สุจิตต์ วงษ์เทศ : เศรษฐกิจ ‘ติดกึก’ เชื้อชาติไทยที่ไม่มี

คนพื้นเมืองดั้งเดิมชาติพันธุ์ต่างๆ แถบลุ่มน้ำโขง (ภาพจากหนังสือ A Pictorial Journey on the old Mekong, Cambodia, Laos and Yunnan by Louis Delaporte and Francis Garnier)

เชื้อชาติไทย – วัฒนธรรมมีพลังกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน แต่ต้องไม่โลภด้วยการหลอกตนเองและหลอกคนอื่นอย่างที่มีอีเวนต์ตลอดหลายปีมา ทำให้ต้องหวงห้ามแล้วปิดบังผลของโครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนสู่สากล เมื่อมีผู้ขอดูเอกสารก็หลอกล่อผัดวันประกันพรุ่งเพื่อให้ผู้ขอดูท้อแท้เลิกราไปเอง

รัฐบาลกำลังผลักดันกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการใช้อัตลักษณ์พื้นถิ่น ทุนทางวัฒนธรรมมรดกภูมิปัญญามาสร้างมูลค่าเพิ่ม (สรุปจากข่าวของทางการ)

กิจกรรมทางสังคมกึ่งเศรษฐกิจของ วธ. เป็นที่รับรู้กว้างขวางทั่วกันคือเน้นอีเวนต์หลวมๆ หลอกๆ เป็นหลักทำการตลาดกระตุ้นสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อเศรษฐกิจ ทำให้ วธ. ละเลยงานหลักด้านสังคมและวัฒนธรรมเพื่ออนุรักษ์และพัฒนา อันเป็นรากฐานสำคัญลดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเท่ากับผลักดันโดยอัตโนมัติให้เกิดพลังสร้างสรรค์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

เพื่อความเข้าใจตรงกันเรื่องกระทรวงทางสังคมกึ่งเศรษฐกิจ รัฐบาลควรปรับนิยามความเป็นสังคมกึ่งเศรษฐกิจจากรากฐานดั้งเดิม ดังนี้

1.เศรษฐกิจ-การเมือง-วัฒนธรรม เป็นโครงสร้างสังคมที่กลมกลืนอันหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่มีชุมชนเกษตรกรเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้ว (สมัยก่อนประวัติศาสตร์)ดังนั้น วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากเศรษฐกิจและการเมืองตั้งแต่มนุษย์หยุดร่อนเร่ แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกันเป็นชุมชนเกษตรกรรมเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้ว

ADVERTISMENT

2.ประเทศไทยและคนไทยมีประวัติศาสตร์หรือความเป็นมา ทั้งของดินแดนและผู้คนเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากดินแดนและผู้คนของอุษาคเนย์และของโลก ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว สืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบัน และจะมีต่อไปในอนาคตที่มีวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ-การเมืองอยู่ด้วยกัน ซึ่งเท่ากับคนไทยมีบรรพชนร่วมที่ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ของอุษาคเนย์และเป็นพลเมืองโลกโดยธรรมชาติ

3.ไทยมีบรรพชนต้นตอรากเหง้าเป็นชาวสยาม ซึ่งประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ที่พูดหลายตระกูลภาษา แต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้าและการติดต่อสื่อสารระหว่างชาติพันธุ์ ครั้นนานไปเป็นพันปีร้อยปีจึงเรียกตนเองสืบมาจนปัจจุบันว่าไทย, คนไทย เท่ากับไม่มีเชื้อชาติไทยหรือเชื้อชาติไทยแท้ไม่มีในโลก

ดังนั้นวัฒนธรรมไทยมีต้นตอรากเหง้าจากวัฒนธรรมสยาม ที่ประกอบด้วยวัฒนธรรมของคนหลายชาติพันธุ์ ทั้งในอุษาคเนย์และในโลก ซึ่งหมายความว่าวัฒนธรรมไทยมีกำเนิดและพัฒนาการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอุษาคเนย์และวัฒนธรรมโลก

