บึงกาฬเดินหน้า 4.0 : คอลัมน์ โลกสองวัย

แฟ้มภาพ

“บึงกาฬ 4.0” ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เคยบอกกล่าวไว้ที่นี้ว่ามีความเป็นไปได้ ทั้งเกิดขึ้นต่อเนื่องและพัฒนามาเป็นปีที่ 5 จาก “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ”

ปีนี้การจัดงานพัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการมุ่งสู่ “บึงกาฬ 4.0” ในหลายประการ ตั้งแต่การจัดแสดงนวัตกรรมที่พัฒนามาจากยางพารา มีการใช้เครื่องจักรยุคใหม่แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น จากเดิมผลิตหมอนหนุน เพิ่มเป็นรองเท้าแตะยางเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่ต้องการ

วันนี้ เครื่องกรีดยางอัตโนมัติสั่งให้ทำงานด้วยรีโมตที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้าหรือโซลาร์เซลล์เข้าไปแทนที่แรงงานคนกรีดยางบ้างแล้ว แต่มิได้ทิ้งกำลังคน เพียงปรับเปลี่ยนหน้าที่จากการกรีดยางไปทำอย่างอื่น เพื่อสร้างมูลค่าให้กับกำลังแรงงานคน

การสร้างถนนด้วยยางพาราเป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สร้างความพอใจให้กับตัวแทนรัฐบาล คือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ชมด้วยความชื่นชม

Advertisement

ด้านนิทรรศการเกี่ยวกับยางพาราทั้งในเรื่ององค์ความรู้ ความก้าวหน้าทางการเกษตร และนวัตกรรมอื่นอีกหลากหลาย ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากการยางแห่งประเทศไทย ที่นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้ว่าการ ไปร่วมงานด้วยตัวเอง และติดตามงานครั้งนี้ต่อเนื่อง รวมทั้ง “รับเบอร์แลนด์” พิพิธภัณฑ์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง

ขณะที่เป็นครั้งแรกที่ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมหน่วยงานในสังกัดมาเพิ่มพูนความรู้และวิทยาการเกี่ยวกับยางพาราในหลายหัวข้อ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออนาคตเกษตรอินทรีย์ไทย เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสำหรับยางพารา การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นความรู้ที่ทุกคนในงานซึ่งมาร่วมรับฟังได้รับรู้รับทราบไปเต็มที่

นอกจากนั้น เนื่องในโอกาสที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านครบรอบ 30 ปี ยังนำการเสวนาเกษตรที่ดีที่สุดมอบให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้งของบึงกาฬและที่เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะในหัวข้อพิเศษเรื่อง “เกษตรกรจะปรับตัวเข้าสู่สวนยาง 4.0 ได้อย่างไร” ฟังจบเมื่อวันนั้น กลับเข้าสวนยางมองเห็นสวนยางพาราวันนี้ 1.0 เป็นสวนยางพารา 4.0 ทันที จริงไหม

Advertisement

ห้วงเวลาผ่านมาเป็นปีที่ 5 พันธมิตรที่เข้ามาร่วมงานตลอดคือรับเบอร์วัลเลย์จากเมืองชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่แต่เพียงมาทำสัญญาซื้อน้ำยายางพาราจากชาวสวนยางพาราบึงกาฬเท่านั้น ยังนำเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าให้กับน้ำยายางพาราให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาดูโรงงานเพื่อจัดตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราให้เป็นยางรถยนต์ และอื่นๆ

ในไม่นานวันข้างหน้า การร่วมทุนระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ยางพาราของจีนกับชาวสวนยางพาราบึงกาฬจะเกิดขึ้น ต่อไปเกษตรกรยางพาราไทยจะผลิตยางได้มากขึ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงราคาที่จะได้รับหรือราคาที่ขึ้น-ลงตามภาวะเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะจะมีการซื้อ-ขายและแปรรูปตลอดทั้งปี

งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ ไม่เพียงแต่เป็นงานเฉพาะเรื่องของยางพาราเท่านั้น ยังมีเรื่องของเกษตรกรภาคอื่น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรทั้งหลายได้เห็นว่าการเกษตรของไทยจะก้าวไปข้างหน้าอีกหลายขุม ดังที่รองนายกรัฐมนตรีสมคิดกล่าวเมื่อวันก่อน เพราะในงานมีผู้ร่วมงานจากจังหวัดอื่นที่สนใจมาร่วมหลายคน

เช่น นายยง รุ่งเรืองธัญญา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย, นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์จริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา (หลายสมัย) เป็นเทศบาลที่มีผู้ไปดูงานและชื่นชมผลงานมากที่สุด เป็นต้น

นอกจากนั้น งานนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรยังมอบสินเชื่อของธนาคารสนับสนุนให้กับโครงการ SME เกษตร ของเกษตรกรทำนาบ้านโสกก่าม โครงการสร้างฝายชะลอน้ำขนาดกลางบ้านห้วยผักขะ เซกา ฝายชะลอน้ำขนาดเล็ก ให้บ้านไชยวาล นาแสง บ้านหนองชัยวานใต้ ป่งไฮ

ปีหน้าพบความสำเร็จของ “บึงกาฬ 4.0 ครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image