ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา กับแผนยุทธศาสตร์ของบรรดาหน่วยราชการต่างๆ : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

นิทานสำหรับเด็ก รุ่นผู้เขียนรู้จักกันดีคือเรื่องที่มีพระราชาพระองค์หนึ่งชื่นชอบกับการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ใหม่และสวยงามอยู่เป็นนิตย์ โดยมักจะแต่งชุดเสื้อผ้าใหม่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นแล้วก็เอาไปเก็บไว้เนื่องจากไม่อยากให้ผู้คนเห็นพระราชาแต่งชุดเดิมซ้ำๆ จึงเป็นที่เล่าลือกันไปทั่วว่าพระราชาผู้นี้ใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมหาศาลในการตัดชุดฉลองพระองค์ทุกวันเลยทีเดียว

จนกระทั่งมีนักต้มตุ๋น 3 คน ได้เดินทางเข้ามาในแผ่นดินของพระราชา และได้เข้าไปหลอกลวงพระราชาว่าพวกตนเป็นนักทอผ้าที่ยอดเยี่ยมของโลก โดยสามารถทอผ้าจากเส้นด้ายทองคำและเงินขึ้นเป็นผ้าที่มีความสวยงามยิ่ง แถมมีคุณวิเศษคือ “บุคคลที่ไม่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งของตนจะไม่สามารถมองเห็นผ้าวิเศษที่ใช้ทองคำและเงินทอขึ้นมาได้”

พระราชาหลงเชื่อจึงตกลงจ่ายค่าจ้างราคาแพงพร้อมกับทองคำและเงินจำนวนมากให้กับนักต้มตุ๋นทั้ง 3 คน และเปิดห้องหลายห้องในพระราชวังให้นักต้มตุ๋นอยู่อาศัยและทำงานพร้อมปรนเปรอด้วยอาหารอย่างดีจากครัวหลวง โดยพระราชาจะส่งบรรดาข้าราชการต่างๆ ไปตรวจเยี่ยมเพื่อดูความก้าวหน้าของการจัดทำฉลองพระองค์เป็นระยะๆ ซึ่งบรรดาผู้ตรวจเยี่ยมต่างก็มองไม่เห็นผ้าที่นักต้มตุ๋นทั้ง 3 คนแสร้งทำการทอผ้าอย่างขะมักเขม้นอยู่ที่หูกทอผ้าอันว่างเปล่า และชี้ชวนพรรณนาถึงความสวยงามของผ้าล่องหนให้ชมทำให้บรรดาข้าราชการที่มาตรวจเยี่ยมจดจำคำหลอกลวงเหล่านั้นไปบอกกับพระราชาอีกทีหนึ่ง

เพราะหากรายงานว่าไม่เห็นผ้าเลยก็กลัวว่าจะถูกปลดออกจากตำแหน่ง

Advertisement

โกวิท 2 พุธ 8มีค

จวบจนกระทั่งพระราชาอยากจะดูผ้าวิเศษด้วยตัวเองเต็มที จึงเดินทางไปที่ห้องทำงานของนักต้มตุ๋นเองพร้อมกับผู้ติดตามจำนวนมาก แต่ก็ไม่เห็นผ้าที่ทอด้วยเส้นด้ายทองคำและเงินเลย แต่ก็ต้องแสร้งว่ามองเห็นและชื่นชมในความงามของผ้าวิเศษที่ไม่มีอยู่จริง เนื่องจากพระราชาก็กลัวว่าบรรดาผู้ติดตามจะเสื่อมศรัทธาในตัวพระราชาเพราะเห็นว่าพระราชานั้นไม่เหมาะสมกับตำแหน่งพระราชา อาจจะมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นได้นั่นเอง

เมื่อนักต้มตุ๋นได้วางแผนที่จะหลบหนีจากพระราชวังพร้อมกับเงินทองที่ต้มตุ๋นไปได้เรียบร้อยแล้ว จึงแจ้งให้พระราชาจัดงานเลียบพระนครเพื่อให้ประชาชนได้ชมบารมีที่พระราชาได้ฉลองพระองค์ที่ทอจากผ้าวิเศษที่ทอจากเส้นด้ายทองคำและเงินได้อย่างเต็มที่ ซึ่งพระราชาก็เห็นดีด้วย จึงได้เข้ามาแต่งตัวในห้องกับนักต้มตุ๋นเหล่านั้นโดยต้องเปลือยกายเข้าไปให้นักต้มตุ๋นทั้งสามแสร้งทำเป็นชุลมุนแต่งตัวให้กับพระราชาจนเสร็จแล้ว พระราชาก็ขึ้นราชรถเลียบพระนครเพื่อให้ประชาชนชื่นชมบารมี

Advertisement

บรรดาประชาชนต่างก็ต้องแสร้งทำเป็นเห็นฉลองพระองค์พร้อมกับแสร้งทำเป็นชื่นชมในความงามของฉลองพระองค์ไปตามๆ กัน เนื่องจากหากไม่เสแสร้งอย่างนั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประชาชน แล้วจะกลายเป็นนักโทษติดคุกไปได้ง่ายๆ

บังเอิญมีเด็กอายุ 4 ขวบ คนหนึ่งอยู่ในฝูงชนด้วย เห็นพระราชาไม่ได้นุ่งผ้าอะไรนั่งอยู่ในราชรถก็เลยตะโกนขึ้นมาว่า “พระราชาไม่ได้นุ่งผ้า!” ซึ่งทำให้เกิดการหัวเราะกันใหญ่โตในหมู่ฝูงชนเพราะว่าทุกคนเห็นเช่นนั้นจริงๆ เพียงแต่ไม่มีใครกล้าพูดออกมาเท่านั้น ซึ่งตัวพระราชาก็ตระหนักดีเช่นเดียวกัน จึงรีบกลับวังเพื่อจัดการกับนักต้มตุ๋นทั้งสามแต่ปรากฏว่านักต้มตุ๋นทั้งสามได้หนีออกไปจากวังหายไปเสียแล้ว

