พื้นที่ต้นแบบ Active Learning สู่ Thailand 4.0

ทุกวันนี้ทุกคนคงได้ฟังได้เห็นการใช้คำว่า “Thailand 4.0” กันอย่างแพร่หลายในหลากหลายวงการ ทั้งวงการเศรษฐกิจ การเมืองตลอดจนวงการการศึกษา เนื่องจาก “Thailand 4.0” เป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจขอประเทศไทย บนวิสัยทัศน์ที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ที่มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศให้เจริญ เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21 ได้

หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อน “Thailand 4.0” คือ “คนไทย 4.0” ที่ต้องมีคุณลักษณะสำคัญ ได้แก่ การมีพื้นฐานรากทุนทางวัฒนธรรม พอเพียง การเรียนรู้เท่าทันสื่อ และการเป็นนวัตกร สร้างนวัตกรรมและผลผลิตใหม่ได้ เพื่อให้สอดรับกับโลกในศตวรรษที่ 21 คนไทยจะต้องปรับเปลี่ยนตนเองใน 4 มิติ คือ

1.เป็นคนไทยที่มีความรู้ ทักษะ และความสามารถที่สอดรับกับโลกศตวรรษที่ 21

2.เป็นคนไทยที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

Advertisement

3.เป็นคนไทยที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นไทยที่สามารถยืนอย่างมีศักดิ์ศรีในเวทีสากล

4.เป็นคนไทยที่มีความสามารถในการใช้ดิจิทัลเพื่อสอดรับกับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ การพัฒนาคนไทยให้เป็น “คนไทย 4.0” จะเกิดขึ้นได้จะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1) การเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมแรงบันดาลใจให้มีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย 2) การเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ 3) การเรียนรู้เพื่อปลูกฝังจิตสาธารณะ ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และ 4) การเรียนรู้เพื่อมุ่งการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (สุวิทย์ เมษินทรีย์, 2559)

Advertisement

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอแนวทางสำหรับการพัฒนาคนด้วยกระบวนการเรียนรู้ผ่านการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จากประสบการณ์การลงพื้นที่ทำงานวิจัยด้านเด็กและเยาวชนมาเป็นระยะเวลานาน พบว่าการพัฒนาคนเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวข้างต้น สามารถศึกษาดูงานจากพื้นที่ต้นแบบ “Best Practice” ที่ใช้กระบวนการการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ ทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคนอย่างประสบความสำเร็จ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ดังตัวอย่างพื้นที่ต้นแบบต่อไปนี้

1.การสร้างคนไทยที่มีความรู้ ทักษะ และความสามารถที่สอดรับกับโลกศตวรรษที่ 21 สามารถทำได้ด้วยกระบวนการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังจะเห็นได้จากพื้นที่ศึกษาต้นแบบจังหวัดพะเยา ด้วยรูปแบบการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัยในการแก้ไขปัญหาชีวิต โดยใช้การวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นฐาน อาทิ ประเด็นการจัดการศึกษาเพื่อลดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ม้งกับชาวอีสานผ่านการปักผ้าไหมลายม้ง ซึ่งสอดคล้องกับทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ (Cross-cultural Understanding)

ประเด็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต/ลดความเหลื่อมล้ำ โดยการพัฒนากลุ่มสตรีชาวลาวให้มีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งสอดคล้องกับทักษะด้านการสื่อสาร (Communications) การทำงานของทีมผู้ประสานงานเครือข่าย (node) จังหวัดลำปาง ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิชาการเพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัย ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและผู้ชี้แนะเกี่ยวกับการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นแก่นักวิจัยชุมชน สอดคล้องกับทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership)

สำหรับความรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ด้านความรู้เกี่ยวกับการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ (Financial, Economics, Business and Entrepreneurial Literacy) สามารถศึกษาได้จากประเด็นการศึกษาตามอัธยาศัยโดยใช้สถานการณ์ปัญหาของชุมชนเป็นฐาน ระบบการจัดการกองทุนชุมชน จังหวัดพะเยา และทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) ศึกษาได้จากการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนที่ใช้วิจัยเป็นฐาน

การสอนแบบโครงงาน Active Learning สามารถสร้างให้เกิดขึ้นแก่นักเรียนอย่างแท้จริง ของโรงเรียนอนุบาลสตูล จังหวัดสตูล ที่ตอบโจทย์กระบวนการเรียนรู้ คะแนน PISA และ O-net ตามจุดประสงค์ที่แท้จริงได้ทั้งหมด มิใช่การติวเด็กอย่างเอาเป็นเอาตาย ละเมิดสิทธิเด็กขั้นวิกฤตจนน่าเป็นห่วงยิ่ง

