ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|
จำอวด มีต้นตอหรือรากเหง้าจากการละเล่นทางศาสนาผี ในพิธีกรรมของชาวบ้านสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว
แต่คำอธิบายของทางการบอกว่า “จำอวดมาจากสวดคฤหัสถ์” อยู่ในหนังสือของกรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2516 (51 ปีที่แล้ว) ชื่อ ศิลปละคอนรำ หรือคู่มือนาฏศิลปไทย เรียบเรียงโดย ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร(ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง เมื่อ 36 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2531 หน้า 263-267) แล้วแพร่หลายในสถานศึกษามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะที่มีการเรียนการสอนนาฏศิลป์ไทย ดังนี้
“สวดคฤหัสน์อาจเป็นต้นเดิมของตลกโขนและจำอวดละคอน หรือตลกโขนและจำอวดละคอนอาจสืบเนื่องจากสวดคฤหัสถ์ หรือมีส่วนสัมพันธ์ในการยืมศิลปแห่งการเล่นของกันและกันมาใช้บ้างก็ได้”
“จำอวดเข้าใจว่าคงเลียนแบบวิธีแสดงมาจากสวดคฤหัสถ์นั่นเอง เพราะมีเป็นชุด 4 คน อย่างเดียวกัน”
แต่หลักฐานประวัติศาสตร์ขัดแย้งคำอธิบายของกรมศิลปากร ดังนี้
สวดคฤหัสถ์ เพิ่งมีราว 223 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2344 เมื่อ ร.1 (กรุงรัตนโกสินทร์) ห้ามพระสงฆ์สวดพระมาลัย แล้วให้เปลี่ยนไปสวดพระอภิธรรม จากนั้นบรรดาชาวบ้าน (คือคฤหัสถ์) สมัยนั้นรวมกันเล่นลำสวดเลียนแบบพระสงฆ์สวดพระมาลัย แล้วถูกเรียก “สวดคฤหัสถ์”
จำอวด มีราว 567 ปีมาแล้ว ตั้งแต่เรือน พ.ศ. 2000 อยู่ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน แผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ (กรุงศรีอยุธยาตอนต้น) ระบุว่ากรมละครมีตำแหน่ง “จำอวด ศักดินา 50”
ทั้งนี้ถ้าพิจารณาตามวิถีจริงของสังคม “จำอวด” ต้องสำคัญและมีนานมากก่อน 567 ปีที่แล้ว จึงทำให้ต้องระบุตำแหน่งจำอวดในพระอัยการฯ
ต้นตอจำอวดเป็นพันปี
จำอวดมีต้นตอรากเหง้าจากการละเล่นทางศาสนาผีของชาวบ้านหลายพันปีมาแล้ว ใน 2 พิธีกรรม คือ งานศพและขอฝน
งานศพ ทางศาสนาผีต่างจากงานศพหลังรับศาสนาจากอินเดีย เพราะงานศพทางศาสนาผีมาจากความเชื่อเรื่องขวัญ ว่า คนตายเพราะขวัญหายจากร่าง ต้องเรียกขวัญสู่ขวัญคืนร่างคนตายจะฟื้น (ขวัญไม่ใช่วิญญาณ)
การเรียกขวัญสู่ขวัญคนตายมีหลายคืนหลายวัน ในแต่ละวันแต่ละคืนมีการละเล่นดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงอึกทึกครึกโครมให้ขวัญได้ยิน เพื่อขวัญกลับถูกทางคืนสู่ร่างคนตาย
