ภาพเก่า..เล่าตำนาน : เขาค้อ…จากสมรภูมิเลือดสู่สวรรค์บนดิน (จบ) : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ต่อเนื่องจากตอนที่แล้วครับ

11 มิถุนายน 2519 ช่วงบ่าย ณ อาคารรับรองกองพันพิเศษค่ายสฤษดิ์เสนา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงซักถามแม่ทัพภาคที่ 3 กรณีเครื่องบิน F-5A ซึ่งมีเรืออากาศโท พงษ์ณรงค์ เกสรศุกร์ เป็นนักบินถูกยิงตกในบริเวณเขาค้อ ทรงแสดงความห่วงใยประชาชนในพื้นที่

พระองค์รับสั่งว่า การที่เรานำทหารเข้าไปกวาดล้างแต่ละครั้ง เราอาจจะทำลายข้าศึกได้ และบางครั้งเราต้องสูญเสียกำลังพล และหลังจากปฏิบัติการเสร็จแล้วก็นำกำลังกลับเข้าที่ตั้ง ผู้ก่อการร้ายก็จะกลับเข้าที่เดิม เปรียบเสมือนโยนก้อนหินลงบนแหน เมื่อน้ำกระเพื่อมแหนก็จะกระจาย แต่เมื่อน้ำสงบนิ่งแหนก็จะกลับเข้าที่เดิม เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไป แล้วจะไม่ได้อะไรเลย เราต้องปรับยุทธวิธีใหม่ ด้วยการแย่งยึดพื้นที่ไว้ให้ได้ทีละน้อย แล้วนำราษฎรเข้าไปตั้งรกรากทำมาหากินให้มั่นคง สร้างความเจริญเข้าไปทั่วบริเวณ จนในที่สุดผู้ก่อการร้ายจะแพ้ความเจริญ อยู่ไม่ได้ ต้องละทิ้งพื้นที่นี้ไป วิธีการอย่างนี้เรียกว่า “ยุทธศาสตร์พัฒนา”

คณะที่ร่วมกราบบังคมทูลฯ มี พันเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ พันโท มนัส คล้ายมณี พันโท หาญ เพไทย ร่วมถวายรายงาน

Advertisement

หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมทหารที่สนามหน้าเรือนประทับรับรองติดกับลำน้ำเข็ก และเสด็จฯกลับกรุงเทพฯ (ข้อมูลจากหนังสือ 80 ปี พลเอก มนัส คล้ายมณี)

โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนา จึงเริ่มขึ้นด้วยการจัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์พัฒนาขึ้นที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งสำหรับเป็นทุนในการดำเนินการเริ่มต้น และต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กองอำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก”

โดยจัดทำแผนงานโครงการเมื่อ 11 มิถุนายน 2520

Advertisement

กองทัพภาคที่ 3 น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติอย่างฉับพลัน โดยนำราษฎรอาสาสมัครรุ่นแรกมาฝึกอาวุธในค่ายสฤษดิ์เสนา 3 สัปดาห์แล้วนำเข้าสู่พื้นที่ด้านทุ่งสมอ-เขาค้อ 2 หมู่บ้าน บ้านละ 70 ครอบครัว ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านปานสุขุม และ หมู่บ้านอุทโยภาส (ตั้งชื่อตามนามสกุลของกำลังพลที่เสียชีวิตจากการรบ) การดำเนินการตามยุทธศาสตร์พัฒนาถูกต้านทานจากผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ มีการรบปะทะอย่างหนัก แต่ก็จัดตั้งได้อีก 2 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านรักไทย และ หมู่บ้านเผ่าไทย

แนวพระราชดำริดังกล่าวในวันนั้น คือ จุดเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงานของพลเรือน ตำรวจ ทหารในพื้นที่เขาค้อ นี่เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่คนไทยควรได้รับทราบ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการในปี พ.ศ.2522 โดยมีงานด้านการพัฒนาคือ จัดที่ดินทำกินให้ราษฎรจัดหา แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

