ที่มา | คอลัมน์ - ไทยพบพม่า |
---|---|
ผู้เขียน | ลลิตา หาญวงษ์ |
สงครามกลางเมืองในพม่าที่ยืดเยื้อมาเกือบ 4 ปี มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับเศรษฐกิจ และสังคมพม่าที่แตกสลาย พัฒนาการทางการเมืองหยุดชะงัก แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ดูจะริบหรี่ นักวิเคราะห์หลายคนโอกาสที่พม่าจะกลับเข้าสู่ภาวะ “ปกติ” คงเป็นไปได้ยาก สองปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดสันติภาพได้ยาก คือคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝั่ง คือ กองทัพพม่า และฝ่ายต่อต้าน ที่มีทั้งรัฐบาลคู่ขนาน NUG และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ไม่สามารถเจรจากันได้ และอีกปัญหาที่อาจจะสำคัญมากกว่าคือในกลุ่มฝ่ายต่อต้านเอง ก็มีความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างกันมาก จนไม่สามารถเดินไปพร้อมๆ กันได้
ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าการแก้ไขความขัดแย้งในพม่าในปัจจุบันมีอยู่เพียง 2 แนวทาง แต่มีเพียง 1 ทางออกที่จีรังถาวร ที่ผ่านมา ผู้เขียนพูดคุยกับคนพม่าหลายกลุ่ม รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ที่ทำงานเกี่ยวกับพม่า คำถามที่ผู้เขียนถามทุกคนคล้ายกันคือทางออกของวิกฤตการเมืองในพม่าคืออะไร ทุกคนเห็นตรงกันว่าผู้นำ SAC ต้องยอมลงจากอำนาจ และเกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่มีความหวังมากนักว่าผู้นำ SAC อย่างมิน
อ่องลาย จะยอมลงจริงๆ เพราะฝ่ายต่อต้านก็จ้องจะดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นหนทางเดียวที่จะเกิดขึ้น คือมินอ่องลายจะยอม แต่ต้องเป็นเงื่อนไขที่เขาเป็นคนกำหนดขึ้นมาเอง นี่คือแนวทางที่หนึ่ง
สำหรับแนวทางที่สอง คือการเกิดจุดเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารซ้อน หรือการที่ฝ่ายต่อต้านสนธิกำลังยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์และบีบให้ SAC ยอมแพ้ได้ แต่เงื่อนไขนี้เกิดขึ้นได้ยาก เพราะผู้นำ SAC ขึ้นชื่อว่าระมัดระวังตัว ไม่ไว้วางใจคนรอบข้างมากนัก และรวมศูนย์การปกครองไว้ที่ตนเองเป็นหลัก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่จะนำมินอ่องลายออกโดยใช้กำลัง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ทางออกเดียวที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ท้ายสุดก็ต้องกลับมาที่การเจรจา ระหว่าง SAC และคู่ขัดแย้งทั้งหมด ในเวลานี้ SAC เริ่มส่งสัญญาณออกมาว่าพร้อมจะเจรจากับฝ่ายต่อต้าน นี่เป็นครั้งแรกที่ SAC โยนหินถามทาง และถามหาความเป็นไปได้เรื่องการพูดคุยสันติภาพ แม้ไม่มีความเชื่อว่าจะเป็นการเจรจาเพื่อกรุยทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ก็ตาม อย่างไรก็ดี กลุ่มก้อนทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ และรัฐบาล NUG ออกมาตอบโต้และปฏิเสธไม่ยอมรับโอกาสการเจรจาในครั้งนี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังมีข่าวนี้ออกมา เครื่องบินฝ่ายทหารพม่ายังเข้าไปทิ้งระเบิดที่เมืองล่าเสี้ยว เมืองขนาดใหญ่ในรัฐฉาน
เมื่อต้นปี กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ในนาม K3C (KNU ของกะเหรี่ยง KNPP ของคะเรนนี และ CNF ของฉิ่น) ยื่นข้อเสนอไปยัง SAC ให้เปิดการเจรจาสันติภาพ โดยมีเงื่อนไขหลัก ได้แก่ กองทัพพม่าต้องถอนตัวออกจากการเมือง ยินยอมให้รัฐบาลพลเรือนควบคุมกองทัพได้ และการสร้างสหพันธรัฐใหม่ตามแนวทางสหพันธรัฐนิยมและประชาธิปไตยที่เป็นสากล แน่นอนว่า SAC ปฏิเสธข้อเสนอนี้ทันที
ในบรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดในพม่า ในห้วงที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายมีข้อเสนอของตนเอง และไม่พร้อมจะลดราวาศอก การเจรจาเพื่อนำไปสู่สันติภาพในระยะสั้นและระยะยาวเกิดขึ้นได้ยาก เพราะข้อเสนอของอีกฝ่ายก็จะถูกปฏิเสธแบบไม่เหลือเยื่อใย ต่างฝ่ายต่างมี “ธง” เป็นของตนเอง แม้ในฝ่ายต่อต้านเอง ก็มีความขัดแย้งที่เราเห็นได้ทั่วไป กรณีของเมียวดี ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาชี้ความขัดแย้งระหว่างกองกำลังของ BGF และกะเหรี่ยง KNU (มีกองกำลังชื่อว่า KNLA) ที่แม้ทั้งสองฝ่ายจะแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาได้ แต่ความตึงเครียดระหว่างกองกำลังหลายฝ่ายยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เช่นเดียวกับความแปลกแยกของรัฐบาล NUG ที่ไม่สามารถควบคุมกองกำลัง PDF ของตนเองได้ทั้งหมด
เมื่อสภาพการณ์เป็นดังนี้ หากปล่อยให้การเจรจาเพื่อนำไปสู่สันติภาพเกิดขึ้นโดยผ่าน “มือที่มองไม่เห็น” ในชั่วชีวิตนี้เราคงไม่มีวันเห็นพม่าสงบได้อีก ผู้เขียนมองว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงสุดที่จะเป็นตัวกลางเพื่อนำคู่ขัดแย้งในพม่าเข้ามาพูดคุย อาจจะยังไม่ถึงคำว่า “สันติภาพ” แบบสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยคู่ขัดแย้งควรหันมาทำข้อตกลงหยุดยิง (ceasefire agreement) ผู้เขียนไม่ได้คาดคิดว่าข้อตกลงหยุดยิงนี้จะต้องเกิดขึ้นทั่วประเทศ เพราะแม้ว่าพม่าจะเคยมีข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ หรือที่เรียกติดปากว่า NCA มาแล้วตั้งแต่ปี 2015 ในยุคของประธานาธิบดีเต็งเส่ง และยังมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่ยังคงยึดมั่นใน NCA ครั้งนั้นอยู่ เช่น RCSS ของเจ้ายอดศึก ซึ่งเป็นกองกำลังหลักในรัฐฉานใต้ แต่ NCA ยังคงห่างไกลจากคำว่า “ทั่วประเทศ” และมีกองกำลังหรือฝ่ายการเมืองเพียง 9 กลุ่มที่เข้าร่วม ทั้งๆ ที่มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังมีปฏิบัติการอยู่หลายสิบกลุ่ม
ในอดีต ไทยเคยเป็นพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์จากพม่าเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อเจรจาหลายต่อหลายครั้ง และรัฐบาลไทยเองก็สนับสนุนการเจรจาเหล่านี้ แต่ในช่วง 20 ปีมานี้ ไทยไม่มีนโยบายต่างประเทศแบบก้าวกระโดด ส่วนใหญ่จะเป็นการเฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์ในฝั่งเมียนมา เมื่อเกิดปัญหาที่กระทบฝั่งไทยก็ค่อยแก้ แต่มาในวันนี้ ปัญหาจากพม่าทับถม กลายเป็นปมที่แก้ไขได้ยาก การแก้ไขปัญหาทั้งผู้ลี้ภัย แรงงานผิดกฎหมาย อาชญากรรมข้ามชาติ หรือปัญหาอื่นๆ จำเป็นต้องมาจากรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ มีเจตจำนงทางการเมือง (political will) ที่มองอย่างรอบด้านว่าปัญหาพม่าเป็นทั้งเงื่อนปมที่ท้าทายไทยทั้งในด้านความมั่นคงองค์รวม รวมทั้งจะพิสูจน์ “กึ๋น” ด้านการต่างประเทศของไทยด้วย
เมื่อรัฐบาลมีเป้าหมายว่าจะลงไปแก้ไขปัญหาพม่า เพื่อให้ชายแดนของไทยปลอดภัยขึ้น ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด หรือ mindset รวมทั้งกับดักของระบบราชการ ที่มักไม่เอื้อให้คนทำงานคิดนอกกรอบ คิดป้องกันไม่เกิดปัญหา ทำให้ที่ผ่านมา มาตรการของไทยเป็นไปในเชิงแก้ไขปัญหารายวัน มากกว่าการคิดแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการ ท้ายสุด ปัญหาภายในของพม่าไม่สามารถจบลงในระยะสั้นได้อย่างแน่นอน รัฐบาลไทยควรใช้แนวทางแบบอนาคตศาสตร์ (foresight analysis) เพื่อคาดการณ์อนาคต ว่าอะไรจะเป็นความท้าทายของไทยทั้งในระยะใกล้และไกล หากไม่มีแนวทางแบบองค์รวม รวมทั้งอาณัติจากรัฐบาลแล้ว แม้คนทำงานอยากแก้ไขปัญหาใจจะขาด แต่เมื่อเกาไม่ถูกจุด ปัญหาจากเพื่อนบ้านก็ยังจะคันมาถึงไทยไปอีกนานแสนนาน