ไทยพบพม่า..รัฐประหารของเน วินกับอวสานของพม่าสมัยใหม่ : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ราวตีสองของเช้าวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) เกิดเสียงอึกทึกขึ้นในซอยปยีตองซุ บนถนนกู๊ดลิฟฟ์ นอกเขตดาวน์ทาวน์ย่างกุ้ง ทหารกลุ่มหนึ่งเข้าควบคุมตัว นายกรัฐมนตรีอู นุ ณ บ้านพักเล็กๆ ที่เขาเช่าอยู่กับครอบครัวในซอยนั้น ทหารชั้นผู้น้อยมิได้แจ้ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีว่าจับกุมเขาด้วยเหตุอันใด และจะจับท่านไปไว้ที่ใด ตลอดวันนั้น อู นุคิดในแง่บวกว่าทหารชั้นผู้น้อยเหล่านี้คงจะก่อเหตุโดยพลการ เขารอคอยให้เพื่อนและคนที่รู้จักกันมายาวนานอย่าง นายพล เน วิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้นมาไกล่เกลี่ย “เน วินต้องมาช่วยแน่ๆ!” อู นุดูมั่นอกมั่นใจ เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง จากเช้าตรู่จนถึงบ่ายแก่ๆ อู นุ ได้รับแจ้งว่ามีบุคคลสำคัญท่านหนึ่งรอพบเขาอยู่ “โก เน วิน แน่ๆ” เขาคิด บุคคลสำคัญที่ขอเข้าพบอู นุ หาใช่นายพล เน วิน ไม่ หากแต่เป็น ประธานาธิบดี อู วิน หม่อง ที่เข้ามาพูดคุยกับอู นุ และแจ้งให้ทราบว่ากองทัพภายใต้การนำของเน วิน ได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจไว้เรียบร้อยแล้วในวันเดียวกันนั้น ถึงกระนั้น อู นุ ก็ยังไม่ปักใจเชื่อ และมองว่าเน วิน อาจจะขอเขากลับไปเป็นผู้นำในรัฐบาลรักษาการอีกครั้ง หลังจากอู นุเคยใส่เกียร์ถอยและปล่อยให้เน วินเข้ามาบริหารประเทศระหว่างปี 1958-1960 (พ.ศ.2501-2503) มาแล้ว

สิ้นเสียงของอู วิน หม่อง อู นุ หน้าเจื่อนเล็กน้อย ยิ่งเมื่อได้ทราบว่าเน วินได้ป่าวประกาศทางวิทยุโทรทัศน์ทั่วประเทศว่าการเมืองและเศรษฐกิจของพม่าภายใต้การนำของอู นุไม่เป็นโล้เป็นพาย และหากอู นุอยู่ในตำแหน่งต่อก็ยิ่งจะรั้งให้พม่าล้าหลัง กองทัพที่รักและหวังดีต่อชาติจึงจำเป็นต้องก่อการเพื่อโค่นล้มอำนาจเก่า ที่แม้จะชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพและไม่สามารถขับเคลื่อนพม่าไปสู่ความงอกงามดังเดิมได้ จากต้นปี 1962 เน วิน เป็นผู้นำเผด็จการที่ฉุดพม่าดำดิ่งสู่ห้วงของความยากจนมาถึง 26 ปี และแม้นว่าเน วินจะประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งหลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดจากการปราบปรามนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ประท้วงรัฐบาลในปี 1988 แต่วัฒนธรรมแห่งความฉ้อฉล การทุจริตในวงกว้าง การสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับกองทัพผ่านงบประมาณกองทัพมหาศาลในแต่ละปี การเซ็นเซอร์สื่อ (หรือแม้แต่สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง) และปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาดยังคงฝังรากลึกในพม่ามาจวบจนปัจจุบัน

นายพล เน วิน เผด็จการและผู้นำ BSPP ตั้งแต่ 1962-1988
นายพล เน วิน เผด็จการและผู้นำ BSPP ตั้งแต่ 1962-1988