การละเล่นอย่างอึกทึกครึกโครมเรียกขวัญสู่ขวัญงานศพประกอบด้วยกิจกรรมดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงตลกโปกฮา สัปดี้สัปดน สนุกสุดเหวี่ยง ด้วยเรื่องเพศต่างๆ (ไม่ใช่งานโศกเศร้าอย่างทุกวันนี้) ซึ่งนับเป็นต้นตอจำอวดในสมัยหลัง
ขอฝน เป็นพิธีกรรมทางศาสนาผีเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่ายาข้าวปลาอาหาร แสดงออกด้วยเรื่องเพศหหรือการสมสู่อย่างโลดโผนตลกคนอง ผ่านเพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชาย ปัจจุบันเรียกเพลงฉ่อย, เพลงปรบไก่, เพลงเทพทอง, เพลงเรือ, เพลงลำตัด
หลายพันปีมาแล้ว พิธีกรรมสมสู่สังวาสของหญิงชายมีหลักฐานอยู่บนภาพเขียนสี (พบทั่วไปทั้งในไทยและที่อื่นๆ) กับประติมากรรมสำริด (พบที่เวียดนาม) ตุ๊กตาขนาดเล็กรูปหญิงชายทำท่าสมสู่ โดยนอนเหยียดยาวประกบกันบนล่าง ประดับบนฝาภาชนะใส่ศพหรือบรรจุกระดูกคนตาย
การสมสู่ร่วมเพศทำให้มีน้ำอสุจิหลั่งออกมาจากอวัยวะเพศชาย ซึ่งคนแต่ก่อนเชื่อว่าจะบันดาลให้ฝนตกในไม่ช้า เรียกกันสืบมาว่า “เทลงมา เทลงมา” ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เลี้ยงชีวิตคนในชุมชนได้ตลอดปี
พิธีกรรมอย่างนี้ยังมีสืบเนื่องจนปัจจุบัน เรียกพิธีปั้นเมฆ โดยปั้นดินเหนียวเป็นรูปคน 2 คน สมมุติว่าหญิงชายทำท่าสมสู่กันกลางที่โล้งแจ้ง ให้คนทั้งชุมชนรู้เห็นพร้อมกันทั่วไป แล้วร่วมกันร้องรำทำเพลงขอฝนด้วยถ้อยคำหยาบโลนตลกคะนอง เรียกกันว่ากลอนแดง หมายถึงคำคล้องจองโจ๋งครึ่มที่พาดพิงเรื่องเพศและการร่วมเพศ
หญิงมักว่าเพลงชนะชายในกลอนเพลงโต้ตอบ เพราะแม่เพลงจะต่อว่าด่าทอจนพ่อเพลงยอมจำนนแล้วหาทางเลี่ยงไป ซึ่งแสดงอำนาจของหญิงที่มีเหนือชาย
เพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชายชาวบ้านด้วยถ้อยคำหยาบโลนโลดโผนสองง่ามสองแง่ แหย่ไปทางเรื่องสมสู่หยาบๆ อย่างยิ่งยวด เป็นอีกแนวหนึ่งของพิธีกรรมขอความมั่งคั่งและมั่นคงให้ชุมชน ซึ่งเป็นต้นตอจำอวดตลกคะนอง
ละครชาวบ้าน
เล่นเพลงโต้ตอบนานไปได้พัฒนาเป็น “เพลงเรื่อง” มีโครงเรื่องเหมือนนิยายหรือละคร ในที่สุดเพลงเรื่องก็เติบโตเป็นละครชาวบ้านเล่นแก้บนแพร่หลายทั่วไป (ตั้งแต่ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา) สมัยหลังบางทีเรียกว่าละครชาตรี มีลักษณะสำคัญของเพลงโต้ตอบอยู่ด้วย คือ จำลองการทะเลาะเบาะแว้งด่าว่าเปรียบเปรยเยาะเย้ยถากถางล้อเลียนเสียดสีคึกคะนองตลกโปกฮาถึงพริกถึงขิงถึงลูกถึงคน พบในบทละครกรุงเก่าเรื่องนางมโนห์รา
