สุจิตต์ วงษ์เทศ : ลอยกระทง ‘เฟสติวัล’ ขอขมาธรรมชาติ ลดโลกเดือด (ร้อน)

ลอยกระทง - จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ (ภาพจากหนังสือประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน)

ลอยกระทงเป็นเฟสติวัลสำคัญอย่างหนึ่งของ “ไทยแลนด์ วินเทอร์ เฟสติวัล” ช่วงกลางเดือนหน้า-พฤศจิกายนนี้ (กลางเดือน 12 ทางจันทรคติ) มีมหกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วประเทศ

รัฐบาลน่าจะสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจได้มากจากลอยกระทง “เฟสติวัล” ถ้ารู้จักและเข้าใจความเป็นมากับความหมายอย่างแท้จริง

ขอขมาธรรมชาติด้วยลอยกระทง

มีความเป็นมาหลายพันปีแล้ว โดยแบ่งช่วงเวลาพัฒนาการอย่างย่อๆ ย่นๆ ดังนี้

Advertisement

1.ลอยเครื่องเซ่น เป็นพิธีกรรมประจำปีทางศาสนาผี เพื่อขอขมาธรรมชาติ คือน้ำและดินที่ให้ข้าวปลาอาหารเลี้ยงชีวิตคนในชุมชนมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

2.ลอยโคม สมัยอยุธยา เปลี่ยนจากลอยเครื่องเซ่นเป็นลอยโคม (ทำจากกระดาษ ได้แบบจากจีน) ขอขมาธรรมชาติ

Advertisement

3.ลอยกระทง สมัย ร.3 เปลี่ยนจากลอยโคมกระดาษเป็นกระทงทำจากใบตอง ขอขมาธรรมชาติทางศาสนาผีตามเดิม แล้วเพิ่มศาสนาพุทธ ลอยกระทงบูชารอยพระพุทธบาท พร้อมแต่งเรื่องเล่าอธิบายในนามตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ

ร่วมสมัย

ลอยกระทงขอขมาธรรมชาติเป็นแนวคิดอุษาคเนย์โบราณหลายพันปี แต่ถึงปัจจุบันยัง “ร่วมสมัย” ลดโลกเดือด (ร้อน)

รัฐบาลมีช่องทางสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจต่อไปได้มาก แต่อาจไปได้ยากเมื่อดูจากคำอธิบายเรื่องเรือพระราชพิธีของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แล้วน่าเป็นห่วงรัฐบาลว่าจะตกในภาวะ “อับทึบ”

เรือพระราชพิธี มีผู้ส่งข้อความบอกเล่าสิ่งที่ได้ยินและพบมาว่าสื่อหลากหลายอธิบายเรือพระราชพิธีมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย โดยได้ข้อมูลจากหนังสือของ วธ. ฉบับพิมพ์ล่าสุด พ.ศ. 2558 ว่า (1.) ขบวนเรือของพญาลิไทจัดรับมหาเถรศรีศรัทธาฯ กลับจากลังกา และ (2.) ขบวนเรือในหนังสือนางนพมาศ มีข้อความสำคัญ ดังนี้

“กระบวนเรือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่เก่าที่สุดคือ การจัดกระบวนเรือรับพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า ซึ่งเป็นหลานพ่อขุนผาเมือง และได้ไปบวชเรียนอยู่ที่ลังกากลับสู่กรุงสุโขทัยในสมัยพระเจ้าลิไท ซึ่งพระองค์ทรงจัดกระบวนเรือรับเสด็จด้วย

นอกจากนี้ในหนังสือเรื่องนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเดิมสันนิษฐานว่าน่าจะมีหนังสือเก่าเขียนไว้ในสมัยสุโขทัย ด้วยกล่าวถึงพระร่วงเจ้า