แต่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย ตามกระแสลัทธิชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงทั่วประเทศ แล้วทำลายเศรษฐกิจสร้างสรรค์

แนวทางลดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่รัฐบาลควรทำอย่างเร่งรัดเป็นลำดับแรก  มีต่อไปนี้

1.ยกเลิกเชื้อชาติไทย เป็นไปตามหลักฐาน ดังนี้

(1.) นักวิทยาศาสตร์โลกประกาศที่สหรัฐเมื่อไม่นานมานี้ ว่าไม่มีเชื้อชาติในโลก ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆ ในโลกประกาศยกเลิกเชื้อชาติ และ (2.) นักโบราณคดีไทยกับนักวิทยาศาสตร์ไทย ร่วมกันประกาศผลวิจัยเมื่อต้นปีนี้ ว่าเชื้อชาติไทยแท้ไม่มี ที่มีคือลูกผสมหลายชาติพันธุ์หลายพันปีมาแล้ว

วธ. ทุกวันนี้ยังใช้งานประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่เป็นผลผลิตของรัฐบาลชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” เมื่อ 85 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2482) ไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลย ซึ่งส่งผลเสียหายมากต่อเศรษฐกิจ-การเมืองสมัยดิจิทัล

กรณีตากใบ เป็นผลจากประวัติศาสตร์คลั่งเชื้อชาติไทย แล้วด้อยค่าคน “ไม่ไทย” ว่าไม่ใช่คน จึงปฏิบัติต่อคนท้องถิ่นมลายูอย่างปลากระป๋อง

กรณีพื้นที่ทับซ้อนทะเลอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นผลจากประวัติศาสตร์คลั่งเชื้อชาติไทย แล้วด้อยค่าเพื่อนบ้านด้วยการปลุกกระแสคลั่งชาติสุดโต่งขณะนี้

กรณีแรงงานเพื่อนบ้าน ไทยขาดแรงงานกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สังคมถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาจากประวัติศาสตร์ชาตินิยมคลั่งความเป็นไทย แล้วด้อยค่าเพื่อนบ้านทำให้มีปัญหาไม่สิ้นสุด

2.ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ต้องนิยามใหม่และอธิบายใหม่ ตามหลักฐานจริงๆและด้วยหลักวิชาการสากลที่มีร่วมกันทั้งอุษาคเนย์โดย “ก้าวข้าม” ความเป็นไทยแท้

นิยามและคำอธิบายปัจจุบันของ วธ. คัดลอกตกๆ หล่นๆ จากตำราเก่าคร่ำคร่าล้าสมัยเพราะผูกติดกับประวัติศาสตร์ชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” เป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าการบริหารจัดการกระตุ้นเฟสติวัลเพื่อการท่องเที่ยว ดูจากกรณีเรือพระราชพิธี, และลอยกระทง

3.มิวเซียม จัดแสดงเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ดังนี้

(1.) ไทยมาจากชาวสยามซึ่งเป็นลูกผสมหลายชาติพันธุ์

(2.) ประเพณีพิธีกรรมเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้อง “ขอฝน” การทำมาหากินเพื่อเศรษฐกิจยังชีพ ซึ่งปรับใหม่ให้ร่วมสมัยได้ไม่มีข้อจำกัด

(3.) งานช่างท้องถิ่นที่มีพลังและเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อการตลาด เช่น ลายสลักบนกลองทอง (มโหระทึก) อายุ 2,500 ปีมาแล้ว มีลักษณะร่วมสมัย ควรกระตุ้นใช้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ให้มีมูลค่าเพิ่ม

การจัดแสดงทุกเรื่องต้องมีเอกสารอธิบายทั้งย่อและอย่างละเอียด ซึ่งเท่ากับกระตุ้นการอ่านทางอ้อมพร้อมกันไปด้วย