ละครชาวบ้านหรือละครชาตรี สมัยเริ่มแรกเล่นแก้บนตั้งแต่หั้วค่ำถึงสว่าง ต้องดึงดูดและตรึงคนดูอยู่กับที่ตลอดคืนด้วยลีลาตลกโปกฮาโลดโผนคึกคะนองถึงพริกถึงขิงถึงลูกถึงคน (ถ้าไม่อย่างนั้นก็ “เอาไม่อยู่”) ล้วนเป็นต้นแบบจำอวดหรือตลกในการละเล่นสมัยหลังๆ ได้แก่ ตลกโขน, หนังตะลุง, ตลกตามพระนามนางใน “ละคอนนอก”, ลิเก, ภาพยนตร์ไทย, และละครโทรทัศน์
“จำอวด” ละครหลวง
ละครชาวบ้านหรือละครชาตรีเป็นต้นทางของละครหลวงหรือ “ละครใน” แล้วมีกรมละคร ซึ่งมีตำแหน่ง “จำอวด” อยู่ด้วย ดังนี้
ข้าราชการกรมละครทำหน้าที่เล่นละคร มี 4 ตำแหน่ง คือ นายโรง (ศักดินา 200), นางเอก (ศักดินา 100), นางเลว (ศักดินา 80), จำแวด (ศักดินา 50)
ฐานะทางสังคมของจำอวดมีศักดินา เท่ากับมีศักดิ์ศรีเหนือไพร่หรือชาวบ้านทั่วไป (ยาจก, วณิพก, ทาส มีศักดินา 5 เป็นต่ำสุดของสมัยอยุธยา)
จำอวดทำหน้าที่ในละครหลวงคือเชื่อมโยงเรื่องราวและสร้างอารมณ์ขัน พบหลักฐานจากเอกสารลาลูแบร์(ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส) เมื่อดูการแสดงที่ราชสำนักอยุธยาจัดต้อนรับ ซึ่งมีโขน, ละคร, ระบำ ฯลฯ รวมทั้งจำอวด ตามบันทึกว่าในการแสดงชุดหนึ่ง “มีชาย 2 คน มาเจรจากับคนดูด้วยถ้อยคำตลกโปกฮา คนหนึ่งกล่าวในนามของผู้แสดงฝ่ายชาย อีกคนหนึ่งกล่าวในนามของผู้แสดงฝ่ายหญิง”
ลดความตึงเครียดทางการเมืองด้วยจำอวด
ประชาชนสมัยก่อนผ่อนคลายและลดความตึงเครียดทางการเมืองด้วยการดูละครชาวบ้านที่มีโครงเรื่องและการแสดงยั่วล้อและเย้ยหยันชนชั้นนำ โดยมีจำอวดทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้มีอำนาจถึงความเดือดร้อนของประชาชน
จำอวดละครประท้วงขึ้นภาษีผักบุ้ง พบในละครชาวบ้านเล่นในวังหลวง มีเหตุจากแม้จะเกิดละครของหลวงแล้ว แต่ละครของชาวบ้านก็ไม่ได้ถูกตัดขาดให้ต้องอยู่โดดเดี่ยว เพราะราชสำนักมักเรียกละครชาวบ้านให้ไปเล่นในวังเป็นครั้งคราว มีคำบอกเล่าว่านายแทนกับนายมีเป็นตัวจำอวดละครได้เล่นแทรกประท้วงเรื่องขึ้นภาษีผักบุ้ง
ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ นายสังมหาดเล็กชาวบ้านคูจามรับผูกภาษี กดราคาซื้อผักบุ้งแต่ถูกๆ แล้วขายขึ้นราคา ราษฎรที่เคยขายซื้อผักบุ้งมาแต่ก่อนก็ได้ความเดือดร้อน พากันไปร้องทุกข์ต่อข้าราชการผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครนำความขึ้นกราบทูลฯ ด้วยนายสังอ้างว่าทำภาษีเก็บเงินเข้าพระคลังหลวง
ครั้นอยู่มาพระเจ้าเอกทัศมีรับสั่งให้หาละครเข้าไปเล่น จะทอดพระเนตรแก้รำคาญพระราชหฤทัย นายแทนกับนายมีเป็นตัวจำอวดละครที่เข้าไปเล่นนั้นมีตอนหนึ่งพูดว่า “จะเอาเงินมาแต่ไหน จนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี” ว่าอย่างนี้ถึงสองหนสามหน
