ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ถูกผลักดันเป็นกระทรวงทาง “สังคมกึ่งเศรษฐกิจ” สืบเนื่องจากรัฐบาลก่อนๆ ถึงรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการใช้อัตลักษณ์พื้นถิ่น ทุนทางวัฒนธรรมมรดกภูมิปัญญามาสร้างมูลค่าเพิ่ม
และนำมาพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่างานด้านวัฒนธรรมไม่ว่าจะชื่อหน่วยงานว่า กระทรวงทบวงกรมอะไร? โดยพื้นฐานสากลที่รับรู้ทั่วโลกเป็นงานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ได้กับการเมืองและเศรษฐกิจ
ทั้งนี้เป็นไปตามหลักสากลว่าประเทศเคลื่อนไหวด้วยพลัง 2 ส่วน ที่กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแยกไม่ได้ คือ (1.) การเมืองและเศรษฐกิจ กับ (2.) สังคมและวัฒนธรรม
แต่ทางปฏิบัติจริงมีความลุ่มลึกและความถนัดต่างกัน ดังนั้นทั้ง 2 ส่วนแม้แยกการบริหาร แต่ก็ต้องพึ่งพาอาศัยสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลซึ่งกันและกันไม่จบสิ้น
ต้นแบบสำคัญเรื่องสังคมและวัฒนธรรมเพื่อเศรษฐกิจการค้าอยู่ที่อังกฤษ หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมมากกว่า 170 ปี มาแล้ว (พ.ศ. 2395)
เครื่องมือสำคัญทางวัฒนธรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าคือ “มิวเซียม”
ที่อังกฤษมีการจัดตั้ง “วิกตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต มิวเซียม” ในลอนดอน เพื่อรวบรวมงานช่างหรือศิลปะต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์, เครื่องแต่งกาย ฯลฯ เป็นตัวอย่างให้ช่างและศิลปินเกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าส่งขายทั่วโลก เป็นมหาอำนาจทั้งด้านการทหารและการค้า
นับแต่นั้น มิวเซียมในยุโรปทำหน้าที่เก็บของเก่าทุกชนิดและทุกระดับเพื่อจัดแสดงเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งมีพลังสร้างสรรค์ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นศูนย์กลางแฟชั่นของโลก ฯลฯ ส่งผลให้สหรัฐได้แบบสร้างมิวเซียมหลากหลาย เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์สืบมาจนทุกวันนี้
ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งใช้ “มิวเซียมท้องถิ่น” เพื่อกระตุ้นคนญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามวิถี “รู้เขา รู้เรา รู้โลก” ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จนก้าวหน้าเป็นมหาอำนาจด้านสินค้าจิปาถะของโลก
ประเทศไทย ถูกทำให้แยกกันเด็ดขาดอย่างไม่เกี่ยวข้องกันเป็น 2 พวก คือการเมืองและเศรษฐกิจ กับวัฒนธรรม (โดยไม่มีสังคม)
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ของ วธ. เป็นพิพิธภัณฑ์ประเภทประวัติศาสตร์ศิลปะของชนชั้นนำ (โดยกำหนดให้ไม่มีสังคมกับไม่มีการเมืองและเศรษฐกิจ) ดังนั้นแรงบันดาลใจให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในไทยจึงมีไม่มาก หรือไม่มีเลย ที่มีมาแล้วก็จำกัดในวงแคบ
ด้วยเหตุดังนี้ใน วธ. จึงไม่ใส่ใจข้อมูลจากภาพสลักเสียมกุกที่ปราสาทนครวัด แล้วไม่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลจากเสียมกุกซึ่งเป็นต้นตอชาวสยามความเป็นไทยที่มีพลังผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ข้าราชการ วธ. เกือบทั้งหมดถูกเทรนมาทางวัฒนธรรมที่ไม่มีสังคม และไม่มีเศรษฐกิจ-การเมือง
ดังนั้นที่รัฐบาลจะผลักดัน วธ. เป็นกระทรวงทาง “สังคมกึ่งเศรษฐกิจ” ย่อมมีปัญหา เพราะข้าราชการผู้ปฏิบัติงานขาดพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม
ด้วยเหตุนั้น “โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยสู่สากล” (Community Cultural Product of Thailand หรือ CCPOT) จึงต้องปกปิดซ่อนเร้น ขอดูผลสรุปไม่ได้ เพราะไม่เปิดเผยว่าได้ผลคุ้มค่างบที่ใช้ไปหรือไม่?
ระบบที่ไม่ทำงานของอยุธยา มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งทำให้กรุงแตก พ.ศ. 2310 (สรุปจากหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2529)
ระบบราชการของไทยทุกวันนี้ที่ไม่ทำงาน หรือทำอย่างเสียมิได้ไปตามยถากรรม ไม่ทำให้กรุงแตกเหมือน พ.ศ. 2310 แต่มีอำนาจแช่แข็งไทยไว้ตามหลังเพื่อนบ้านอาเซียนโดยไม่ต้องเทียบชั้นสิงคโปร์, มาเลเซีย เพราะขณะนี้ตามหลังเวียดนาม และบางเรื่องตามหลังกัมพูชา แม้เอกชนบางแห่งก็เช่นกัน มีสภาพแบบเดียวกับระบบราชการไทย

“เสียมกุก” ชื่อขบวนแห่เกียรติยศของชาวสยามดั้งเดิม (ซึ่งเป็นเครือญาติใกล้ชิดของกษัตริย์กัมพูชา) อยู่นำหน้าขบวนแห่ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักรเมืองพระนคร (มากกว่า 900 ปีมาแล้ว) เรือน พ.ศ. 1650
(ในภาพ) เจ้านายและไพร่พลนุ่งผ้าผืนเดียวเหมือนโสร่ง (ไม่นุ่งถลกแบบเขมร) เป็นเครื่องแต่งตัวตามประเพณีในพิธีกรรมสำคัญ (ไม่แต่งในชีวิตประจำวัน)
เขมรเรียก “เสียมกุก” ภาษาไทยอ่านว่า “สยามกก” หมายถึงสยามดั้งเดิม ซึ่งเป็นลูกผสมหลายชาติพันธุ์ พูดภาษาไท-ไต-ไทย-ลาว [คำว่ากก แปลว่าต้นตระกูล, รากเหง้า, ดั้งเดิม, เริ่มแรก (เช่น ลูกผู้เกิดทีแรกเรียก “ลูกกก”)]
สยามกก คือชาวสยามดั้งเดิมเริ่มแรกที่รวมตัวเป็นรัฐ มีศูนย์กลางอำนาจอยู่เมืองเสมา (ศรีจนาศะ) อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา บริเวณลำตะคอง ลุ่มน้ำมูล มีเครือญาติถึงลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำโขง ชาวสยามลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล มีเครือญาติและเครือข่ายแผ่ไปลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี ถึงลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง จากนั้นร่วมกันสถาปนาเมือง อโยธยา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มเรียกตนเองว่าไทย เป็นบรรพชนคนไทยปัจจุบัน