สุจิตต์ วงษ์เทศ : รับผิด เมื่อทำพลาด

สุจิตต์ วงษ์เทศ

สื่อที่รายงานข่าวรวดเร็วทันใจ ครั้นต่อมาได้ตรวจสอบโดยคนอื่นหรือตัวเองก็ตาม พบว่ามีข้อบกพร่องผิดพลาดคลาดเคลื่อน จนกระทบเสรีภาพของประชาชน แล้วทำความเสียหายถึงคนอื่นๆ

สิ่งแรกที่ต้องทำทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข คือเร่งแก้ไขให้ถูกต้องอย่างรวดเร็วทันใจ แล้วขออภัยขอโทษ ยอมรับผิดในสิ่งที่ทำพลาดนั้น โดยไม่ต้องพร่ำเพ้อพรรณนาเสมือนแก้ตัวตามที่ชอบประพฤติทั่วไปว่าคนทำสื่อมีข้อจำกัดต่างๆ นานา เช่น บุคลากรมีจำกัด, เวลามีจำกัด, เงินมีจำกัด ฯลฯ

เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องขององค์กรไม่ใช่เรื่องบุคคล ดังนั้นไม่ว่าจะมีข้อจำกัดอย่างไร? ความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ไม่อนุญาตให้รายงานข่าวบกพร่องผิดพลาดคลาดเคลื่อน และไม่ควรมีข้อยกเว้นเป็นอภิสิทธิ์ชนอย่างที่ชอบอ้างฐานันดรสี่

สังคมไม่ถึงกับเอาเป็นเอาตายกับสื่อที่ยอมรับผิดนั้น แต่ตรงข้ามมีแต่จะให้อภัยและให้เกียรติ เพราะการทำงานแม้รัดกุมรอบคอบแล้วโอกาสผิดพลาดยังมีได้เสมอ

Advertisement

ข้อมูลความรู้อย่างน้อย 2 ด้าน

นอกเหนือจากนั้น สื่อควรแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดคลาดเคลื่อนทางความรู้พื้นฐานทั่วไปให้ตรงความจริงตามหลักฐานวิชาการด้วย หรือต้องรายงานอย่างน้อยทั้ง 2 ด้านควบคู่กัน ว่าทางการบอกอย่างนี้ แต่หลักฐานจริงๆ มีอย่างนั้น เช่น

สงกรานต์เป็นประเพณีในศาสนาพราหมณ์อินเดีย เนื่องในขึ้นราศีเมษ บรรดาราชสำนักโบราณ ต่างรับมาเหมือนกันหมดจากอินเดีย สงกรานต์ 13 เมษายาน จึงไม่ใช่ขึ้นปีใหม่ไทย เพราะหลายประเทศก็มีสงกรานต์ เช่น ลาว, กัมพูชา, พม่า

Advertisement

กรุงสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย, ลอยกระทง ไม่ได้เริ่มมีครั้งแรกสมัยพ่อขุนฯ กรุงสุโขทัย, นางนพมาศ ไม่มีตัวตนจริงสมัยสุโขทัย แต่เป็นชื่อตัวละครเอกในตำนานนิทาน ซึ่งแต่งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ฯลฯ

ถ้าเสนอข้อมูลด้านเดียว ก็เท่ากับสื่อมีส่วนสนับสนุนข้อบกพร่องผิดพลาดทางวิชาความรู้ ดังกรณีประวัติศาสตร์บาดหมางสร้างบาดแผลกับเพื่อนบ้านจนทุกวันนี้ แผลยังไม่หาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image