ภาวะ ไม่เสถียร จาก ร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธุ์

สถานะของ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นับแต่ “เปิดตัว” ออกมาเมื่อวันที่ 29 มกราคมเป็นต้นมา ดำเนินไปอย่างไร

ไม่ต้องพึ่ง “มาสเตอร์โพล”

ไม่ต้องพึ่ง “กรุงเทพโพล” ไม่ต้องพึ่ง “สวนดุสิตโพล” หรือแม้กระทั่งผลงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ก็ตอบได้ว่า อยู่ในภาวะอัน “ไม่เสถียร”

Advertisement

คำว่าไม่เสถียรจะมองเห็นภาพได้แจ่มชัดมากยิ่งขึ้นหากนำไปวางเรียงเคียงข้างอยู่กับคำว่า “ไม่สถิต” หรือยิ่งนึกถึงคำว่า Un-Stable ในภาษาอังกฤษ

จะยิ่ง “ประจักษ์” อย่างเห็นเป็น “รูปธรรม”

ลักษณะอัน “ไม่เสถียร” นี้ ไม่ว่าจะมองจากมุมในทาง “วิทยาศาสตร์” ไม่ว่าจะมองจากมุมในทาง “ศาสนา” ก็ถูกต้อง

Advertisement

เพราะวิทยาศาสตร์ยึดกุมหลัก “พลวัต” เพราะศาสนายึดกุมหลัก “อนิจจัง”

กระนั้น คำถามอันตามมาอย่างฉับพลันก็คือ ลักษณะอันเป็นพลวัต ลักษณะอันเป็นอนิจจังนั้นมีแนวโน้มไปในด้านใด

ในด้าน “ดี” หรือในด้าน “ร้าย”

กรณีอย่าง “ร่าง” รัฐธรรมนูญ ขอให้ตัดความเห็นอันมาจากทางด้านพรรคเพื่อไทย ขอให้ตัดความเห็นอันมาจาก นปช.คนเสื้อแดง

หรือแม้กระทั่ง “น้ำเสียง” จาก ทักษิณ ชินวัตร

เพราะรู้กันอยู่แล้วว่า ทักษิณ ชินวัตร ต้องไม่เห็นด้วย เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าพรรคเพื่อไทยต้องเห็นต่าง เพราะรู้กันอยู่แล้วว่า นปช.คนเสื้อแดงต้องต่อต้าน

ต้องฟังจากกลุ่มหรือบุคคลประเภท “กันเอง”

กันเองอย่างเช่น จากคนที่เคยร่วมอยู่ในการเคลื่อนไหวก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 กันเองอย่างเช่น จากคนที่เคยร่วมเป่านกหวีดก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

อย่างเช่น นายแก้วสรร อติโพธิ

อย่างเช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อย่างเช่น นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ อย่างเช่น น.ส.รสนา โตสิตระกูล

อย่างเช่นเสียงจาก “พรรคประชาธิปัตย์”

ท่านเหล่านี้ “แฮปปี้” หรือไม่ ท่านเหล่านี้ชโยโห่ร้อง อวยชัยให้พรหรือไม่ ท่านเหล่านี้ยังพร้อมที่จะยืนเรียงเคียงข้างกับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ หรือไม่ ท่านเหล่านี้แสดงความมั่นใจหรือไม่ว่า “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่าน “ประชามติ”

คำตอบเป็นไปในทาง “ไม่-แฮปปี้” คำตอบเป็นไปในทางน่าจะ “ไม่ผ่าน”

 

ภายในความเห็น “ต่าง” จำนวนมากมายจากบุคคลซึ่งมิได้เป็นฝ่ายเดียวกับ ทักษิณ ชินวัตร มิได้เป็นฝ่ายเดียวกับพรรคเพื่อไทย และมิได้เป็นฝ่ายเดียวกับ นปช.คนเสื้อแดง

คือความห่วงใยว่า “สถานการณ์” อาจเป็น “ผีซ้ำด้ำพลอย”

นายแก้วสรร อติโพธิ ซึ่งแม้จะเป็นนักกฎหมาย แต่ไล่เรียงในเรื่องทาง “เศรษฐกิจ” ได้อย่างคมชัดอย่างยิ่งว่า

ที่ “กระตุ้น” ใส่เงินลงไปจำนวนมากมายนั้น “ไม่เวิร์ก”

ที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งๆ ที่อัดงบประมาณลงไปหลายแสนล้านบาท เพราะว่าคนไม่ยอมจับจ่ายใช้สอย

ได้เงินมาแล้วก็ “เก็บ” ทำให้เงินขาด “การหมุนเวียน”

หากมีการทำ “ประชามติ” ผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขาดความเป็นสากลในบรรยากาศที่ไม่มีผลงานและความสำเร็จจากการกระตุ้น “เศรษฐกิจ” เช่นนี้ จะยิ่งทำให้เสถียรภาพทางการเมืองโยกสั่น

โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบเมื่อเดือนตุลาคม 2516 มีสูงอย่างยิ่ง

ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับก็คือ ความล้มเหลวที่สะท้อนออกมาไม่เพียงแต่ในเรื่อง “การเมือง” เท่านั้น หากยังหนักหนาสาหัสจากความล้มเหลวในด้าน “เศรษฐกิจ”

ความหงุดหงิดจึง “สะสม” ในเชิงปริมาณกลายเป็นอีก “คุณภาพ” หนึ่ง

จากนี้จึงเห็นได้ชัดเป็นลำดับว่า การ “เปิดตัว” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทรงความหมายยิ่ง

ก่อให้เกิด “สภาพการณ์” ในทางการเมืองลักษณะใหม่ ขณะเดียวกัน ก็กระพือให้ “สภาพการณ์” ในทางเศรษฐกิจถูกเขย่าไปด้วยโดยอัตโนมัติ

จึงเท่ากับเป็นอีก “ฤดูกาล” จึงเท่ากับเป็นอีก “สถานการณ์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image