ในวันเดียวกับที่เน วินยึดอำนาจนั้น แม้จะไม่มีความรุนแรงหรือการประท้วงขนาดใหญ่ตามมา แต่ก็มีเหยื่อที่ต้องสังเวยให้กับรัฐประหาร คือพระโอรสพระองค์หนึ่งของ เจ้าฉ่วย แต้ก (Sao Shwe Thaike) เจ้าฟ้าแห่งเมืองยองห้วย และอดีตประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่าหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งทรงถูกยิงหลังขัดขวางมิให้ทหารควบคุมตัวพระบิดาออกจากตำหนักที่ประทับ ต่อมาเจ้าฟ้าฉาน (ไทยใหญ่) 2 พระองค์ ทั้ง เจ้า ฉ่วย แต้ก และ เจ้า จา แสง เจ้าฟ้าแห่งเมืองสีป้อ จะทรงถูกจับกุมและสิ้นพระชนม์ในที่กุมขัง (หากสนใจสามารถติดตามอ่านพระประวัติของเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์ และการต่อสู้เพื่อสิทธิปกครองตนเองของชาวฉานในหนังสือ สิ้นแสงฉาน ซึ่งประพันธ์โดย Inge Sargent หรือพระนางสุจันทรี พระชายาของเจ้าจาแสง มนันยาแปลเป็นภาษาไทย และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน และหนังสือ The Moon Princess : Memories of the Shan States พระนิพนธ์ของเจ้า ซันดา พระธิดาของเจ้า ฉ่วย แต้ก)

รัฐประหารปี 1962 เกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบและฉับพลัน แม้จะมีข่าวลือมาหลายเดือนว่านายพลเน วินกำลังวางแผนทำรัฐประหาร แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าเน วินจะรัฐประหารรัฐบาลของอู นุขึ้นมาจริงๆ ดูเหมือนว่าเน วินเองก็ไม่มีแผนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรภายหลังรัฐประหารสำเร็จแล้ว ขอให้ได้ปฏิวัติ ปิดบัญชีอู นุได้เป็นพอ เน วินเป็นนายทหารที่เข้าร่วมกับสมาคมเราชาวพม่า หรือ “โด้ะ บะหม่า อะซีอะโยน” องค์กรชาตินิยมที่เข้มแข็งและผลิตนักชาตินิยมชั้นดีหลายคน ทั้งนายพล ออง ซาน, อู นุ ฯลฯ เมื่อครั้งญี่ปุ่นยึดครองพม่าระหว่างปี 1942-1945 เน วิน และพวก ในนาม “สหายสามสิบ” (Thirty Comrades) เดินทางไปฝึกทหารกับกองทัพญี่ปุ่นที่เกาะไหหลำ เมื่อกลับมาเขากลายเป็น “ตะขิ่น” (เป็นภาษาพม่าแปลว่า “นาย” หรือ “master” ตลอดยุคอาณานิคมเป็นคำเรียกชาวอังกฤษ แต่นักชาตินิยมพม่ารับคำว่าตะขิ่นมาใช้เพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ว่าชาวพม่าต้องการเป็นนายของตนเอง) หากจะกล่าวว่าเน วินมิใช่ผู้นำในกลุ่มสหายสามสิบที่โดดเด่นมากนักก็อาจจะไม่ผิด เพราะเขามิได้เป็นผู้นำ มิได้เป็นมันสมองของขบวนการ “ตะขิ่น” และอาจจะถูกมองว่าเป็นผู้นำในระดับรองๆ ลงมาด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเรียนไม่จบเหมือน “ตะขิ่น” คนอื่นๆ (เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งได้ 2 ปี ก็ถูกไล่ออกเพราะสอบไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด) เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจนี้หรือไม่ที่เป็นปมผลักดันให้เน วินมีความทะเยอทะยาน โหยหาอำนาจ และพยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้?

