ผู้เขียน | สุชาติ ศรีสุวรรณ |
---|
สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประสานเสียงกันพร้อมเพรียงในหมู่ตัวเล่นหลักของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร, ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ควบคุมยุทธศาสตร์การเมืองพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่บอกให้ทุกคนหันหลังกลับจากการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปโฟกัสที่น้ำท่วมภาคเหนือ โดยเฉพาะความเดือดร้อนของประชาชนเชียงใหม่ที่บ้านจมอยู่ในทะเลโคลนหลายหมู่บ้าน
ประสานเสียงที่ให้ไปทำงานเพื่อแก้ปัญหาชีวิต แทนมาใส่ใจเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ
ฟังเหมือนถูกต้องแล้วที่ต้องเป็นเช่นนั้น ไม่มีความผิดปกติอะไร แต่ผู้ที่ติดตามการเมืองใกล้ชิดย่อมจับสัญญาณได้ว่าเบื้องหลังเสียงที่ประสานดังกล่าวมีพลังอำนาจบางอย่างแผ่คลื่นมาทำให้ทุกฝ่ายต้องกลับมาตั้งหลักใหม่
เป็นที่รู้กันว่าความยุ่งยากของการเมืองไทยอยู่ที่การแย่งชิงอำนาจกันระหว่าง “ผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง” กับ “ผู้ที่มาจากการทำรัฐประหาร” เวียนสู้ผลัดกันชนะ-แพ้ ต่างจมอยู่กับความใส่ใจทำลายคู่ต่อสู้จนไม่เหลือความตั้งใจพัฒนาประเทศ จนไทยแลนด์ที่มีความพร้อมสู่ความรุ่งเรืองกลายเป็นต้องถอยมาล้าหลังชาติที่เริ่มต้นพัฒนามาด้วยกันแบบมองไม่เห็นฝุ่น ซ้ำร้ายแม้แต่เพื่อนบ้านที่ก่อนหน้านั้นห่างไกลความเจริญยังขึ้นมาเทียบและมีแนวโน้มที่จะเรียงแถวแซงเพื่อทิ้งห่างไป อย่างน่าสลดในชะตากรรมอันเกิดจากความไร้เสถียรภาพทางอำนาจของไทยเรา
ใครบ้างไม่รู้ว่าหลังรัฐประหารปี 2557 มีความพยายามจะจัดการให้เกิดชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเอา “เครือข่ายอำนาจรัฐประหาร” มาใส่ไว้ใน “รัฐธรรมนูญ 2560” สร้างกลไกที่ “ไม่ยึดโยงประชาชน” ขึ้นมาควบคุมศูนย์กลางอำนาจรัฐ
ใครบ้างไม่ได้เห็นว่าการหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด ทุกพรรคการเมืองโดยเฉพาะที่ไม่ใช่ “พรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร” จะนำเสนอนโยบายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชัดเจน หนักแน่นในความคิด “คืนอำนาจที่รัฐธรรมนูญบล็อกไว้กลับไปให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
ยิ่งหลังการเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ 2560 แสดงอิทธิฤทธิ์ในการควบคุมความเป็นไปทางการเมืองให้เห็นชัดเจนว่า “อำนาจประชาชน” สู้ “อำนาจรัฐประหารที่ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ไหว” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเลือกถูกเขี่ยทิ้ง พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกถูกยุบทิ้ง นักการเมืองที่ประชาชนฝากความหวังไว้ถูกตัดสิทธิ กระทั่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่ยอมอะลุ่มอล่วยประนีประนอมกับอำนาจเพื่อโอกาสที่จะได้ทำงานยังถูกจัดการด้วยการตีความจริยธรรมจนอยู่ในตำแหน่งไม่ได้
พรรคการเมืองที่มีประชาชนเป็นฐานเข้าสู่อำนาจยิ่งเห็นความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ
