ที่มา | คอลัมน์ - ไทยพบพม่า |
---|---|
ผู้เขียน | ลลิตา หาญวงษ์ |
ถ้าจะให้อธิบายแบบสังเขปที่สุด ว่าความขัดแย้งในพม่ามีที่มาจากอะไร และเหตุใดจึงกินเวลายาวนานหลายสิบปี โดยไม่มีท่าทีว่าความขัดแย้งนี้จะจบลงง่ายๆ ผู้เขียนมักอธิบายให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์พม่าเข้าใจผ่านการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ระบอบอาณานิคมสร้างขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 การสร้างอัตลักษณ์ หรือชุดความคิดของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ มีหนังสือ คู่มือ และตำรารองรับ ยกตัวอย่างเช่น หนังสือ The Loyal Karens of Burma (ชาวกะเหรี่ยงผู้ซื่อสัตย์แห่งพม่า) เรียบเรียงโดย โดนัลด์ แมคเคนซี สมีตัน ตั้งแต่ปี 1887 หรือผลงานที่มีชื่อเสียงมากของเจมส์ จอร์จ สก๊อต เรื่อง The Burman (คนพม่า) ที่ออกมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
นอกจากอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติที่ถูกขับเน้น เพื่อสร้างให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีสำนึกทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากคนจากกลุ่มอื่นๆ แล้ว ทั้งรูปแบบการปกครอง และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพม่า ล้วนมีผลให้กลุ่มชาติพันธุ์อยู่กันเป็นเอกเทศ มีปฏิสัมพันธ์กันค่อนข้างน้อย แน่นอนว่าในยุคจักรวรรดิพม่าอันรุ่งเรือง ตั้งแต่ยุคพุกาม หงสาวดี มาจนถึงราชวงศ์คองบอง (อลองพญา) ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้าย พม่าทำสงครามขยายอาณาจักรบ่อยครั้ง กษัตริย์พม่าขึ้นชื่อเรื่องพระปรีชาสามารถด้านการรบ และมักจะไปตีเมืองสำคัญๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ที่โดดเด่นมากในตำราประวัติศาสตร์พม่าคือระหว่างปี 1784-1785 (ร่วมสมัยกับยุคพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ตะโด มินซอ (Thado Minsaw) พระราชโอรสของพระเจ้าปะดุง ทรงยกทัพไปตีอาณาจักรเมราก์อู (Mrauk U) และนำพระมหามัยมุนี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวยะไข่ (อาระกัน) ไปประดิษฐานที่อมรปุระ และมัณฑะเลย์ในภายหลัง
ประวัติศาสตร์การทำสงครามขยายดินแดนของกษัตริย์พม่ายังเป็นเรื่องเล่าที่ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์นำมาใช้กระตุ้นแนวคิดชาตินิยมเพื่อต่อต้านกองทัพพม่ามาจวบจนปัจจุบัน ในอันที่จริง ประวัติศาสตร์ของสารพัดเชื้อชาติในดินแดนหนึ่งๆ เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ แต่ในประเทศอื่นๆ ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างพม่า ยังสามารถรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น และสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ขึ้นมาได้ แม้จะไม่เพอร์เฟ็กต์ แต่ก็มีความมั่นคงเพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงทางการเมือง และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในภูมิภาคของเราคืออินโดนีเซีย
อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะ ประกอบเกาะน้อยใหญ่มากมายถึง 17,000 เกาะ เกาะที่มีประชากรมากที่สุดคือเกาะชวา ที่มีประชากรเกือบ 152 ล้านคน คิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดของอินโดนีเซีย เกาะหลักๆ ของอินโดนีเซีย ทั้งชวา สุมาตรา โมลุกกะ สุลาเวสี หรือเกาะขนาดเล็กอย่างบาหลี ต่างมีวัฒนธรรมและศาสนาที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แล้วอะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ ที่เรียกว่ามีความเป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายได้
เมื่อชาวดัตช์เข้าไปปกครองอินโดนีเซีย ระบอบอาณานิคมของดัตช์ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เกิดแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่ขึ้นตามหมู่เกาะหลักๆ อินโดนีเซียกลายเป็นแหล่งส่งออกเครื่องเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นแหล่งปลูกพืชเขตร้อน เช่น ยาสูบ ที่สำคัญมากด้วย แน่นอนว่ารัฐบาลอาณานิคมของดัตช์พยายามเรียนรู้ และศึกษาลักษณะกับอัตลักษณ์ของคนแต่ละหมู่เกาะในอินโดนีเซีย แต่ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียเป็นเกาะที่แยกจากกันเด็ดขาด การติดต่อสัมพันธ์กันของผู้คนแต่ละเกาะเกิดขึ้นผ่านเครือข่ายทางการค้า