สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘วัฒนธรรม’ ใต้โครงสร้างอำนาจทางการเมือง

สุจิตต์ วงษ์เทศ : “วัฒนธรรม” ใต้โครงสร้างอำนาจทางการเมือง

โครงสร้างทางการเมืองไม่อนุญาตให้วัฒนธรรมประชาชนมีอำนาจ ดังนั้นความเป็นไทยไม่มีประชาชนและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่มีค่า “ไม่เข้าถึง” ประชาชน

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมบอกในการบรรยาย “การขับเคลื่อนวัฒนธรรมสู่พลังแห่งอนาคต Culture for the Future” ภายใต้โครงการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม “22 ปี วธ. นำคุณค่า พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ 9 จุดเน้นเพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจวัฒนธรรม ได้แก่

1.ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย 2. ส่งเสริมและพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิต 3. สนับสนุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรด้านวัฒนธรรม 4. พัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม 5. พัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของบุคลากรและหน่วยงานในสังกัด วธ. 6. ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม 7. พัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งบริการทางวัฒนธรรม 8. ยกระดับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลก 9. ส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรมตามความต้องการของตลาด

Advertisement

(ที่มา : มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2567 หน้า 8)

กรอบข้าราชการประจำต้องดำเนินตาม “สิ่งสำเร็จรูป” หรือ “สูตรสำเร็จ” ถ้าต่างจากนี้ก็มีปัญหา ดังนั้น สังคมต้องไม่หวังเกินจากนี้ คือมีนโยบาย แต่การปฏิบัติจะมีจริงหรือไม่จริงเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก มีตัวอย่างบางเรื่องดังนี้

Advertisement

ข้อเสนอแนะที่ 1 “ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย”

กระทรวงวัฒนธรรมยกย่องคุณค่า “ความเป็นไทยมีลายกระหนก” ซึ่งเหมาะกับวิถีอนุรักษนิยมสำหรับสังคมถูก “แช่แข็ง” จึงไม่ใช่ความเป็นไทยที่มีประชาชน

ข้อเสนอแนะที่ 7 “พัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งบริการทางวัฒนธรรม”

พิพิธภัณฑสถานฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นแหล่งบริการทางวัฒนธรรมที่มีพลังที่สุด เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เป็นพลังสนับสนุนการผลิตซอฟต์เพาเวอร์

แต่กระทรวงวัฒนธรรม “แช่งแข็ง” พิพิธภัณฑสถานฯ ทั่วประเทศ สนอง “ความเป็นไทยมีลายกระหนก” ที่ไม่มีประชาชน จึงไม่เป็นไปเพื่อประชาชน

โครงสร้างอำนาจไม่อนุญาตให้วัฒนธรรมมีประชาชน เรื่องนี้ขอยกข้อความที่มีผู้อธิบายเรื่องโครงสร้างอำนาจในมติชน ดังนี้

“โครงสร้างอำนาจ” ที่ไม่เอื้อต่อการคิดถึงประชาชนเป็นอันดับแรก

“โครงสร้างอำนาจ” ที่คนกลุ่มหนึ่งใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์และเสพสุข โดยคำว่า “เพื่อประชาชน” เป็นข้ออ้างอันดับแรก แต่ปฏิบัติในอันดับท้ายสุด หรือไม่เคยทำอย่างจริงจังเลย

“โครงสร้างอำนาจ” ที่ออกแบบทั้งการเขียนกติกา และวางกลไกให้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็น “อำนาจ” ใช้บังคับอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ว่า “จะต้องอยู่กันอย่างนี้”

[คอลัมน์โดย “การ์ตอง” ใน มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2567 หน้า 6]

ใต้โครงสร้างอำนาจที่ไม่เอื้อต่อการคิดถึงประชาชนเป็นอันดับแรก จะให้วัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมเอื้อประชาชนได้ยังไง? มีแต่เอื้อชนชั้นนำที่ไม่เห็นหัวประชาชน ซึ่งเห็นประจักษ์พยานทุกเมื่อเชื่อวันจากการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของกระทรวงวัฒนธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image