เพื่อให้รักษาความมั่นคงของผู้นำหน้าที่นายกรัฐมนตรีไว้ให้ได้ “พรรคเพื่อไทย” เริ่มเคลื่อนในการทำให้ความหมายของ “จริยธรรม” ที่มีการใช้เป็นเครื่องมือเขี่ยผู้นำประเทศทิ้งให้มีความชัดเจน อย่างน้อยให้รู้ว่าอะไรคือ “จริยธรรมที่นายกรัฐมนตรีต้องมี” หรือ “จริยธรรมแบบไหนที่นายกรัฐมนตรีจะผิดไม่ได้”
“ภูมิธรรม เวชยชัย” มือการเมืองเป็นแม่งานที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชัดนี้ โดยแถลงอย่างจริงจัง ซึ่งว่าไปไม่ควรจะมีปัญหาอะไร เพราะมีรายงานข่าวว่า “หัวหน้าพรรคใหญ่ที่ร่วมรัฐบาล” เป็นผู้เสนอความคิดนี้เอง แสดงว่าเสียงข้างมากต่างเห็นดีเห็นงามไปด้วยกัน และน่าจะต้องผ่านอย่างไม่มีปัญหาเพราะเป็นที่ชัดเจนว่า “พรรคประชาชน” ซึ่งเป็นฝ่ายค้านเอาด้วยเต็มที่อยู่แล้ว ความแตกต่างในรายละเอียดของประเด็นไม่น่าจะมีปัญหา
แต่แล้วกลายเป็นว่า “การเสนอแก้ไขที่คึกคักยิ่งนั้น ต้องล้มเลิกในวันรุ่งขึ้น ก่อนวันนัดประชุมเพื่อหารือของพรรคร่วมรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ”
พรรคเพื่อไทยสั่งถอย ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นเรียงแถวกันออกมาคัดค้าน
ขณะเดียวกันจากการเปิดเผยของ “สมาชิกวุฒิสภา นันทนา นันทวโรภาส” ว่ามีสัญญาณร้ายทำให้ความหวังในการแก้รัฐธรรมนูญริบหรี่ เพราะคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ของวุฒิสภาที่ก่อนหน้านั้นมีท่าทีเห็นดีกับหลักการของสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้เสียงกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิตัดสินประชามติ กลับพลิกให้ไปใช้แบบเดิมคือกึ่งหนึ่งของเสียงผู้มีสิทธิ
เป็นมติแบบเด็ดขาดของ “กรรมาธิการวุฒิสภาชุดใหม่” ที่เรียกว่า “ส.ว.สีน้ำเงิน” เพราะมีเพียง “อาจารย์นันทนา” เพียงเสียงเดียวเท่านั้น มียืนตามที่สภาผู้แทนราษฎรอยากได้
ไม่เพียงแค่อาจารย์นันทนาเท่านั้นที่รับรู้ได้ถึงสัญญาณร้าย
ผู้ติดตามการเมืองใกล้ชิดอยู่บ้างต่างตระหนักในความคิดว่า “สัญญาณว่าการประนีประนอมระหว่างอำนาจรัฐประหารที่ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญกับอำนาจจากประชาชนที่เคยคิดว่าเป็นไปได้นั้น ชัดเจนแล้วว่าเป็นไปไม่ได้”
แม้ทำงานร่วมกันได้ แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของ “กลไกอำนาจที่ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น”
ที่น่าตื่นตาตื่นใจขึ้นไปอีกคือ นี่เป็นความชัดเจนที่มาพร้อมกับความเคลื่อนไหวของระดับ “ดร.ณัฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญให้เพิกถอนการเลือกตั้ง ส.ว.พร้อมทั้งให้ถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง “กกต.” โดยกล่าวว่า เป็นการจัดการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม
ในปรากฏการณ์นี้ “คนวงในทางการเมือง” อย่าง “ไพศาล พืชมงคล” ออกมาชี้ให้เห็นความน่าสนใจว่า เป็นการไปยื่นร้องเรียนที่มี “ผู้บริหารสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมาตั้งแถวรับกันเป็นตับ”
เป็นที่รู้กันว่าในการต่อสู้ระหว่าง “ผู้มาจากอำนาจรัฐประหาร” กับ “ผู้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ก่อนหน้านั้นเมื่อ “ผู้มาจากการเลือกตั้ง” ได้ควบคุมอำนาจ จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และวางกลไก “ขยายอำนาจจากประชาชน”
เมื่อก่อนเป็นเช่นนั้นได้
แต่วันนี้ มีสัญญาณว่า “น่าจะเป็นอย่างที่เคยเป็นมาไม่ได้แล้ว”
สุชาติ ศรีสุวรรณ