ดุลยภาพดุลพินิจ : ประเมินผลการทำงานของท้องถิ่นไทย 2566

ดุลยภาพดุลพินิจ : ประเมินผลการทำงานของท้องถิ่นไทย 2566

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล อปท. จัดทำการประเมินผลการทำงานของหน่วยงานท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี เรียกย่อว่า LPA = local performance assessment โดยประเมินการทำงาน 5 ด้าน ถูกนำไปอ้างอิงอย่างแพร่หลาย รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการให้รางวัล อปท.ที่มีการบริหารจัดการที่ดีโดยสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่น ในโอกาสนี้จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์สังเคราะห์พร้อมกับเสนอข้อสังเกตและวิจารณ์ตามสมควร

อบจ. เทศบาล และ อบต. จัดทำบริการสาธารณะที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด คนท้องถิ่นสามารถตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นโดยง่าย แต่โดยทั่วไปเราจะรู้ข้อมูลเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ของตนเอง การที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดทำการประเมินผลการทำงานครอบคลุมทุกพื้นที่ กำหนดมาตรวัดแบบเดียวกัน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนและในด้านวิชาการ ตัวชี้วัดจำแนกเป็น 5 ด้าน รวมกัน 98 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย ด้านที่ 1 การบริหารจัดการ (11 ตัวชี้วัด) ด้านที่ 2 การบริหารงานบุคคลและกิจการสภา (9 ตัวชี้วัด) ด้านที่ 3 การบริหารงานการเงินและการคลัง (22 ตัวชี้วัด) ด้านที่ 4 การจัดบริการสาธารณะ (51 ตัวชี้วัด) ด้านที่ 5 ธรรมาภิบาล (5 ตัวชี้วัด) กำหนดว่าเกณฑ์ผ่านที่คะแนน 70 หากสูงกว่านั้นคือ 71-80 ดี 81-90 ดีมาก 91-100 ดีเยี่ยมตามลำดับ

นักวิจัยนำคะแนนมาจัดกลุ่ม 6 ระดับ คือ 50, 60, 70, 80, 90, 100 พร้อมกับแสดงรูปภาพที่ 1 สรุปได้ว่า เกือบทั้งหมดผ่านเกณฑ์ 80% ขึ้นไปมากกว่า 97% มีเพียง 222 แห่งที่ได้คะแนนน้อยกว่า 70 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8% จากรูปภาพที่ 1 กรณี อบต.จำนวนที่ได้คะแนนเกิน 90% ขึ้นไป 1,116 แห่ง ระหว่าง 81-90 จำนวน 3,181 แห่ง และในกลุ่ม อบจ. 76 แห่งล้วนได้คะแนนผ่านเกณฑ์ 70% ทั้งหมด

ADVERTISMENT

ลำดับต่อไปนักวิจัยนำข้อมูลทั้ง 5 ด้านมาวิเคราะห์โดยละเอียด พบข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ด้านบริการการเงินการคลังได้คะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด ต่ำกว่าในหมวดอื่นๆ ชัดเจน เฉลี่ยเพียง 76.77 (คะแนนเต็ม 100) ซึ่งจะมีข้อสังเกตเชิงวิจารณ์ตอนต่อไป

ข้อสังเกตหรือวิจารณ์เพิ่มเติม ประการแรก การบริหารการเงินการคลังเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าท้องถิ่นเป็นหน่วยงานภาครัฐถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานระดับมหภาค (หลายหน่วยงานด้วยกัน) เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารรายได้-รายจ่าย-เงินสะสม อย่างรอบคอบระมัดระวัง ข้อเสนอในที่นี้คือ หน่วยงานท้องถิ่นควรทำแผนงานอบรมความรู้ด้านการเงินการคลังเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้
เจ้าหน้าที่การเงินได้รับโอกาสศึกษาศึกษาดูงานจากหน่วยงานอื่นๆ ที่มีผลการปฏิบัติที่ดีมากหรือดีเยี่ยม ประการที่สอง คะแนนการจัดบริการสาธารณะ ค่าเฉลี่ย 80.60 ถือว่าดี แต่ต่ำกว่าด้านบริหารงานบุคคลหรือด้านธรรมาภิบาล ความจริงการจัดบริการสาธารณะถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ของการทำงานท้องถิ่น การทำงานให้ถูกใจประชาชนทุกกลุ่มไม่ง่าย เพราะว่าความต้องการแตกต่างกัน เช่น กลุ่มเด็ก กลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มสูงวัย ฯลฯ กฎหมาย-การจัดบริการสาธารณะเหมือนเดิม แต่ในความเป็นจริงมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ดังนั้นบริการสาธารณะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น การนำเครื่องมือสารสนเทศมาใช้เพื่อความสะดวก-การติดต่อระหว่างประชาชนกับผู้ปฏิบัติการ ความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการประชาชน (responsiveness) เป็นเรื่องสำคัญ อาจจะไปศึกษาดูงาน อบจ. เทศบาล และ อบต. ชั้นนำที่มี “นวัตกรรมการจัดการ” และได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ

ADVERTISMENT

ระการที่สาม มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญในกรณี อบจ. คือการรับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป ซึ่งก็น่าสนใจมาก ทุกท้องถิ่นที่รับถ่ายโอนงานล้วนต้องการให้ “บริการดีขึ้น” เพื่อเป็นชื่อเสียง คะแนนนิยมและความพึงพอใจของประชาชน มีตัวอย่าง อบจ.ชั้นนำที่รับถ่ายโอนงาน รพ.สต. ควบคู่กับยกระดับการพัฒนา ตัวอย่างเช่น อบจ.เชียงใหม่ ปรับมาตรฐาน รพ.สต. จากการเป็น “ลูกข่าย” กลายเป็น “แม่ข่าย” ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 10 แห่งด้วยกันซึ่งหมายถึงต้องมีแพทย์ประจำ เงินอุดหนุนให้แม่ข่ายสูงกว่าลูกข่ายหลายเท่าตัว เข้าใจยังมี อบจ.อื่นๆ ที่จะทำงานเชิงรุกปรับฐานะจากลูกข่ายเป็นแม่ข่ายด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งน่าติดตามและนำมารายงานในโอกาสต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image