พระเจ้าเอกทัศได้ทรงฟังก็หลากพระทัย จึงโปรดให้ไต่ถามจำอวดทั้งสองคนนั้น ครั้นทรงทราบความตามที่เป็นมาก็ทรงพระพิโรธ มีรับสั่งให้เสนาบดีชำระเร่งเงินคืนให้ราษฎร ส่วนตัวนายสังนั้นเดิมมีรับสั่งจะให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ต่อมาค่อยคลายพระพิโรธ จึงโปรดให้งดโทษประหารชีวิตไว้
นายแทนกับนายมีที่ว่าเป็น “จำอวด” ก็คือตัวตลกละครชาวบ้านซึ่งมีในสมัยอยุธยาก่อนสวดคฤหัสถ์เพิ่งมีทีหลังเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง (ในหลายๆ อย่าง) ของละครชาวบ้านหรือ “ละครนอก” คือเย้ยหยันท้าวพระยามหากษัตริย์หรือเจ้าเมือง (ซึ่งตรงข้ามกับ “ละครใน” ที่ยกย่องท้าวพระยามหากษัตริย์)
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือนาฏศิลป์ไทย (ธนาคารกรุงเทพ จำกัด จัดพิมพ์เป็นอภินันทนาการ เนื่องในโอกาส ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมท มีอายุครบ 6 รอบ เมื่อ 20 เมษายน 2526 หน้า 18-20) ว่าละครนอกที่ชาวบ้านเขาเล่นดูกันนั้น ท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นตัวตลกทั้งสิ้น ไม่มีความดีอะไรเลย ขี้ขลาดตาขาวสารพัด
ท้าวสามนต์ในเรื่องสังข์ทองก็เป็นตัวตลก ท้าวเสนากุฏในเรื่องสังข์ศิลป์ชัยก็เป็นตัวตลก ท้าวสันนุราชในเรื่องคาวีก็เป็นตัวตลก ขึ้นชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินแล้วบทละครนอกเขียนให้เป็นตัวตลกหมด และแม้แต่บทละครนอกซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์รักษาลักษณะของละครนอกไว้ครบถ้วน คือท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นคนไม่ดี เป็นคนโลเลไม่แน่นอน เป็นคนตลกเลอะเทอะ
แต่คนดีที่เป็นพระเอกจะเป็นชาวบ้าน เช่น ไกรทอง ที่สามารถปราบตะเข้ตะโขงได้
เจ้าเมืองพิจิตรนั้นตะเข้ตัวเดียวก็ปราบไม่ได้ มืออ่อนเท้าอ่อน ล้วนเศรษฐีใหญ่ มีเงินมีทองมากมายก็เอาไปใช้ซื้อลูกสาวจากตะเข้ที่มันคาบเอาไปไม่ได้ ต้องหันไปพึ่งไกรทองผู้เป็นวีรบุรุษใหญ่โต เป็นต้น
ท้าวสามนต์ในบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทองตอนตีคลี เมื่อพระอินทร์ “นิรมิตรเหมือนมนุษย์ชาวพารา” ยกกองทัพ “ไปล้อมพาราท้าวสามนต์” อาการของท้าวสามนต์เงอะๆ งะๆ เอะอะมะเทิ่ง เลอะๆ เทอะๆ อยู่ตลอดเวลา
ละครชาวบ้านล้อเลียนชนชั้นนำเป็นพิธีกรรมที่ได้รับการยกเว้นไม่เป็นโทษและได้รับการยอมรับจากสังคมสมัยก่อน