ความสำเร็จของโดนัลด์ ทรัมป์ : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากสามารถสร้างความนิยมจากคนอเมริกันหัวอนุรักษนิยม ที่ค่อนข้างจะเขลาจนได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากแล้ว ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่นายทรัมป์สามารถทำได้ก็คือเขาสามารถสร้างวาทกรรมหลายอย่างจนเป็นบุคคลที่โด่งดังของโลกภายในเวลาเพียงประมาณ 1 ปี หากนับเวลาที่เขาหาเสียงด้วย
วิธีสร้างความโด่งดังให้กับตัวเองของนายโดนัลด์ ทรัมป์ มี 2 ประการ

ประการแรกคือการเสนอนโยบายเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของโลกเสียใหม่ คือเปลี่ยนโลกกลับไปสู่ยุคชาตินิยม จับโลกหมุนกลับทวนเข็มนาฬิกา จากยุคโลกาภิวัตน์ ไปสู่โลกปิดประเทศ โลกกีดกันการค้าด้วยกำแพงภาษี และมาตรฐานอื่นเพื่อประโยชน์ของผู้ผลิตและแรงงานของตนเอง วาทกรรม “อเมริกามาก่อน” เป็นวาทกรรมที่กินใจคนในประเทศ เพราะจุดอ่อนของสังคมทุกสังคมก็คือ “ความเห็นแก่ตัว”

ตำราเศรษฐศาสตร์ สมัยก่อน จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ผู้โด่งดังเคยสอนกันว่า ครัวเรือนที่ประหยัด จะเป็นครัวเรือนที่แข็งแรง มีฐานะดีกว่าคนอื่น ทฤษฎีนี้จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อครอบครัวอื่นไม่ประหยัด ประหยัดอยู่ครอบครัวเดียว แต่ถ้าในสังคมนั้นทุกครอบครัวประหยัด สังคมนั้นจะไม่สามารถผลิตอะไรได้เลย เพราะไม่มีผู้ซื้อไม่มีผู้ใช้ หรือมีผู้ซื้อมีผู้ใช้น้อยกว่าปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตผลิตได้ ความจริงข้อนี้นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Paradox of Thrift”

คนใดคนหนึ่งประหยัดดี แต่ถ้าทุกคนประหยัดไม่ดี เศรษฐกิจไม่ขยายตัว เศรษฐกิจจะถอยหลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ดีตอนเกิดภาวะเงินเฟ้อ

Advertisement

โลกาภิวัตน์ เป็นการขยายตลาดจากประเทศหนึ่งไปสู่ภูมิภาคหนึ่ง และจากภูมิภาคหนึ่งไปสู่ทั้งโลก แต่แน่นอนในการรวมตลาดเข้าเป็นตลาดเดียวภายในประเทศหนึ่งก็ดี โดยการเปิดเสรีขจัดการผูกขาดตัดสิน เป็นตลาดเดียวในภูมิภาคหนึ่งหรือเป็นโลกาภิวัตน์ทั่วโลก ก็ย่อมมีผู้ชนะผู้แพ้ มีคนเก่งและคนเก่งน้อยกว่า และคนไม่เก่ง แต่โดยส่วนรวมแล้วทั้งประเทศ ทั้งภูมิภาค และทั้งโลกดีขึ้น

ความเหลื่อมล้ำ แม้จะเกิดขึ้นก็น่าจะสามารถแก้ไขได้ โดยมาตรการทางการคลัง และการใช้จ่ายของรัฐบาลผ่านโครงการ สวัสดิการ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่จะให้มีฐานะทางเศรษฐกิจเท่ากัน แบบสังคมคอมมิวนิสต์ ที่มีแต่ความยากจน อดอยากเท่าเทียมกันก็คงจะเป็นไปไม่ได้

ในสมัยสงครามเย็น ที่มีการต่อสู้กันเรื่องความคิดระหว่างระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรี และสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ ที่ปัจจัยการผลิตทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ทุนนอกจากแรงงานเป็นของรัฐทั้งสิ้น การแบ่งค่ายและการทำสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน เช่น นาโต้ ซีโต้ และอื่นๆ รวมทั้งการทำเขตเศรษฐกิจและการค้าเสรีก็เกิดขึ้น แต่เมื่อสหภาพยุโรปรวมตัวกันเข้าเป็นระบบเศรษฐกิจเดียวหรือ Single market และที่เรียกว่า สหภาพยุโรป หรือ European Union ใช้เงินตราสกุลเดียวกันหรือ single currency ที่เรียกว่าเงิน euro ใช้นโยบายต่างประเทศเดียวกันเป็นกลุ่ม หรือเพื่องานนโยบายการคลังเท่านั้น ที่แยกกันอาจจะเป็นไปได้ ที่สหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นผู้นำในการทำโลกกลับไปสู่ยุคก่อนโลกาภิวัตน์ อเมริกาอาจจะถอนตัวออกจากองค์การ
นาฟต้า องค์การนาโต้ และรายอื่นๆ ที่เป็นองค์กรกลายร่างประเทศ ทั้งที่สังกัดในสหประชาชาติและไม่ได้สังกัด รวมทั้งถอยออกจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