2.การสร้างคนไทยที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังจะเห็นได้จากพื้นที่ต้นแบบจังหวัดพะเยา ประเด็นการศึกษาตามอัธยาศัยโดยใช้สถานการณ์ปัญหาของชุมชนเป็นฐาน ประเด็นการจัดการทรัพยากรชุมชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดสรรน้ำอย่างไม่ทั่วถึงของคนในชุมชน และประเด็นการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมแรงบันดาลใจให้มีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย ศึกษาจากการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านวิถีเกษตร (ไส้เดือนดิน) เป็นการเห็นคุณค่าและการให้ความสำคัญของกลุ่มคนที่เป็นผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความต้องการพิเศษ โดยใช้กิจกรรมการเลี้ยงไส้เดือนดินเป็นเครื่องมือ พื้นที่เหล่านี้ในรายละเอียดข้างต้น สามารถเชื่อมโยงตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศได้ ดังเช่น การเสื่อมสภาพดิน ชุมชนอ่อนแอ แหล่งน้ำที่ขาดแคลน เป็นต้น

3.การสร้างคนไทยที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นไทยที่สามารถยืนอย่างมีศักดิ์ศรีในเวทีสากลผ่านหลักสูตรท้องถิ่นสถานศึกษา ดังจะเห็นได้จากพื้นที่ต้นแบบจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเด็นการศึกษาเพื่อสืบสานและรักษารากเหง้าของตนเอง (กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ) การสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองเวียงสระ และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมมโนราห์ของกลุ่มเด็กและเยาวชน สำหรับประเด็นการจัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่นพื้นที่ศึกษาต้นแบบจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกี่ยวกับกระบวนการสร้างหลักสูตรและการบูรณาการหน่วยการเรียน ซึ่งออกแบบอยู่บนพื้นฐานความต้องการของคนแม่ฮ่องสอน และเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คือ หลักสูตรไตศึกษาของโรงเรียน อบจ.บ้านจองคำ และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ การสร้างหลักสูตรท้องถิ่นของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอำเภอหางดง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการศึกษา

หลักสูตรเหล่านี้ล้วนสร้างให้เด็กรักและภูมิใจทุนทางสังคม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการถ่ายทอดวิถีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นอย่างประณีตที่สุด

4.การสร้างคนไทยที่มีความสามารถในการใช้ดิจิทัลเพื่อสอดรับกับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล กล่าวถึงการเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบันไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) พื้นที่ศึกษาต้นแบบ ได้แก่ ประเด็นการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านวิถีเกษตร จังหวัดลำปาง อาทิ ลุงเนตร ใจเที่ยง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงไส้เดือนดินที่แหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บ้านบัวแก้ว ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และพี่ชำนาญ จูงตระกูลรัตน์ เกษตรกรที่ทำนาแบบข้าวนาโยน ซึ่งเป็นการทำนาแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตของคนในยุคดิจิทัล อีกทั้งยังเป็นผู้ใช้ดิจิทัลในการศึกษาและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงวิธีการทำนาแบบข้าวนาโยนอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงกับ Digital Economy อย่างรู้เท่าทันและชาญฉลาดยิ่ง

การวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมและพัฒนาคน 4.0 ที่พร้อมด้วยทักษะที่สำคัญในมิติที่หลากหลาย ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ 4.0 ด้านสังคม 4.0 และด้านการศึกษา 4.0 ซึ่งนำ
ไปสู่ Thailand 4.0 นั่นเอง ใคร่ขอเชิญรัฐมนตรีธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ สละเวลา แล้วลองฝังตัวพูดคุยกับผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลสตูล จังหวัดสตูล โรงเรียนไทรงาม จังหวัดตรัง สนทนากับปราชญ์ชาวบ้านไส้เดือนดิน ข้าวนาโยน จังหวัดลำปาง ดูงานการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาตามอัธยาศัยที่จังหวัดพะเยา ศึกษาต้นแบบหลักสูตรสถานศึกษาของแท้ในหลายโรงเรียนดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านอาจไขปัญหาปฏิรูปการศึกษาได้ด้วยตนเองว่า นโยบายหลายเรื่องจากส่วนกลางกลับไปกลับมา เปลี่ยนบ่อยดังที่ผ่านมาอาจจะเป็นตัวถ่วง ลองคิดใหม่กำหนดนโยบายสำคัญ 4-5 ด้าน ทำให้เข้าใจตรงกัน สนับสนุนต่อเนื่อง

ล่าสุดปล่อยให้อิสระ กระจายอำนาจลงสู่ล่างสุด ปล่อยให้ทุกหน่วยดำเนินการเอง แก้ไขปัญหาสัก 2-3 ปี การปฏิรูปการศึกษาล่างขึ้นบนจะดีอย่างไม่ต้องสงสัยทีเดียว

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
กมลวรรณ พลับจีน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image