ถนนอีกสายหนึ่งที่พลโท สมศักดิ์ ปัญจมานนท์ แม่ทัพภาคที่ 3 ถวายรายงาน คือ ถนนจากบ้านนางั่วถึงบ้านสะเดาะพง เพื่อไปเชื่อมกับถนนสายแรกที่บ้านสะเดาะพง ซึ่งมีการสู้รบอย่างหนักเกิดความเสียหายทั้งสองฝ่ายตลอดการสร้างเส้นทาง

นักรบจำเป็น คือ ผู้ขับรถตีนตะขาบ (แทรกเตอร์) เพื่อเปิดป่าเป็นถนน พลขับรถแทรกเตอร์ของบริษัทเอกชน และข้าราชการกรมทางหลวงที่เสียชีวิตหลายนายเนื่องจากถูกลอบยิงด้วยอาวุธนานาชนิด จนกระทั่งต้องสร้างเกราะทำด้วยเหล็ก/ไม้เพื่อกันกระสุนที่ ผกค. เลือกยิงได้ทุกเวลา (ดูภาพรถแทรกเตอร์ )

กองทัพไทยใช้ทหารบกที่เป็นหน่วยรบจนเกือบหมดแล้วยังไม่พอเพียง การสู้รบในครั้งนั้นจึงต้องไปใช้กองพันทหารนาวิกโยธิน ของกองทัพเรือ ซึ่งปกติทำงานตามแนวชายฝั่งทะเลของประเทศไทยขึ้นไปรบในพื้นที่เขาค้อซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การบาดเจ็บเสียชีวิตจำนวนมากของทหารหาญและกำลังพลในสมรภูมิเขาค้อ เกิดจาก ผกค.วางกับระเบิดทุกเส้นทาง ดักซุ่มโจมตีในป่า ในทุกพื้นที่ทำถนน เข้าตีฐานทหาร ดักยิงบริเวณแหล่งน้ำ แม้กระทั่งยิงอากาศยานตก ผกค. วางระเบิดทุกหนทุกแห่ง ในปี พ.ศ.2524 มีกำลังพลเสียชีวิต 138 นาย

ทหาร-อาสาสมัครที่บาดเจ็บ ถูกลำเลียงส่งโรงพยาบาลพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก เกือบทุกวันนับไม่ถ้วน นักรบเขาค้อทั้งหลายที่บาดเจ็บพิการต่างฝากขอบคุณและระลึกถึงพระคุณของแพทย์พยาบาลที่ช่วยชีวิตพวกเขาไว้ได้จำนวนมาก

เมื่อมียุทธศาสตร์พัฒนา ส่วนราชการทั้งหลายก็ต้องขยับตัว มหาดไทยพิจารณาแบ่งเขตตั้งชื่ออำเภอเขาค้อเพราะมีต้นค้อในพื้นที่

เกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ ขอนำมาบอกกล่าวเพิ่มเติมครับ

ในปี พ.ศ.2492 ทหารจีน (คณะชาติ) ส่วนหนึ่งถอนตัวจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ไปอยู่เกาะไต้หวัน เพราะเกิดสงครามกลางเมือง มีกองกำลังส่วนหนึ่ง ราว 2 หมื่นคนมีนายพลหลี่ เหวิน ฮ่วน (ชัย ชัยศิริ) เป็นผู้นำหน่วยทหารในมณฑลยูนนาน นำหน่วยอพยพไปสู่ตอนเหนือของพม่าและต่อมาเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ทางตอนเหนือของไทยหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นักรบเหล่านี้ถนัดการใช้ชีวิตบนภูเขา เข้มแข็งบึกบึนอดทนไม่มีใครเทียบได้ พวกเขาคือกองทัพที่ 3 (คนละหน่วยกับกองพล 93 ซึ่งสลายไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2)

ผู้เขียนดีใจที่จะได้ฟังตำนานของนักรบเหล่านี้ด้วยตัวเอง

เย็นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 บรรดาอดีตนักรบเขาค้อทุกฝ่ายมาทานอาหารเย็นด้วยกัน ณ ที่พักเรือนผู้ติดตาม พระตำหนักเขาย่า ผู้เขียนเองคือ คนแปลกหน้าต่างถิ่น คนที่มาร่วมงานเคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตรบกันมาแต่เก่าก่อนที่เขาค้อ มีเสียงทักทายหยอกล้อกัน