Advertisement

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในบรรดาประเทศต่างๆ ซึ่งก็มักจะเกิดขึ้นในแถบประเทศตะวันออกกลาง ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ความขัดแย้งอาจจะก่อให้เกิดสงคราม ก่อให้เกิดการอพยพลี้ภัยสงคราม โดยสหรัฐอเมริกาจะไม่รับภาระดังกล่าว รวมทั้งไม่รับผู้ลี้ภัยเหล่านั้นเข้าประเทศด้วย ไม่ว่าจะมาจากประเทศคู่สงคราม และจากประเทศที่สาม ความเป็นอารยะของโลกอาจจะลดลง ต้องคอยดูว่า การเมืองของโลก การจัดระเบียบทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจของโลก จะออกมาในรูปใด อาจจะดี เรียบร้อย หรืออาจจะยุ่งเหยิงก็ได้

เกิดมีประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สนใจปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ ไม่สนใจปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กองทัพลุกขึ้นทำการปฏิวัติยึดอำนาจ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน จับกุมคุมขังหรือประหารชีวิตผู้ที่ไม่เห็นด้วย หรืออาจจะมีประเทศใดประเทศหนึ่งใช้กำลังทหารบุกยึดประเทศใดประเทศหนึ่งเช่นในกรณีที่ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แห่งประเทศอิรัก ยกกองทัพเข้ายึดประเทศคูเวต กองทัพสหประชาชาติที่สหรัฐไม่ยอมออกค่าใช้จ่ายก็น่าจะมีปัญหาเพราะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงที่เหลือคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย คงจะไม่พร้อมที่จะออกเงินค่าใช้จ่ายแทนสหรัฐอเมริกามุ่งมีพันธะจะต้องจ่ายตามสัดส่วนของรายได้ประชาชาติของตน

ที่ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จของประธานาธิบดีทรัมป์ก็คือประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสามารถเป็นข่าวหน้า 1 ได้ทุกวัน ทั้งหนังสือพิมพ์ในประเทศอเมริกาเองและหนังสือพิมพ์ในต่างประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย

ที่น่าทึ่งประการที่สองก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ กล้าหาญชาญชัยพอที่จะประกาศว่า เขาจะทำให้ระบอบการเมืองของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นระบอบการเมืองระบบ 2 พรรค bi-party System ให้เป็นระบอบการเมืองแบบพรรคเดียวหรือ one party System

คนอเมริกันมีความภูมิอกภูมิใจในระบอบประชาธิปไตย ระบบประธานาธิบดี ที่มีการแยกอำนาจระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตามทฤษฎีของ Montesgnien เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ก็ภูมิใจในระบอบประชาธิปไตยแบบ 2 พรรคของตนเป็นอันมาก ตำรารัฐศาสตร์เกือบทุกเล่มยกย่องระบอบประชาธิปไตยแบบ 2 พรรค ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ สามารถมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ทำงานได้ต่างกับระบอบประชาธิปไตยที่มีหลายพรรค ต้องจัดรัฐบาลผสม รัฐบาลไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขาดเสถียรภาพ ขณะเดียวกันการมีพรรคเสียงข้างน้อยที่เข้มแข็งเพียงพรรคเดียว และเป็นพรรคที่อาจจะชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ย่อมทำให้รัฐบาลโดยพรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง

คนอเมริกันไม่นิยมระบอบการปกครองระบอบมีพรรคเด่นเพียงพรรคเดียว ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งๆ ที่ระบอบการปกครองที่ดีเพียงพรรคเดียวไม่จำเป็นต้องเป็นระบอบเผด็จการ เช่น ระบอบการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นการปกครองโดยการนำของพรรคที่เป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพอันได้แก่ พรรคคอมมิวนิสต์

ในระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย ก็อาจจะเป็นการปกครองโดยพรรคเดียวได้ เช่น ญี่ปุ่น โดยพรรคเสรีประชาธิปไตยอินเดียสมัยหนึ่งโดยพรรคคองเกรส

นอกนั้นถ้าไม่เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ ก็เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นโดยผู้นำเผด็จการทั้งสิ้น

การที่โดนัลด์ ทรัมป์ เอ่ยปากพูดถึงความต้องการของเขา อยากเห็นสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคเดียว ก็เท่ากับเป็นการเผยให้เห็นว่าเขามีความเห็นโน้มเอียงไปทางระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งเป็นการขัดต่ออุดมการณ์ “บิดาผู้ก่อตั้ง” ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนอเมริกันส่วนใหญ่ และเป็นที่ภูมิอกภูมิใจของคนอเมริกันมาโดยตลอด

ต่อไปเราคงจะได้ยินวาทกรรมแปลกที่แสดงถึงความล้าหลังของผู้นำอเมริกันคนนี้มากขึ้น จะว่าเป็นวาทกรรมที่ไร้สาระ ไม่ต้องสนใจก็ไม่ได้ เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง การเงิน การคลัง การทหาร เทคโนโลยี ทั้งบนพื้นพิภพ และในอวกาศ ซึ่งหัวหน้ารัฐบาล ผู้นำพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสหผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือแม้แต่ศาลสูง ผู้พิพากษาส่วนใหญ่แม้จะเป็นอิสระ แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นผู้แต่งตั้ง ทรัมป์จึงเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว อเมริกาก็เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว

การที่ผู้นำประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกป่วยทางจิต คิดว่าตนและประเทศของตนต้องยิ่งใหญ่กว่านี้ เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ประเทศและประชาชนของตนเท่านั้น แต่เป็นอันตรายต่อประชาชนพลเมืองของโลกด้วย

ทรัมป์จึงเป็น “จอมโว” รุ่นใหม่

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image