ลลิตา หาญวงษ์ : มิน อ่อง ลายกับทริปจีน… แล้วยังไงต่อ?

การเดินทางไปจีนของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหาร SAC เป็นข่าวใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะอย่างที่ทราบกันดี ท่าทีของมิน อ่อง ลายที่มีต่อจีนนั้น อยู่ในขั้น “ตึงๆ” มาตลอดหลายปี นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว ทัศนคติของผู้นำพม่าที่มีต่อจีนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในเชิงญาติมิตรแบบทวิภาคี ตามกรอบคิดแบบ “เป้า พอ” (Puak-Phaw) อีกต่อไป หากเต็มไปด้วยความหวาดระแวง และความกลัวว่าจีนจะเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในและถลุงทรัพยากรของพม่า ภาพสะท้อนจากความไม่ไว้วางใจของพม่าเห็นได้ชัดที่สุดจากการที่รัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง สั่งแขวนโครงการสร้างเขื่อนมยิตโซน (Myitsone Dam) ของจีน ตั้งแต่ปี 2011 แม้ทางการจีนจะพยายามล็อบบี้และโน้มน้าวให้ทั้งรัฐบาลกึ่งพลเรือนและรัฐบาลพลเรือนกลับมาพิจารณาโครงการสร้างเขื่อนนี้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อต้นปี 2021 พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ไม่เคยไปเยือนจีน แม้ในช่วงที่ผู้นำระดับสูงของจีนเดินสายพบปะอดีตผู้นำอาวุโสของพม่า ผู้เขียนมองว่าแนวทางการรับมือกับปัญหาการเมืองในพม่าที่กระทบต่อความมั่นและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนค่อนข้างรุนแรงนั้น มาจากแนวทางที่ผู้เขียนอยากจะเรียกว่าเป็นสนที่ลู่ลมด้วยรากที่แข็งแกร่ง จีนใช้การลองผิดลองถูก (trial and error) เมื่อการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งใช้ไม่ได้ผล จีนไม่รีรอที่จะแก้เกม และในบางครั้งก็กลับหลังหันแบบ 360 องศา เช่น เมื่อจีนเข้าไปสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรสามพี่น้อง หรือกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ในรัฐฉานตอนเหนือและรัฐอาระกัน เพื่อให้ร่วมกันโจมตีกองทัพพม่า จีนมองว่าปฏิบัติการร่วมจะทำให้ SAC อ่อนแอ และจะกดดันให้มิน อ่อง ลายลงจากตำแหน่งได้ แต่เมื่อเห็นว่าการกดดันนี้ไม่ได้ผล จีนก็เริ่มเข้าหาอดีตผู้นำทหารพม่า เพื่อให้ร่วมกดดันผู้นำ SAC ด้วยอีกเปลาะหนึ่ง ท้ายที่สุด แผนการทั้งหมดนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อประเมินแล้วว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่ตัวของมิน อ่อง ลายเอง จีนก็ต้องเปิดฉากเจรจาและเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่จีนเชิญให้มิน อ่อง ลายไปคุนหมิงอย่างเป็นทางการ

มาถึงตอนนี้ เราคงพูดได้เกือบเต็มปากแล้วว่าจีนมองไปที่การแก้ไขปัญหาในพม่า โดยการเจรจากับมิน อ่อง ลายโดยตรง วิธีในการโน้มน้าวผู้นำ SAC ให้ไว้ใจจีนมากขึ้น ได้แก่ การสนับสนุนการเลือกตั้ง และการเชิญมิน อ่อง ลายไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ แม้จะเป็นการเยือนเพียงคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ไม่ใช่การเยือนปักกิ่ง แต่ก็เพียงพอที่จะส่งเมสเสจให้โลกรับรู้ว่าจีนยังเอาจริงเอาจังเรื่องพม่า และอีกทั้งยังพยายามถ่วงดุลอำนาจโดยให้ชาติในอาเซียน ที่มีท่าทีเป็นมิตรต่อพม่า ได้แก่ กัมพูชา ไทย เวียดนาม และลาว ซึ่งอยู่ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) พอดิบพอดี ร่วมพูดคุยเพื่อสร้างบรรยากาศเชิงบวก ในการประชุม GMS ที่คุนหมิง ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

