ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|
สุจิตต์ วงษ์เทศ : หาปลัดกระทรวงคนใหม่ให้วัฒนธรรม
สื่อมวลชนเสนอข่าวกระทรวงวัฒนธรรม ต้องการเสาะหาปลัดกระทรวงคนใหม่ ผลักดันงานวัฒนธรรมให้เป็นทุนกระตุ้นความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งควรทำอย่างยิ่ง แต่ต้องแยกแยะและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่าอะไร? แค่ไหน? อย่างไร?
รัฐบาลไทยย้ำหลายครั้งและหลายปีมาแล้วเรื่องเศรษฐกิจ ว่ากระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงทางสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ซึ่งทำราวกับมี “ปม” อะไรสักอย่าง (เหมือนความเป็นไทยต้องย้ำแล้วย้ำอีกเรื่อง “คนดี”) แต่ยังไม่รู้ว่า “ปม” ของกระทรวงวัฒนธรรมคืออะไร?
กระทรวงวัฒนธรรมมีภารกิจโดยตรง คือ “วัฒนธรรม” ตามชื่อกระทรวง แต่วัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม หมายถึงความเป็นไทยมีลายกระหนก และมีที่สูง-ที่ต่ำ กับความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ใหญ่-ผู้น้อย ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อความคิดสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ และเป็นอุปสรรคต่อพลังซอฟต์เพาเวอร์
ตั้งแต่มีกระทรวงวัฒนธรรม (ครั้งล่าสุด) เป็นที่ยอมรับกว้างขวางว่าเป็น “กระทรวงอีเวนต์” ที่มีอีเวนต์สม่ำเสมอต่อเนื่อง และอีเวนต์เหล่านั้นให้ความสำคัญกับความเป็นไทย มีลายกระหนก, ที่สูง-ที่ต่ำ, ผู้ใหญ่-ผู้น้อย ฯลฯ
สิ่งที่กล่อมเกลาและควบคุมแนวคิดกระทรวงวัฒนธรรมว่าความเป็นไทยมีลายกระหนก คือพลังของประวัติศาสตร์ไทย สำนวน “คลั่งเชื้อชาติไทย” ทั้งๆ “เชื้อชาติ” ไม่มีจริงในโลก และ “เชื้อชาติไทย” ในโลกก็ไม่มี แต่กระทรวงวัฒนธรรมยึดกุม “เชื้อชาติไทย”เป็นหัวใจ ไม่ปล่อยวาง แล้วใช้ “ตบตา” ชาวไทยและชาวโลก ทำให้คำอธิบายวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมไม่เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน
ทางแก้ไขมีหลายช่องทาง
เรื่องแรก คือกระทรวงวัฒนธรรมต้องซื่อตรงต่อหลักการซึ่งประกอบด้วยหลักฐานวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล จากนั้นอธิบายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในไทยด้วยสำนวนภาษาง่ายๆ ให้คนอ่านเข้าใจไม่ยาก ไม่ใช่อธิบายเป็น “คำหลวง” ด้วยการคัดลอกต่อๆ กันมาผิดๆ ถูกๆ ตกๆ หล่นๆ โดยไม่มีการตรวจสอบใดๆ เมื่อมีผู้ทักท้วงโดยมีหลักฐานก็ไม่ใส่ใจแก้ไข อย่างที่ประพฤติมาตั้งแต่มีกระทรวงวัฒนธรรมจนทุกวันนี้
เรื่องต่อไป คือทบทวนคำอธิบายทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อให้ตรงตามหลักฐานเป็นจริงโดยไม่ “ยกเมฆ” เพื่อข่มขู่และคุกคามประชาชน แล้วแบ่งปันเผยแพร่สู่สาธารณะ (ด้วยงบ “อีเวนต์” นั่นแหละ) จะยกตัวอย่างดังนี้
1. คนไทยไม่มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน แต่กระทรวงวัฒนธรรมบอกอย่าง “เบลอๆ” ว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน โดยไม่แสดงหลักฐานใดๆ ทั้งนั้น
2. สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย และในโลกความจริงไม่เคยมีราชธานีแห่งแรก ไม่ว่ายุคไหน? สมัยไหน? แต่กระทรวงวัฒนธรรมบอกว่าสุโขทัยราชธานีแห่งแรก โดยไม่แสดงหลักฐานอะไรเลย
3. กรุงสุโขทัยไม่เคยมีอำนาจเหนือปัตตานีและคาบสมุทรมลายู แต่กระทรวงวัฒนธรรมยอมให้คนมีเครื่องแบบถือปืนปลุกระดม และกระทำรุนแรงต่อประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอ้างว่าปัตตานีตลอดแหลมมลายูเป็นของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทั้งๆ ไม่จริง และไม่เคยพบหลักฐานอย่างนั้นทั้งทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา
4. ร้อยเอ็ด (ในชื่อจังหวัดร้อยเอ็ด) หมายถึง “เมืองร้อยเอ็ดประตู” จากหลักฐานตรงไปตรงมาเป็นลายลักษณ์อักษร “ไม่ใช่ตัวเลข” ในหนังสืออุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) แต่กระทรวงวัฒนธรรมปล่อยให้เจ้าหน้าที่วัฒนธรรม สมคบกับผู้มีผลประโยชน์บางกลุ่มปลอมแปลงว่า “ร้อยเอ็ด” หมายถึง “เมืองสิบเอ็ดประตู” ทั้งไม่มีหลักฐาน แต่ร่วมโฆษณาความเท็จ “สิบเอ็ดประตู”
5. อโยธยามีความเป็นมาก่อนเมืองสุโขทัย ที่สำคัญคือเมืองอโยธยามีคูน้ำ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นเมืองเก่าของอยุธยา (ปัจจุบันอยู่บริเวณมีสถานีรถไฟอยุธยา) ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงให้ความสำคัญมากอยู่ในพระราชดำรัสเปิดโบราณคดีสโมสร
แต่กระทรวงวัฒนธรรมไม่แบ่งปันข้อมูลหลักฐานที่มีจริงให้สาธารณะรับรู้ ซึ่งเท่ากับ “ปิดหูปิดตาประชาชน” แล้วปล่อยให้ฝ่ายจ้องทำลายเมืองอโยธยาโฆษณาปาวๆ หลอกประชาชนโดยกระทรวงวัฒนธรรมทำเป็นไม่รู้ร้อนหนาว ซึ่งเข้าข่าย “สมคบกับผู้ไม่หวังดี” ทำลายเมืองอโยธยา ซึ่งเป็นต้นตอรากเหง้าชาวสยาม เริ่มแรกความเป็นไทย (ไม่มีลายกระหนก)
คำอธิบายที่มีเหตุผลพร้อมหลักฐานวิชาการอันเป็นสากล จะสร้างพลังความคิดและจิตใจสากลให้คนทั้งประเทศเลือกสรรด้วยตนเองไปต่อยอดเป็นซอฟต์เพาเวอร์ หรืออะไรก็ได้ที่ได้ค่าตอบแทนอย่าง “เลี้ยงชีพชอบ” ส่งผลดีเยี่ยมต่อท้องถิ่นทั่วประเทศที่เปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ แล้วกระตุ้นความมั่งคั่งของประชาชนตามที่รัฐบาลต้องการ