ผลัดกันขึ้นไปกล่าวถึงความในใจสมัยที่เคยรบกัน ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยบางคนเปิดเผยว่าเคยทำอะไร ตรงไหน อย่างไร ส่วนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ถือว่าเป็นคนสำคัญ คือ พลเอก มนัส คล้ายมณี พลเอก พัลลภ ผลโภค พลโท พีระสิทธิ์ นพสิทธิพร อดีตนายทหารรบพิเศษซึ่งมาร่วมงานแห่งนี้ด้วยมิตรไมตรี เพราะการรบยุติลงเมื่อ 35 ปีที่แล้ว

ในงานเลี้ยงอาหารเย็นวันนั้น พลเอก ชัชวาล ขำเกษม นักรบเขาค้อที่ขาซ้ายขาด และตาบอด 2 ข้างตอนโดนกับระเบิดในปี พ.ศ.2524 (แต่รักษาตาหายใช้การได้ 1 ข้าง) ท่านเพิ่งเกษียณอายุราชการได้พาสุภาพสตรีมาแนะนำต่อผู้เขียน

เธอเล่าให้ฟังว่าเมื่อ พ.ศ.2509 ตอนอายุ 15 ปีเรียนหนังสือที่โรงเรียนจีนที่นครปฐม มีญาติมาชักชวนให้ไปเรียนต่อด้านการพยาบาลที่จังหวัดพัทลุง แต่ญาติพามากรุงเทพฯและนั่งรถ บขส.ต่อไปที่นครพนม และนำเธอข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งลาว หลังจากนั้นญาติพาเดินทางแบบสะบักสะบอมไปจนถึงฮานอย เข้าค่ายทหารอบรมด้านการเมือง 3 เดือนและฝึกหัดด้านการรักษาพยาบาลอีก 2 ปี จึงนำเธอกลับมาปฏิบัติงานในป่าเขาค้อเพื่อเป็นครูสอนอุดมการณ์ทางการเมืองให้เด็กๆ ในป่าพร้อมทั้งทำการเกษตรเพื่อยังชีพ

ต่อมาในปี พ.ศ.2513 เธอถูกส่งไปศึกษาเพิ่มเติมที่ค่ายทหารในเมืองคุนหมิง จีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำหน้าที่เสมือนแพทย์ เธอจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2517 กลับมาทำหน้าที่แพทย์ในป่าเขาค้อดูแลนักรบที่ต่อสู้กับทหาร

เธอเล่าย้อนอดีตอย่างมีความสุขถึงอดีตเมื่อ 40 ปีที่แล้ว และเพิ่มเติมด้วยว่า หลัง 6 ตุลาคม 2519 มีนักศึกษาชายหญิงจำนวนมากเข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มเขาค้อ มีอาวุธถูกลำเลียงเข้ามาเพิ่มให้หน่วยกำลังรบ หลังจากอบรมนาน 3 เดือนนักศึกษาเหล่านี้ออกทำงาน ส่วนใหญ่จะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์หามวลชนเข้ามาเพิ่มในเขาค้อ

เธอเล่าแบบปลื้มใจว่า ในปี พ.ศ.2524 เธอและผู้ถืออาวุธทั้งหลายในเขาค้อ ได้รับข้อมูลเรื่องการมอบตัวกับทางการแล้วจะได้รับการดูแลจากฝ่ายรัฐ ประกอบกับแรงการกดดันจากการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ สมาชิกเกือบทั้งหมดที่อยู่ในป่าเขาค้อจึงทยอยกันออกมามอบตัวกับทหาร โดยไม่ถือว่าทุกคนมีความผิดแต่ประการใด

เธอมาร่วมงานเพื่อพบปะพูดคุยกับสหายร่วมรบใน 19 กุมภาพันธ์ เกือบทุกปีเพื่อพบกับเพื่อนที่รักใคร่รู้ใจกันดี และมีมิตรจิต มิตรใจกับทหารอดีตนักรบเขาค้อทุกคน