ในความเป็นจริง จีนลังเลไม่ต้องการเชิญมิน อ่อง ลายไปจีนในตอนแรก มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ามิน อ่อง ลายพยายามล็อบบี้ให้รัฐบาลจีนเชิญตนไปจีนตั้งแต่เกิดรัฐประหารใหม่ๆ เพราะต้องการการรับรองจากประเทศมหาอำนาจ แต่จีนก็พยายามใช้เวทีอาเซียนเป็นอีกหนึ่งวิธีการเพื่อเจรจากับพม่า การเชิญมิน อ่อง ลายไปจีนอย่างเป็นทางการ เท่ากับจีนรับรองว่ามิน อ่อง ลายเป็นประมุขแห่งรัฐ (head of state) อย่างเป็นทางการ ท่ามกลางข้อถกเถียงในโลกว่าประมุขของรัฐพม่าควรจะเป็นใคร ระหว่างผู้นำ SAC ที่ตั้งรัฐบาลขึ้นมาหลังรัฐประหาร หรือรัฐบาลคู่ขนาน NUG ที่เป็นฝ่ายต่อต้าน SAC โดยตรง ในขณะที่ประเทศในกลุ่มเสรี ทั้งในยุโรปและอเมริกา หรือชาติในอาเซียนบางชาติ โดยเฉพาะสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีท่าทีที่แข็งกร้าวกับพม่าในระดับที่แตกต่างกันไป ซึ่งหลักการมองพม่าที่กล่าวมานี้สร้างความตึงเครียดในอาเซียนพอสมควร อย่างไรก็ดี การเชิญมิน อ่อง ลายให้ไปร่วมประชุม GMS ที่คุนหมิงไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากับการเชิญให้ไปหารือแบบทวิภาคีที่ปักกิ่ง ถึงกระนั้น ท่าทีของรัฐบาลจีนต่อเรื่องนี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะตีความว่าจีนต้องใช้มิน อ่อง ลายเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่จีนต้องการ นั่นคือสันติภาพในพื้นที่ชายแดนของตนและการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จีนมีในพม่า

ADVERTISMENT

พม่าเป็นพื้นที่ที่จีนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ BRI (Belt and Road Initiative) หรือเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เชื่อมจีนกับมหาสมุทรอินเดีย จีนยังเชื่ออีกว่าการปล่อยให้พม่าล่มสลายจะเปิดโอกาสให้มหาอำนาจฝั่งตะวันตกเข้าไปแทรกแซงในพม่า ในความคิดของผู้เขียน นโยบายของสหรัฐอเมริกาในยุคประธานาธิบดีไบเดน แทบไม่ให้ความสำคัญกับพม่า ยิ่งเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์กำลังจะเข้ารับตำแหน่ง อาจประเมินไม่ยากว่าพม่าจะยิ่งมีความสำคัญน้อยลงไปอีก อาจมีผู้โต้แย้งว่าสหรัฐอเมริกายังพยายามแทรกแซงการเมืองในพม่าอยู่ ผ่านการสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาล NUG และสเกลของการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาเล็กมากๆ เมื่อเทียบกับจีน

มาถึงตอนนี้ ทุกคนคงอ่านเกมของปักกิ่งออกแล้วว่าต้องการสนับสนุน SAC เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพราะจีนชื่นชอบมิน อ่อง ลาย หากแต่เป็นเพราะจีนเกรงว่าหากกองทัพพม่าและ SAC เพลี่ยงพล้ำต่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านมากไปกว่านี้แล้วจีนจะควบคุมสถานการณ์ได้ยาก ในใจของมิน อ่อง ลายเอง ดังที่กล่าวไปแล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ไม่ใช่เฉพาะในระดับรัฐบาล แต่ประชาชนทั้งฝ่ายที่สนับสนุน SAC เอง หรือฝ่ายต่อต้าน ล้วนไม่เชื่อใจจีน

ADVERTISMENT

เจสัน ทาวเวอร์ (Jason Tower) ผู้อำนวยการสถาบันสันติภาพสหรัฐอเมริกา (United States Institute for Peace) หรือ USIP กล่าวกับสำนักข่าว อิรวดีว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้จีนต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์และต้องเข้าหามิน อ่อง ลายมากขึ้นคือการเปิดฉากโจมตีเมืองสำคัญในรัฐฉานเหนือของกลุ่มพันธมิตรสามพี่น้อง โดยเฉพาะกลุ่ม MNDAA หรือกองกำลังของฝั่งโกก้าง ทำให้ล่าเสี้ยว (Lashio) เมืองขนาดใหญ่ในรัฐฉานตอนเหนือ ตกเป็นของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน ยิ่งทำให้จีนรู้สึกไม่มั่นคง และหวาดกลัวว่าจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ MNDAA เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังสามพี่น้อง ที่จีนให้การสนับสนุนมาก่อน แต่เมื่อเกิดเหตุที่ล่าเสี้ยวขึ้น จีนก็ปิดชายแดน และขู่ว่าจะตัดความสัมพันธ์กับกองกำลังกลุ่มนี้ อีกทั้งยังตัดไฟ น้ำ และอินเตอร์เน็ต ในเขตโกก้าง ฐานที่มั่นของ MNDAA เพื่อข่มขู่ด้วย

เป้าหมายในระยะ 1 ปีของจีน คือการทำทุกทางเพื่อให้พม่าจัดเลือกตั้ง เพราะไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาหน้าใด มิน อ่อง ลายก็จะต้องลงจากตำแหน่ง ทำให้ความกังวลของจีนลดลงไปด้วย อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมองว่า ความตึงเครียดระหว่างพม่ากับจีน ที่มีอยู่ในใจลึกๆ มายาวนาน ยิ่งทำให้มิน อ่อง ลายไม่ไว้ใจจีน และจะยิ่งทำให้สถานการณ์ในพม่าซับซ้อนมากขึ้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image