สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไม่อยากเข้าใกล้วัฒนธรรม

สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไม่อยากเข้าใกล้วัฒนธรรม

วัฒนธรรมถูกทำให้ไม่น่าเข้าใกล้และไม่อยากเข้าถึง ด้วยลักษณะเจ้าขุนมูลนายศักดินาของระบบราชการแบบกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)

อย่างนี้จะอวดทำไม ความเป็นไทย, วัฒนธรรมไทย? มีตัวอย่าง 2 เรื่อง ดังต่อไปนี้

ข้าราชการ วธ. กับรัฐมนตรี

ADVERTISMENT

“กระจิบข่าว” บินโฉบไปแถวๆ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แอบเห็นใบปลิวว่อนกระทรวง…

เลยลองหยิบมาอ่าน เนื้อความโดยสรุปสะท้อนถึงความอึดอัดใจของข้าราชการชั้นผู้น้อยที่มีต่อ “ทีมงานข้างกาย รมว.” (ซึ่งไม่รู้จริงๆ ว่าใคร) นัยว่าสร้างความปั่นป่วนให้ข้าราชการ

ADVERTISMENT

ทั้งดองเรื่อง กั๊กเรื่อง นำเสนอเรื่องให้พิจารณาล่าช้า ….

ข้อกล่าวหาทั้งหมด ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่

แต่ไม่มีไฟ ก็คงไม่มีควันคลุ้งออกมา!!

คงจะดี ถ้า “รมว.ปุ๋ง” จะกระซิบถามคนข้างกายสักนิด

อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว…

[มติชน คอลัมน์ “ขอเวลานอก” วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2567 หน้า 11]

ข้าราชการ วธ. กับประชาชน

โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยสู่สากล(Community Cultural Product of Thailand : CCPOT)

มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยใช้ทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชน มุ่งเน้นการยกระดับสินค้าให้เป็นที่ต้องการในตลาดทั้งในและต่างประเทศ

โครงการนี้เริ่มเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 และสรุปโครงการเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งควรแบ่งปันเผยแพร่ตีฆ้องร้องป่าวให้กระหึ่ม

ครั้นประชาชนไปขอเอกสารสรุปโครงการที่สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ต้องใช้เวลา 23 วัน จึงได้เอกสารตามบันทึกของผู้ยื่นเรื่องขอเอกสาร (ไม่ประสงค์ออกนาม) จะคัดมาดังนี้

ลำดับการติดต่อขอเอกสารโครงการจากกระทรวงวัฒนธรรม

10 ต.ค. 2567 ติดต่อขอข้อมูลเอกสารโครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT) ที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยแจ้งว่าความสนใจในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ จะนำไปประกอบการศึกษาและเขียนบทความด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของชุมชนสังคมในไทย เจ้าหน้าที่แจ้งให้ทำหนังสือราชการไปให้ปลัดกระทรวงเซ็นอนุมัติ

11 ต.ค. 2567 เข้าไปส่งหนังสือราชการ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเอกสารไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีลายเซ็นของผู้ส่ง และควรส่งเอกสารในนามองค์กรหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการแก้ไขและส่งเอกสารในทันทีให้เจ้าหน้าที่วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่บอกไม่รู้จะได้ไหม เพราะเอกสารแบบนี้ไม่เคยมีที่ทำในนามส่วนตัวจะลองส่งไป

16 ต.ค. 2567 โทร.ติดตามเรื่องเอกสาร เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้รับการเซ็นอนุมัติจากปลัดแล้ว กำลังรวบรวมเอกสารและหาคนประสานงาน แต่ยังไม่สามารถระบุเวลาที่จะได้เอกสาร

17 ต.ค. 2567 ติดตามเอกสาร เจ้าหน้าที่แจ้งว่ายังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานและเอกสารต้องออกจากสองกองพร้อมกัน คือ กองเศรษฐกิจและกองกลาง ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งเพิ่มเติมว่ามีวิดีโอที่เผยแพร่ต่อสภาและคลิปที่ออกเป็นข่าวทั่วไป ส่งให้ก่อนได้ไหมถ้ารีบใช้ บอกเจ้าหน้าที่ไปว่ามีข้อมูลดังกล่าวแล้วต้องการเอกสารฉบับเต็ม เจ้าหน้าที่ตอบกลับว่า ฉบับเต็มต้องรออีกนิดนึง เพราะพี่ต้องทำหนังสือเสนอท่านปลัดเพื่อให้เซ็นอนุมัติเอกสารฉบับเต็มก่อนถึงจะส่งให้ได้

18 ต.ค. 2567 เจ้าหน้าที่แจ้งว่าทำหนังสือขอเอกสารส่งไปให้ปลัดแล้ว และขอข้อมูลส่วนตัวเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาขอเอกสาร

21 ต.ค. 2567 โทร.สอบถามเรื่องเอกสาร เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอ ไม่สามารถกำหนดวันได้แน่นอน

28 ต.ค. 2567 โทร.สอบถาม เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเอกสารจะเซ็นภายในสัปดาห์นั้น และจะส่งอีเมลไปก่อน

29 ต.ค. 2567 โทร.ตามเอกสาร เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเอกสารส่งถึงผู้บริหารแล้ว รอลงนาม

30 ต.ค. 2567 โทร.ตามเอกสารอีกครั้ง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเอกสารยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน และจะติดต่อตอบกลับเมื่อเสร็จสิ้น

1 พ.ย. 2567 เจ้าหน้าที่โทร.มาแจ้งว่าผู้บริหารเซ็นอนุมัติเอกสารแล้ว จะส่งเอกสารมาทางอีเมล และส่งตัวจริงไปตามที่อยู่

ความมั่นคงของชาติ?

โครงการฯ มีชื่อหลอกๆ ว่า “สู่สากล” ของผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย

(1.) สรุปผลไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2565

(2.) น่าจะแบ่งปันเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลให้ประชาชนเข้าถึงสะดวกเพื่อรับรู้และชื่นชม

นี่กลับไม่แบ่งปัน แล้วทำให้เข้าถึงยาก เหมือนเป็นความลับทางการทหาร

เลยทำให้สงสัยว่า ทำให้ยุ่งยากทำไม? เพื่อแสดงอำนาจของข้าราชการ? หรือเพื่อความมั่นคงของผู้บริหารกระทรวง?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image