คดีเงินงบประมาณแผ่นดิน โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

แฟ้มภาพ

ผ่านมา 2 ปีกว่าแล้ว ถือว่าล่าช้าไม่น้อยเลย สำหรับคดีที่มีทนายความยื่นร้องเรียน ขอให้ผู้ว่าฯ สตง.และคณะกรรมการ คตง. ตรวจสอบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดก่อนหน้านี้ ได้นำเงินงบประมาณแผ่นดิน มาจ่ายค่าจ้างให้สภาทนายความฟ้องคดีต่างๆ ซึ่งผู้ร้องเรียนระบุว่าเป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท น่าจะไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประมวลจริยธรรมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน

อันเป็นการร้องเรียนที่สอดคล้องกับยุคสมัยแห่ง คสช.ที่ชูการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นภารกิจสำคัญยิ่ง

เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการปราบโกง และที่ผ่านมา ป.ป.ช.ก็ถูกมองว่ามุ่งเล่นงานนักการเมืองเป็นหลัก

คราวนี้พอมีการร้องเรียนกล่าวหา ป.ป.ช.เอง ก็น่าจะต้องตรวจสอบให้เสร็จสิ้น มีบทสรุปที่ชัดเจน เพื่อสร้างบรรทัดฐานการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินให้ชัดแจ้ง

Advertisement

ทั้งนี้ เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของภารกิจปราบคอร์รัปชั่นในยุคนี้ให้ประจักษ์อีกด้วย

ถือเป็นหน้าที่ของ สตง.และ คตง.ต้องเป็นผู้ทำให้เรื่องนี้กระจ่างและเป็นมาตรฐานให้ทุกหน่วยยึดปฏิบัติ

แต่เขายื่นร้องมาตั้งแต่ปลายปี 2557 มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ นี่เข้าสู่เดือนที่ 2 ของปี 2561 แล้ว ล่วงเลยมากว่า 2 ปีแล้ว

Advertisement

ยังไม่มีอะไรชัดเจน เป็นเพราะอะไร

ขณะเดียวกันผู้ร้องเรียน ก็มิใช่ว่าร้องไปลอยๆ แต่ได้ติดตามทวงถามความคืบหน้าเป็นระยะ

ที่สำคัญในช่วงกว่า 2 ปีมานี้ ผู้ร้องเรียนยังได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม นำเสนอข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อกฎหมายต่างๆ รวมทั้งนำเสนอการสอบพยานเพิ่ม ไม่ต่ำกว่า 8 ครั้ง เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาและวินิจฉัยของผู้ตรวจสอบ

ไม่นับการยื่นเรื่องทวงถามความคืบหน้า และขอเร่งรัดให้พิจารณาลงมติ ไม่ต่ำกว่า 8 ครั้งอีกเช่นกัน

ความที่การร้องเรียนให้ตรวจสอบ ป.ป.ช.นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญและเรื่องใหญ่ บรรดาหน่วยราชการเฝ้ารอผลการตรวจสอบ ประชาชนและสื่อมวลชนก็จับตามอง

ระหว่างการตรวจสอบอย่างละเอียด รอบคอบ สุจริต โปร่งใส กับประเด็นความล่าช้าอย่างน่าสงสัย

ทำอย่างไรให้เหมาะสมพอดิบพอดีระหว่าง 2 ประเด็นนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

เอาเป็นว่ารอบคอบย่อมดี และก็ไม่ควรเนิ่นนานเกินไป

อีกอย่างสุดท้ายเมื่อมีมติอะไรออกมา จะต้องปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัยในทุกประเด็น

อีกทั้งผู้ร้องเรียนได้ตั้งบรรทัดฐานต่อผู้ตรวจสอบเอาไว้ด้วยว่า ผลการวินิจฉัยจะต้องเป็นที่ยอมรับของผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย ด้านการเงินการคลัง ด้านภาษีอากร ต่อเจ้าพนักงานหน่วยต่างๆ ในกระทรวงการคลัง และในกระทรวงยุติธรรม

เนื่องจากต้องใช้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติของหน่วยราชการ ต่อการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินอย่างสุจริตไม่เสียหาย

แต่ที่แน่ๆ เมื่อเทียบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน พบว่าได้ใช้หลักปฏิบัติที่รักษาเงินงบประมาณแผ่นดิน โดยไม่มีการว่าจ้างสภาทนายความ การฟ้องร้องคดีต่างๆ มีเจ้าพนักงานด้านคดีของ ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น

เอาเป็นว่า ทั้งผู้ว่าฯ สตง. คณะกรรมการ คตง.ย่อมรู้ดีว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใส (ทีไอ) เพิ่งเผยแพร่รายงานดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นทั่วโลก ประจำปี 2559 ประเทศไทยตกจากอันดับที่ 76 ในปี 2558 มาอยู่ในอันดับที่ 101 โดยมีคะแนนอยู่ที่ 35 ซึ่งลดจาก 38 คะแนนในปี 2558

หน่วยงานอย่าง สตง.และ คตง.มีหน้าที่ต้องช่วยให้ดัชนีภาพลักษณ์ของไทยดีขึ้นกว่าเดิม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image