ที่ผู้เขียนเอานิทานสำหรับเด็กมาให้ท่านผู้อ่านที่เคารพอ่าน เนื่องจากผู้เขียนได้รับทราบปัญหาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านที่ท่านมาสารภาพกับผู้เขียนว่า ท่านไม่เข้าใจเรื่องแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานของท่านเลย ดังนั้น หากให้เขียนแผนยุทธศาสตร์หรือปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์สำเร็จรูปมีอยู่แล้วนั้น ท่านทำอะไรไม่ถูกเลยและที่กลัดกลุ้มมากคือ ดูเหมือนข้าราชการทุกคนจะแสดงทีท่าว่าเข้าใจรู้เรื่องแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานของตนเป็นอย่างดี ทำให้ท่านที่มาปรึกษากับผู้เขียนทั้งหมดมีความรู้สึกว่าตัวเองนั้นโง่เง่าเต่าตุ่นเสียเหลือเกิน ซึ่งผู้เขียนก็มักจะยกเอานิทานเรื่อง “ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา” นี่แหละมาชี้แจงว่าบรรดาแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยราชการทั้งหลายล้วนแล้วแต่ผิดพลาดเหมือนกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว ตั้งแต่เรื่องแปลคำศัพท์ภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยมาเลย กล่าวคือ

คำว่า strategy เดิมเราแปลเป็นไทยว่า “ยุทธศาสตร์” ซึ่งคำนี้ดั้งเดิมแล้วเป็นศัพท์ฝรั่งของทางทหารเขา ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทยก็คือยุทธศาสตร์ ครั้นต่อมาทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยเราได้เริ่มสอนเรื่องการบริหาร ซึ่งแยกเป็นบริหารรัฐกิจและบริหารธุรกิจ จึงได้มีการขอยืมแนวความคิดของคำว่ายุทธศาสตร์นี้ไป แต่เอาไปใช้ในความหมายที่แคบลงไปอีก คือเอาไปใช้ในองค์การระดับที่เล็กลง เช่น โรงเรียน บริษัทห้างร้าน หรือหน่วยงานราชการหนึ่งๆ ซึ่งเดิมก็ใช้คำว่ายุทธศาสตร์นี่แหละ แต่ต่อมาก็คงเขินอย่างว่า จึงหันมาใช้คำว่ากลยุทธ์

แต่อย่างน้อยก็มีคำว่า “ยุทธ์” ติดอยู่ทำนองที่บอกไว้เป็นนัยๆ ว่า แนวความคิดดั้งเดิมนั้นเป็นของพวกทหารเขา

โดยเนื้อแท้แล้วยุทธศาสตร์ แปลมาจาก strategy มีความหมายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ ยุทธวิธี ซึ่งแปลมาจาก tactics คำคู่นี้จึงมักจะปรากฏในบริบทเดียวกันซึ่งเดิมทีทางทหารแปลว่า strategy-ยุทธศาสตร์ และ tactics-ยุทธวิธี ส่วนทางพลเรือน ธุรกิจ มหาวิทยาลัยก็แปล 2 คำนี้ตามแบบของตัวเองคือ strategy-กลยุทธ์ และ tactics-กลวิธี ซึ่งก็แยกแยะให้เห็นชัดๆ ไม่สับสนดีอยู่แล้วแหละครับ

คำว่า strategy นี้มีคำนิยามว่า ศาสตร์และศิลป์แห่งการวางแผนและปฏิบัติการในสงคราม ส่วน tactics มีคำนิยามว่าวิธีการจัดกระบวนทัพเพื่อสู้รบให้ได้ชัยชนะในแต่ละสมรภูมิซึ่งทางทหารของไทยเราแปลว่ายุทธศาสตร์กับยุทธวิธี (ดูใน “ฮานนิบาล” เขียนโดยพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์)

คราวนี้ในแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานราชการทั่วไปกลับเอาไปใช้เป็นว่า Strategy คือ ยุทธศาสตร์ ส่วนกลยุทธ์ คือ Tactics ซึ่งก็หมายความว่า ยุทธศาสตร์ใหญ่กว่ากลยุทธ์ (นั่นคือจะต้องมียุทธศาสตร์ก่อนแล้วค่อยกำหนดกลยุทธ์) แต่พอไปดูเอกสารการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของหน่วยราชการจะไม่มีกลยุทธ์ แต่มีประเด็นยุทธศาสตร์เข้ามาแทนแล้วจะไม่ให้งงได้ยังไงละครับ คนที่ทำท่าว่ารู้เรื่องในแผนยุทธศาสตร์ของทางราชการปัจจุบันนี้นั่นนะครับคือบรรดาข้าราชการที่พระราชาส่งไปตรวจเยี่ยมเพื่อดูความก้าวหน้าของการจัดทำฉลองพระองค์ในนิทานนั่นเอง

สรุปก็คือไม่มีใครรู้เรื่องหรอกครับ ซึ่งผู้เขียนก็ได้ชี้แจงให้ท่านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สบายใจและโล่งใจไปหลายท่านแล้ว โดยบอกว่าผู้ที่รู้จริงๆ ในเรื่องนี้ต่างก็ไม่กล้าที่ตะโกนขึ้นมาเหมือนเด็ก 4 ขวบคนนั้นหรอกครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image