เมื่อซูการ์โนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเดือนสิงหาคม 1945 แม้ว่าตัวเขาเองจะเป็นชาวชวาแท้ๆ จากสุราบายา ชวาภาคตะวันออก แต่รัฐบาลซูการ์โนกลับเลือกใช้ภาษามาเลย์ หรือมลายู เป็นพื้นฐานของภาษากลาง ที่ต่อมาจะเรียกว่า “บะฮาซา อินโดนีเซีย” หรือภาษาอินโดนีเซีย และบิดาผู้ก่อตั้งอินโดนีเซียสมัยใหม่ผู้นี้ ยังปกครองประเทศต่อมาอีกกว่า 2 ทศวรรษ การตัดสินใจนำภาษามาเลย์ ซึ่งเป็นภาษาทางการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทรมาช้านาน มาเป็นภาษากลางเพื่อให้ชาวอินโดนีเซียทั้งผองได้สื่อสารกัน นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของซูการ์โน ที่ทำให้ภารกิจการรวมชาติ และการสร้าง “อินโดนีเซีย รายา” หรืออินโดนีเซียอันยิ่งใหญ่ เป็นไปได้โดยแทบไม่เสียเลือดเนื้อ
หันกลับมาดูในพม่า ก่อนพม่าได้รับเอกราชไม่นาน นายพล ออง ซาน ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาผู้สถาปนาพม่าสมัยใหม่ ถูกลอบสังหาร ในความคิดของออง ซาน เขาให้ความสำคัญกับการรวมชาติ และการพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เห็นจากข้อตกลงที่ปางหลวงทั้ง 2 ครั้ง ในปี 1947 และ 1948 แม้ข้อตกลงปางหลวงจะไม่สมบูรณ์แบบ เพราะรวมเจ้าฟ้าและผู้ปกครองกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาพูดคุยและลงนามได้เพียง 4 กลุ่ม คือ พม่า ฉาน กะฉิ่น และฉิ่น ส่วนชาวกะเหรี่ยง ที่เป็นกลุ่มทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างมากนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา กลับมีสถานะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แต่อย่างน้อยออง ซานก็มีสถานะเป็นผู้ที่สามารถรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่มเข้ามาพูดคุยได้
เมื่อออง ซานถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว อูนุ ผู้นำพม่าคนใหม่ ก็มีนโยบายที่ต้องการพูดคุยและสร้างรัฐสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กับชนกลุ่มน้อย แต่จุดอ่อนของอูนุคือความพยายามขับเน้นศาสนาพุทธ ถึงขนาดต้องการผลักดันให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวพุทธไม่พอใจ แม้อูนุจะยังได้รับความนิยมสำหรับประชากรชาวพม่า เห็นจากที่พรรคของเขาได้รับเลือกตั้งเข้ามาแบบถล่มทลาย มีชัยชนะเด็ดขาดเหนือพรรคอื่นๆ แต่ต้องยอมรับว่าการจะขับเคลื่อนสังคมที่มีความหลากหลาย และไม่เคยมีอัตลักษณ์ร่วมในฐานะ “ชาติ” มาก่อน รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ความประนีประนอมอย่างมาก ไม่ใช่การขับเน้นบทบาทนำของคนพม่า หรือศาสนาพุทธ
ตลอด 10 ปีที่อูนุเป็นนายกรัฐมนตรี เขาพยายามพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่อีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้การพูดคุยเป็นไปได้ยากยิ่งคือ บทบาทของกองทัพ ภายใต้การนำของเนวิน ที่มีนโยบายชาตินิยมจัด กองทัพนิยม และมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างชัดเจน เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 1962 เนวินยกเลิกข้อตกลงใดๆ ที่รัฐบาลพม่าตั้งแต่ในยุคออง ซานได้ทำไว้กับกลุ่มชาติพันธุ์ พื้นที่หลายส่วนที่กำลังจะได้สิทธิปกครองตนเองบางส่วน ภายใต้กรอบที่คล้ายกับที่เราเรียกว่า “สหพันธรัฐ” ในปัจจุบัน ก็สลายไปพร้อมกับการยึดอำนาจของเนวิน
เมื่อเนวินอยู่ในอำนาจยาวนานถึง 26 ปี หนทางของการพูดคุย และการเจรจาเพื่อถอยกันคนละก้าว เพื่อนำไปสู่การหยุดยิงที่ยั่งยืน ก็ไม่เกิดขึ้น ลักษณะตามธรรมชาติของการเมืองพม่าคือกองทัพยังคงมองว่าตนเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล หากมีอะไรที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือมีสัญญาณว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะแยกตัว หรือกระทำการใดๆ ที่กระทบความมั่นคงของสหภาพแล้วล่ะก็ พวกเขาก็พร้อมจะใช้มาตรการหนักๆ เพื่อปราบปราม โดยไม่ได้สนใจว่าประเทศจะเดินต่อไปอย่างไรท่ามกลางความขัดแย้งนี้
ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาในพม่าให้ได้อย่างยั่งยืน ผู้เขียนยังเชื่อว่าการพูดคุยเป็นหนทางที่ยั่งยืนที่สุด แต่คู่ขัดแย้งทุกกลุ่มต้องยอมถอยคนละก้าว และมองผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน แม้ว่าที่ผ่านมา ตลอดหลายร้อยปี พม่าจะไม่เคยมีคอนเซ็ปต์ที่เรียกได้ว่า “ส่วนรวม” เลยก็ตาม