จากหนังสือเล่มนี้พบว่ามีชื่อเรือพระที่นั่ง 2 ลำ ซึ่งใช้ในพิธีอาศยุชอันเป็นพระราชพิธีโบราณที่ประกอบขึ้นในเดือน 11 เพื่อสังเวยพระนารายณ์ (วิษณุ) คือเรือพระที่นั่งชัยเฉลิมธรณิน กับเรือพระที่นั่งชัยสินธุพิมาน——-

การใช้เรือพระที่นั่งในสมัยสุโขทัยมีหลักฐานความเป็นมาตามที่กล่าวมา อันเป็นหลักฐานกล่าวถึงกระบวนเรือ และชื่อเรือพระที่นั่งที่เก่าที่สุดของไทย”

[จากหนังสือ เรือพระราชพิธี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์เผยแพร่พ.ศ. 2558 หน้า 4]

ขบวนเรือรับมหาเถรศรีศรัทธาฯ ไม่พบเรื่องนี้ในจารึกของมหาเถรศรีศรัทธาฯ 2 หลัก วัดศรีชุม (สุโขทัย) และจารึกวัดเขากบ (นครสวรรค์) และไม่พบในจารึกหลายหลักของพญาลิไท

นักปราชญ์และนักวิชาการประจำกรมศิลปากร ตลอดจนนักวิชาการมหาวิทยาลัยเกือบทั่วประเทศ ไม่เคยได้ยินเรื่องขบวนเรือของพญาลิไทจัดรับมหาเถร จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์อย่างยิ่งเมื่อพบในหนังสือของ วธ.

ขบวนเรือในหนังสือนางนพมาศ เป็นขบวนเรือสมมุติใน “นิยาย” ที่จำลองขบวนเรือกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน ร.3 เพราะหนังสือนางนพมาศแต่งสมัย ร.3 ใช้เป็นหลักฐานสมัยสุโขทัยไม่ได้ เรื่องนี้พูดกันมาหลายสิบปีแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีลายพระหัตถ์ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ร.3 จะยกมาดังนี้

“หนังสือเรื่องนางนพมาศซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์” (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลายพระหัตถ์จาก Cinnamon Hall ที่ Penang เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2479 ถึงพระยาอนุมาน ราชธน ในหนังสือ ให้พระยาอนุมาน มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จัดพิมพ์เมื่อ 14 ธันวาคม 2521 หน้า 56)

นอกจากนั้นยังมีเรื่อง จังหวัดร้อยเอ็ด มีประวัติความเป็นมาจากหนังสืออุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) เป็นลายลักษณ์อักษรตรงไปตรงมาว่ามาจากเมืองสาเกตุซึ่งมี “ร้อยเอ็ดประตู”

แต่ถูกสร้างหลักฐานเท็จว่าแท้จริงมี “สิบเอ็ดประตู” แล้วบงการให้ครูนักเรียนท่องจำ “เมืองสิบเอ็ดประตู” โดย วธ. มีกิจกรรมร่วมสนับสนุนความเท็จนี้ แม้นักวิชการจากกรมศิลปากรแสดงหลักฐานวิชาการตามหลักฐานเอกสารใบลานว่า “ร้อยเอ็ดประตู” แต่ วธ. ทำนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็นจนทุกวันนี้ไม่แก้ไข ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อพลังสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ

ที่ยกมานี้ก็เพื่อบอกว่า วธ. ควรกลับคืนเข้าที่ตั้งสร้างความแข็งแรงให้ตนเอง เพราะที่ผ่านมา วธ. ไม่แข็งแรงข้อมูลหลักฐานวัฒนธรรม และไม่กระฉับกระเฉงติดตามความก้าวหน้าวิชาการทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นปัญหาบั่นทอนพลังสร้างสรรค์ทั้งปวง ไม่ว่าทางเศรษฐกิจหรืออื่นๆ

รัฐบาลไม่ควรผลักดัน วธ. เป็นกระทรวงทางสังคมกึ่งเศรษฐกิจ เพราะเท่ากับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ทำให้น้ำเน่า 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image