ผู้เขียน | ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ พิชิต รัชตพิบุลภพ สมบัติ เหสกุล |
---|
ดุลยภาพดุลพินิจ : ความเหลื่อมล้ำการคลังท้องถิ่น (รายอำเภอ)
รายได้ทางการคลังท้องถิ่น มีความสำคัญยิ่งต่อการจัดบริการสาธารณะและคุณภาพชีวิตคนไทย เพราะรายได้เป็นตัวกำหนดรายจ่าย ดังนั้น ท้องถิ่นที่มีรายได้การคลังสูงย่อมมีโอกาสจัดทำบริการสาธารณะได้มากกว่าและ/หรือการลงทุนพัฒนาเมืองที่เป็นรูปธรรม เป็นความจริงที่ประจักษ์ได้ทั่วไป ในโอกาสนี้ผู้เขียนขอนำสถิติการคลังท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2566 มาวิเคราะห์ โดยกำหนดให้ “อำเภอ” เป็นหน่วยวิเคราะห์ ในแต่ละอำเภอประกอบด้วยเทศบาล หรือ อบต. 8-9 แห่ง (น้อยที่สุด 1 แห่งและสูงที่สุด 29 แห่ง) พร้อมข้อสังเกตและวิจารณ์ตามสมควร
ก่อนอื่นขอแสดงความขอบคุณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ได้รวบรวมข้อมูลการคลังจากท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,850 แห่งนำมาเผยแพร่สาธารณะ ผู้วิจัยได้ประมวลให้เป็นข้อมูล “รายอำเภอ” หมายถึงรวมรายได้/ประชากรของเทศบาล/อบต. ในอำเภอนั้นๆ เข้าด้วยกัน เพื่อเข้าใจภาพใหญ่ระดับอำเภอ เพราะการดำรงอยู่ในอำเภอเดียวกันย่อมมีปฏิสัมพันธ์สูงไปมาหาสู่ซื้อขายข้ามเขตทำได้ง่าย
ตารางที่ 1 แสดงสถิติที่น่าสนใจ คือ รายได้ของอำเภอ ประชากรอำเภอ และรายได้ต่อหัว เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างภูมิภาค ภาคอีสานประกอบด้วย 323 อำเภอ (20 จังหวัด) รายได้รวมกัน 174,696 ล้านบาท ประชากร 21.7 ล้านคน คำนวณเป็นรายได้ต่อหัว 8,030 บาท น้อยที่สุดโดยเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ในทางตรงกันข้ามภาคตะวันออก 67 อำเภอ (8 จังหวัด) รายได้ต่อประชากรสูงสุดเท่ากับ 10,163 บาทสูงที่สุด สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคล้ายกับมีสองค่าย คือ 3 ภูมิภาคที่รายได้เกินหนึ่งหมื่นบาทต่อคน ได้แก่ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และปริมณฑล-กรุงเทพฯ ส่วนอีกค่ายหนึ่ง 4 ภูมิภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ เหนือ ใต้ และตะวันตกรายได้ต่อหัวระหว่าง 8-9 พันบาทต่อคน
เพื่อแสดงให้เห็นลักษณะการกระจาย (distributional curve) ของรายได้ท้องถิ่นต่อคนดังรูปภาพที่ 1 รายได้ส่วนใหญ่ระหว่าง 8,000-12,000 บาทต่อคน แต่น้อยที่สุดที่ อ.เวียงแหง เชียงใหม่ มีเทศบาล/อบต. 3 แห่ง รายได้ท้องถิ่นเพียง 4,030 บาทต่อคนเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม อ.เกาะกูด จ.ตราด รายได้สูงสุด 19,689 บาทต่อคน มี อบต. 2 แห่งประชากรรวมกัน 2,705 คน
การจัดเรียงลำดับ (ranking) เป็นวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ในปัจจุบันเพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงปีต่อปี ทำนองเดียวกับจัดเรียงลำดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก หรือประเทศ ขอเริ่มจาก 20 อำเภอที่รายได้การคลังท้องถิ่นสูง (พื้นที่รวย) แสดงรูปภาพที่ 2 รายได้ต่อหัวตั้งแต่ 13,000 บาทจนถึงเกือบ 2 หมื่นบาท โดยมีข้อสังเกตว่า ก) แนวโน้มเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เช่น เกาะกูด เกาะสีชัง เกาะพะงัน เกาะสมุย อ.กะทู้ อ.บ้านตาขุน ข) เป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อ.ปลวกแดง อ.พานทอง อ.อุทัย ในภาคตะวันออก หรือภาคกลาง ค) หรือลักษณะพิเศษอื่นๆ เช่น อ.ลานกระบือ เป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันมีรายได้จากค่าภาคหลวงแร่ ง) อาจจะกรณีอื่นที่เหนือความคาดหมายและควรจะต้องสืบค้นกันต่อไป เช่น อ.บางมูลนาก พิจิตร และ อ.เมืองอุทัยธานี น่าจะมี “ของดี” หรือคุณลักษณะที่ช่วยสร้างรายได้เข้าเทศบาล และ อบต. แต่ขณะนี้นักวิจัยยังไม่มีคำอธิบาย
ข้อคิดเห็นและวิจารณ์เชิงนโยบาย หนึ่ง การวิเคราะห์ความแตกต่างระดับอำเภอซึ่งเป็นผลรวมของ 8-9 แห่งเทศบาล/อบต. ที่พื้นที่ติดต่อกันหรือใกล้เคียงกัน ช่วยขยายองค์ความรู้มิติพื้นที่และเกี่ยวข้องกับท้องถิ่น โดยเฉพาะเข้าใจ “ผลล้นออก” คือปฏิสัมพันธ์ข้ามเทศบาลหนึ่งไปอีกเทศบาลหนึ่งสอง สถิติประชากรไทยเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ประกอบกับการมี เทศบาล หรือ อบต. ขนาดเล็กจำนวนไม่น้อย จึงมีข้อเสนอให้ควบรวมเข้าด้วยกันซึ่งน่าจะอยู่ในอำเภอเดียวกัน สาม ความเหลื่อมล้ำทางการคลัง ยังคงเป็นปัญหา/อุปสรรคที่ต้องเร่งแก้ไข หมายถึงการออกแบบเงินอุดหนุนและการแบ่งภาษีให้มีความเป็นธรรม สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจและสำนักงบประมาณ ควรค้นคว้าตัวแปรอื่นๆ ที่สะท้อน “ความจำเป็นต่อความต้องการบริการสาธารณะท้องถิ่น” เพิ่มเติมจากปัจจุบัน
หมายเหตุ ที่ผ่านมาเราใช้ข้อมูลพื้นฐาน เช่น ประชากร พื้นที่ และความหนาแน่นประชากร ซึ่งสะท้อนความต้องการระดับหนึ่ง แต่ควรเพิ่มตัวแปรอื่นๆ ที่สะท้อน “ความจำเป็น” ของพื้นที่เทศบาล หรือ อบต. เช่น ความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ เพื่อให้เทศบาล/อบต. ดำเนินการกิจการเตรียมการป้องกัน มากกว่าการเยียวยาภายหลังเหตุการณ์