Advertisement

แทบจะทันทีหลังยึดอำนาจ เน วิน ตั้งสภาปฏิวัติขึ้นมาบริหารประเทศผ่านการใช้กฎอัยการศึก การบริหารงานของเน วินเป็นไปตามกรอบกว้างๆ หรือเป็นลักษณะของเป้าหมายนำนโยบาย คือการรักษาความเป็นปึกแผ่นที่แบ่งแยกมิได้ของสหภาพพม่าไว้ และการไล่บี้อิทธิพลต่างชาติทั้งจากชาวตะวันตกและชาวอินเดียที่เน วินและนักชาตินิยมพม่าเชื่ออย่างฝังหัวว่าได้ผลักให้ชาวพม่า หรือชาว “บะหม่า” ออกไปเป็นพลเมืองชั้นสอง ในทางเศรษฐกิจ เป้าหมายของรัฐบาลทหารคือการกำจัดทุนของชาวตะวันตก ชาวอินเดีย และชาวจีนออกไปผ่านการควบรวมกิจการต่างชาติมาเป็นของรัฐ

เมื่อมีการตั้งคณะทำงานเข้ามาบริหารประเทศในกลางปี 1962 ในชื่อ BSPP (Burma Socialist Programme Party) รัฐบาลพม่ากดดันและผลักให้ชาวต่างชาติออกจากพม่า เริ่มจากการใช้มาตรการอย่างการไม่ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการ การไม่ต่อวีซ่า ไปจนถึงการไล่ออกนอกประเทศ ซึ่งทำให้มีกลุ่มทุน อดีตข้าราชการอาณานิคม อาจารย์ ปัญญาชน ฯลฯ กว่า 3 แสนคนที่ถูกขับออกจากพม่าอย่างขมขื่น เอียน บราวน์ (Ian Brown) อดีตศาสตราจารย์ประจำ School of Oriental and African Studies แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน มองว่าการขับพ่อค้า นักลงทุน ชาวอินเดียและชาวจีน หรือ “มันสมอง” เหล่านี้ออกไปนี่แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นของการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในพม่า ปัจจัยดังกล่าวประกอบกับนโยบายปิดประเทศ จนพม่ากลายเป็น “ฤๅษีแห่งเอเชีย” การนำนโยบายทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมจัดมาใช้ และนโยบายที่แอบอิงกับ “อารมณ์” และรสนิยมของผู้นำ อย่างการประกาศลดค่าเงินและประกาศยกเลิกธนบัตรราคา 50 และ 100 จ๊าตในปี 1964 และอีกครั้งในปี 1987 ที่รัฐบาลประกาศยกเลิกธนบัตรราคา 25, 35 และ 75 จ๊าต โดยไม่มีการชดเชยใดๆ ให้กับประชาชน ได้ทำลายฐานรากทางเศรษฐกิจและลดทอนคุณค่าของการใช้เหตุผลลง ซึ่งจะเซาะกร่อนทั้งสังคมและคนพม่ายุคใหม่ไปทีละน้อยๆ

ปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รัฐบาลเน วินขาดความชอบธรรมในการปกครอง และเป็นที่เกลียดชังของชาวพม่าในแทบจะทุกระดับ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 1988 เป็นเหตุที่ทำให้เน วินต้องลงจากตำแหน่ง แต่ก็ยังมีคนในกองทัพที่เข้ามารับช่วงต่อ สืบสานปณิธานของกองทัพและพิทักษ์ปรัชญาของความเป็นสหภาพพม่าอย่างมุ่งมั่น ภายใต้ SLORC และ SPDC คนพม่าหลายคนมองว่าสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนยิ่งย่ำแย่ลงกว่าเก่า การศึกษาถูกกดทัพเพราะมหาวิทยาลัยถูกมองว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้เห็นต่างที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ วัฒนธรรม

Advertisement

รัฐประหารของนายพล เน วิน เวียนมาครบ 55 ปีเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา สังคมพม่ากำลังเดินหน้าหรือกำลังถอยหลังเข้าสู่ยุคที่อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ผู้อ่านคงต้องช่วยผู้เขียนตัดสินแล้วล่ะค่ะ

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image