื่อนายทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอัตราการว่างงานก็ยังอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ดังที่เห็นในภาพ

Advertisement

ที่กล่าวไปนั้น ผู้เขียนเพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่าการว่างงานเป็นเรื่องสำคัญและเรื่องใหญ่ในสหรัฐ และการเมืองก็เอามาเป็นประเด็นหาเสียงได้เป็นเรื่องเป็นราว ส่วนที่เหลือในบทความนี้ผู้เขียนจะคุยเรื่องการว่างงานในสหรัฐพอเป็นสังเขป

อัตราการว่างงานของสหรัฐที่แสดงในกราฟ วัดจากสัดส่วนร้อยละของจำนวนแรงงานอายุ 16 ปีขึ้นไปที่ว่างงานต่อกำลังแรงงานทั้งหมด ตัวเลขในกราฟเป็นตัวเลขในเดือนมกราคม (สหรัฐมีการสำรวจการว่างงานเป็นรายเดือน) โดยถือว่าผู้ใดจะว่างงานจะต้อง “ไม่มีงานทำ” “พร้อมที่จะทำงาน” และ “หางานทำอย่างจริงจัง” ในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนการสำรวจภาวะการมีงานทำ ทั้งนี้ ลักษณะของการหางานทำเขากำหนดไว้ว่าต้องมีการติดต่อนายจ้างโดยตรง หรือมีการสัมภาษณ์สมัครงาน ซึ่งนายจ้างอาจเป็นราชการหรือเอกชน การติดต่อเพื่อนหรือญาติ หรือศูนย์จัดหางานของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา มีการกรอกใบสมัครหรือส่งประวัติเพื่อสมัครงาน ติดต่อสอบถามโฆษณาหาพนักงาน ติดต่อสหภาพ หรือการกระทำอื่นๆ ที่พิสูจน์ได้ว่าหางานทำ

อัตราการว่างงานตามนิยามนี้ถือเป็นอัตราการว่างงานที่เป็นทางการของสหรัฐ แต่เนื่องจากอัตราดังกล่าวยังมีข้อจำกัดและไม่สะท้อนปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้น ทบวงสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics: BLS) จึงมีวิธีวัดในแบบอื่นๆ อีก 5 แบบ รวมเป็น 6 แบบ คือ

U1: การว่างงานระยะยาว อัตราร้อยละของกำลังแรงงานที่ว่างงาน 27 สัปดาห์ขึ้นไป

U2: อัตราร้อยละของกำลังแรงงานที่ตกงานหรือทำงานชั่วคราวเสร็จ

U3: อัตราการว่างงานทางการที่วัดจากอัตราร้อยละของผู้ว่างงานและหางานทำอย่างจริงจัง

U4: อัตราร้อยละของผู้ว่างงานใน U3 บวกกับผู้ว่างงานแต่ไม่หางานทำ (Discouraged workers) ต่อกำลังแรงงานทั้งหมด

U5: อัตราร้อยละของผู้ว่างงานกรณี U4 บวกกับผู้ว่างงานที่เคยหางานทำมาก่อน แต่ไม่ได้หางานทำในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนการสำรวจ (Marginally attached workers: แรงงานชายขอบ) ต่อกำลังแรงงานทั้งหมด และ

U6: อัตราร้อยละของผู้ว่างงานกรณี U5 บวกกับผู้ทำงานไม่เต็มเวลาและต้องการทำงานเต็มเวลา แต่หางานดังกล่าวไม่ได้ ต่อกำลังแรงงานทั้งหมด

อัตราการว่างงานที่นับผู้ว่างงานในลักษณะต่างๆ กันนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาการว่างงานในเชิงลึก เพราะลำพังนิยาม U3 อย่างเดียวคงแก้ปัญหาการว่างงานไม่ได้เท่าที่ควร และที่จริงแล้วนอกจากอัตราการว่างงานทั้ง 6 ชนิดแล้ว สหรัฐยังมีตัวชี้วัดสถานการณ์แรงงานที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือ จำนวนพนักงานลูกจ้างในสถานประกอบการนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) ซึ่งประกอบด้วยจำนวนพนักงานภาคเอกชนนอกเกษตร และจำนวนพนักงานภาครัฐ

ปัญหาการว่างงานของสหรัฐ (หรือประเทศอื่นๆ) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี แต่ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การแข่งขันในเวทีโลก การศึกษาและประสิทธิภาพของแรงงาน การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี ตลอดจนสถานการณ์ด้านประชากร การว่างงานในสหรัฐตั้งแต่ปี 2491-2560 เฉลี่ยร้อยละ 5.8 โดยขึ้นไป สูงที่สุดร้อยละ 10.8 ในเดือนพฤศจิกายน 2525 และต่ำสุดที่ร้อยละ 2.5 ในเดือนพฤษภาคม 2496

ในภาพรวม สภาวะการจ้างงานของสหรัฐ ณ เดือนมกราคม 2560 คือ มีประชากรรวม 326 ล้านคน เป็นประชากรพลเรือนวัยแรงงาน 254 ล้านคน เป็นกำลังแรงงาน 160 ล้านคน มีการว่างงานร้อยละ 4.8 หรือคิดเป็นจำนวน 7.6 ล้านคน อัตราการว่างงานของผู้ชายร้อยละ 4.4 เท่ากับของผู้หญิง ในขณะที่วัยรุ่นว่างงานร้อยละ 15 อัตราการว่างงานของคนผิวขาว ร้อยละ 4.3 เทียบกับคนผิวสีร้อยละ 7.7 และคนเชื้อสายสเปน ร้อยละ 5.9 และคนเอเชีย ร้อยละ 3.7

การว่างงานในสหรัฐจะลดลงอีกได้เพียงใดนั้น ผู้เขียนคิดว่าคงไม่มากเพราะอัตราการว่างงานที่ถือว่าเป็นอัตราธรรมชาติของสหรัฐนั้นอยู่ที่ร้อยละ 3 อยู่แล้ว

ส่วนนายทรัมป์จะทำอย่างไรต่อไปก็เป็นเรื่องของแก แต่เราควรติดตามดูบ้าง เพราะอาจจะกระทบถึงไทยได้เหมือนกัน

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image