สุจิตต์ วงษ์เทศ : มวลชนใหม่ กำลังกลายตนเองเป็นสื่อในโลกออนไลน์

โลกไม่เหมือนเดิม สื่อมวลชนที่เคยมีอภิสิทธิ์เหนือสามัญชน ต้องทบทวนตัวเอง

มวลชนที่เคยต้องพึ่งพาสื่อมวลชน บัดเดี๋ยวนี้กำลังมีมวลชนชนิดใหม่กลายตนเองของแต่ละคนเป็นสื่อ แล้วลดการพึ่งพาสื่อมวลชนแบบเดิม

 

มวลชนชนิดใหม่ในโลกออนไลน์

Advertisement

บทความเรื่อง “ยี่เกสื่อ-ยี่เกทหาร” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (พิมพ์ในมติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 16) บอกว่ามวลชนเดิมหายไปแล้ว หรือกำลังหายไป แล้วเกิดเป็นมวลชนชนิดใหม่ซึ่งบทบาทในรัฐและสังคมของมวลชนประเภทนี้ยังไม่ลงตัว

“ด้วยอิทธิฤทธิ์ของสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อสังคม ‘มวลชน’ เลือกข่าวเอง เลือกสร้างวาระแห่งชาติเอง ต่างแสดงความคิดเห็นว่าควรใช้ทรัพยากรส่วนรวมไปในประเด็นนั้นๆ อย่างไร จึงเป็นความเห็นที่หลากหลายเสียจนไม่มีความเห็นใดครอบงำความเห็นอื่น ความพยายามจะ ‘ซื้อ’ สื่อออนไลน์ยังมีอยู่ แต่ไม่สู้จะได้ผลเด็ดขาดนัก (แม้แต่การใช้อำนาจรัฐปิดกั้น) ทุกคนเป็นผู้รับสารและส่งสารไปพร้อมกัน

แม้แต่ ‘ข่าวลือ’ ก็สามารถเผยแพร่ได้กว้างขวางขึ้นด้วยอิทธิฤทธิ์ของเทคโนโลยีเช่นกัน

Advertisement

แน่นอนคุณภาพของข่าวสารข้อมูลประเภทนี้อาจไม่น่าเชื่อถือนัก แต่คนในวงวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีใจเป็นธรรมก็ลองถามตัวเองว่าคุณภาพที่ด้อยของสื่อประเภทนี้ด้อยกว่าคุณภาพของข่าวสารข้อมูลที่นำเสนอในสื่อมวลชนไทยแบบเก่าจริงละหรือ ถึงอย่างไรผู้รับสาร ไม่ว่าจากสื่อประเภทใด ก็ต้องตรวจสอบความถูกต้องอย่างรัดกุมทั้งนั้น”

 

อภิสิทธิ์ชน

ฐานันดรที่สี่ หมายถึงสื่อประเภทหนังสือพิมพ์ เป็นที่รู้กันเองในหมู่นักหนังสือพิมพ์ยุคแรกๆ (ยังไม่รวมนักอื่นๆ เพราะเป็นของราชการเท่านั้น เช่น วิทยุ, โทรทัศน์)

ประชาชนคนอ่านหนังสือพิมพ์ยุคแรกๆ มีไม่มาก จึงรู้จักบ้างว่ามีฐานันดรที่สี่ แต่รู้จักไม่มาก เพราะคนส่วนมากไม่รู้จัก

แต่ฐานันดรที่สี่แปลว่าอะไร? หมายถึงอะไร? ผมไม่เคยรู้ และไม่เคยคิดจะแสวงหาความรู้ เพราไม่เลื่อมใสตั้งแต่แรกๆ

กระทั่งได้อ่านบทความของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ในมติชนรายวัน ถึงเริ่มเข้าใจพัฒนาการความเป็นมาว่าหนักไปทางอภิสิทธิ์ชน จะขอคัดบางตอนมาแบ่งปันไว้อีก ดังนี้

 

ฐานันดรที่สี่

“เวลาที่เราเรียกสื่อมวลชน (โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์) ว่า ฐานันดรที่สี่ นั่นเป็นเพราะที่มาทางประวัติศาสตร์ในสังคมอังกฤษ นับเนื่องมาว่า สื่อกลายเป็นฐานันดรที่มีความสำคัญ ต่อจากสามฐานันดรที่อยู่ในรัฐสภา นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18

ในขณะที่บางตำราก็อ้างว่า กำเนิดของคำว่าฐานันดรที่สี่ (The Forth Estate) มาจากความเข้าใจว่า สื่อนั้นเป็นอำนาจที่ประชาชนพึ่งพาได้นอกไปจากรัฐสภา รัฐบาล และศาล เพราะในยุคก่อน คนไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งมากนัก แต่การรู้หนังสือและความมีเหตุมีผลของผู้คนนั้นขยายตัวขึ้น สื่อจึงเป็นตัวแทนของประชาชนมากกว่าบรรดาอำนาจอธิปไตยแบบอื่นที่เชื่อมโยงกับประชาชนน้อยกว่า

บางตำราก็กล่าวอ้างว่าสื่อนั้นขึ้นมามีบทบาทเป็นฐานันดรที่สี่ในสังคมตะวันตกเพราะสถาบันอื่น ได้แก่ สถาบันกษัตริย์ ขุนนาง และคริสตจักรนั้นไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนเหมือนดังยุคเก่า ด้วยเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการปฏิวัติ ที่ทำให้สื่อกลายเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนและให้ข้อมูลกับประชาชนในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ (ดู J. Schultz. 1998. Reviving the Fourth Estate: Democracy, Accountability and the Media. Cambridge University Press)

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องสังเกตก็คือ ในแต่ละประสบการณ์ของประเทศนั้น วิวัฒนาการของการที่สื่อจะมีความเป็นอิสระ และได้รับการยอมรับจากสังคมว่ามีสถานะที่สูงส่งกว่าประชาชนนั้นไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละประเทศ

อย่างในกรณีของโลกตะวันตก พัฒนาการของสื่อนั้นมีความสืบเนื่องมาจากยุคแสงสว่างทางปัญญา ความมีเหตุมีผล ความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ ความเชื่อมั่นในความเป็นธรรมของเศรษฐกิจเสรี รวมทั้งความเชื่อมั่นในเรื่องของเสรีภาพ

นอกจากนี้แล้วในฐานะฐานันดรที่สี่ สื่อเชื่อว่าตนมีบทบาทในการผลักดันให้รัฐบาลนั้นรับฟังความคิดเห็นของประชาชน”

(จาก อนาคตของความไร้อนาคตของสื่อในยุค “โลกหลังสื่อ” โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ใน มติชน ฉบับวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 16)

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image