รุ่งขึ้นเช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พลเอก สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล และผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 1 ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือนมาทำพิธีบริเวณอนุสาวรีย์ผู้เสียสละเขาค้อ ทุกหน่วยงานวางพวงมาลารำลึกถึงวีรชนผู้เสียชีวิตอย่างแน่นขนัดรวมทั้งอดีตผู้ถืออาวุธที่เคยต่อสู้กับทหารก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

กลุ่มเด็กนักเรียนที่เข้าแถวเป็นระเบียบราว 300 คน ใส่เสื้อยืดสีดำบริเวณอนุสาวรีย์วีรชนเขาค้อ เป็นใครมาจากไหน? ผู้เขียนได้รับคำอธิบายจาก พลโท บรรยงค์ สิรสุนทร อดีตนักรบเขาค้อที่ขาซ้ายขาด นิ้วมือด้านซ้ายขาด 3 นิ้ว เนื่องจากกับระเบิดเมื่อปี พ.ศ.2524 และเพิ่งขอลาออกจากกองทัพบก ให้ผู้เขียนรู้จักคนกลุ่มนี้

คุณภรณี ชัยสิริ (หลานนายพลหลี่) นำคณะนักเรียนชั้น ป.6 ราว 300 คนที่เป็นรุ่นหลาน-เหลนของนักรบเข้าค้อของกองทัพที่ 3 มาร่วมพิธีวางพวงมาลาเคารพบรรพบุรุษที่มาร่วมรบและเสียชีวิตในสมรภูมิเขาค้อด้วย (ตามภาพ) เธอเล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรพบุรุษของเธอ (ทหารจีน) อพยพจากมณฑลยูนนานเข้าไปในตอนเหนือของพม่าแล้วอพยพต่อมาที่เชียงของ ทหารกลุ่มนี้เคยไปช่วยทหารไทยรบที่ดอยยาว ดอยผาหม่น จังหวัดเชียงราย และมาร่วมมือกับทหารไทยร่วมรบที่สมรภูมิเขาค้อที่นี่

เธอกล่าวว่าพวกเธอซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ให้ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยและได้สัญชาติไทยในเวลาต่อมา ซึ่งในตอนนั้นมีจอมพล ถนอม กิตติขจร พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้ประสานงาน มาบัดนี้ลูกหลานเหลนทั้งหลายต้องสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ นึกถึงแผ่นดินไทยที่ได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุข มีการจัดตั้งชมรมไทยยูนนานเพื่อมิให้คนรุ่นหลังลืมอดีตที่ลำบากยากเข็ญ ปัจจุบันพวกหลาน-เหลนนักรบเขาค้อเชื้อสายจีนกระจายกันอยู่ในเชียงใหม่ เชียงรายและแม่ฮ่องสอน

20 กุมภาพันธ์ของทุกปี คือ วันวีรชนเขาค้อ สมรภูมิเลือดที่คนไทยเคยรบกันเองนาน 14 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2511-2525 พลเรือน ตำรวจ ทหารไทยพลีชีพไป 1,171 นาย ไม่รวมผู้บาดเจ็บพิการอีกจำนวนมาก

มาปัจจุบัน เมื่อเข้าเขตพื้นที่เขาค้อ ภาพที่ปรากฏต่อสายตา ไม่มีร่องรอยของป่ารกทึบ เพราะพื้นที่ดังกล่าวกลับกลายเป็นรีสอร์ต กระจุ๋มกระจิ๋ม ที่สร้างลดหลั่นกันไป-มาตามเนินเขาน้อยใหญ่ มีสีสันแพรวพราวตัดกับเส้นขอบฟ้า สลับกันไปกับพื้นที่เขาหัวโล้น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เย้ายวนใจระดับต้นๆ ของประเทศไทย

ชาวไทยทั้งปวงขอน้อมกราบแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานยุทธศาสตร์พัฒนา ด้วยพระบารมีปกเกล้าจึงทำให้เขาค้อสงบร่มเย็น

และขอแสดงความเคารพต่อดวงวิญญาณของอดีตนักรบผู้สละชีพและนักรบที่บาดเจ็บพิการ รวมทั้งพี่น้องชายหญิงที่วางอาวุธ ยุติการสู้รบ ทำให้เขาค้อกลายเป็นสวรรค์บนดิน

เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image